
ลดดอกเบี้ยฟื้นเศรษฐกิจ
“คุณสู้ เราช่วย” เป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาหนี้สินโครงการหนึ่ง ที่น่าสนใจและน่าลุ้นติดตามในความสำเร็จของโครงการไม่น้อย
“คุณสู้ เราช่วย” เป็นนวัตกรรมแก้ปัญหาหนี้สินโครงการหนึ่ง ที่น่าสนใจและน่าลุ้นติดตามในความสำเร็จของโครงการไม่น้อย
มุ่งแก้ปัญหาให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL ภายในระยะเวลา 1 ปี รวม 2.1 ล้านบัญชี คิดเป็นจำนวนลูกหนี้ 1.9 ล้านราย รวมมูลค่าหนี้จากสินเชื่อบ้าน รถยนต์ และสินเชื่อ SME มูลค่าหนี้รวมประมาณ 8.8 แสนล้านบาท ใช้ปฏิบัติการจ่ายตรง คงทรัพย์…
ผ่อนหนี้ 3 ปี พักดอกเบี้ย นำค่างวดไปตัดเงินต้น ในอัตรา 50-70 และ 90% ของค่าผ่อนงวดปกติ ผ่อนครบ-จ่ายตรง จะตัดดอกเบี้ยที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด
นอกจากนั้นมาตรการจ่าย-ปิด-จบสำหรับหนี้ที่ไม่เกิน 5,000 บาท ให้ลูกหนี้เข้าเจรจาปรับหนี้แบบผ่อนปรน หลังจากนั้น ปิดยอดที่เหลือ สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีได้เร็วขึ้น
รายการนี้ ไม่ได้ใช้ “งบประมาณแผ่นดิน” เข้าไปอุ้ม แต่ใช้เงินแบ่งครึ่ง 0.23% ที่ธนาคารพาณิชย์นำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นประจำอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี “คุณสู้ เราช่วย” ที่เปิดรับสมัครลูกหนี้เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ 12 ธ.ค.ปีก่อน เพิ่งจะได้ลูกหนี้มาสมัครแค่ 7.46 แสนบัญชี ยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่ตั้งเป้าไว้ด้วยซ้ำ ขยายเวลาเป็นสิ้นสุดวันสมัคร 30 เม.ย.ก็หวังจะลุ้นให้ถึงครึ่งหนึ่ง สัก 1 ล้านบัญชีก็ยังดี
แบงก์ทั้งหลายคงต้องเทียวไล้เทียวขื่อ ตามลูกหนี้ของตน มาร่วมโครงการกันเยอะ ๆ แล้วล่ะ
ประเทศไทยเรา กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจติดหล่ม “เติบโตช้า” ไปเสียแล้ว ในรอบ 10 ปีมานี้ (ปี 58-68) เศรษฐกิจเติบโตได้สูงสุดแค่ 4.2% และต่ำสุดในปี 2564 ที่ 1.6% ส่วนปี 2563 ที่โควิดระบาดหนัก เศรษฐกิจติดลบ 6.3%
ในขณะที่ในช่วงเดียวกัน เพื่อนบ้านอาเซียน เช่นเวียดนาม มาเลย์ สิงคโปร์ อินโดฯ ฟิลิปปินส์ เติบโตแต่ละปีในระดับ 4-5-6-7% มาทั้งสิ้น
เมื่อก่อนนั้น ตอนเวียดนามเปิดประเทศ (ราวปี 2530) เคยเปรียบเปรยกันเล่น ๆ ว่า เวียดนามล้าหลังกว่าไทยประมาณ 30 ปี แต่เดี๋ยวนี้เวลาผ่านมาเกือบ 40 ปี ต้องบอกว่า “ความเจริญ มาใกล้เคียงไทยเต็มที่แล้ว”
อะไรที่ทำให้เศรษฐกิจ ขยับขับเคลื่อนได้ ก็จงรีบทำเถอะ อย่ามัวช้า!
ผมมองไปที่สินเชื่อคงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นธ.ค. 67 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 18.16 ล้านล้านบาท พอฟัดพอเหวี่ยงกับมูลค่า GDP เลย และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL อยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.78%
หากหัก NPL 5.5 แสนล้านบาท ออกจากยอดหนี้คงค้างทั้งหมด ก็ยังมีหนี้ดีที่มีการชำระหนี้กันตามปกติถึง 17.61 ล้านล้านบาท
สมมุตินะครับว่า หากลดดอกเบี้ยลง 1% ต้นทุนของผู้ประกอบการก็จะลดลง และกำลังซื้อของ “ลูกหนี้ดี” ก็จะเพิ่มขึ้น รวม ๆ แล้วถึง 1.76 แสนล้านบาท
ยอดเงินจำนวนนี้ ช่วยหมุนเศรษฐกิจได้นะครับ เพราะจะมีตัวขยายให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้อีกอย่างน้อย 2-3 รอบ โดยไม่ต้องเฉือนงบประมาณ หรือคิดโครงการวิลิศมาหราอะไรเลย
ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมแบงก์ชาติไม่ยอมลดดอกเบี้ย ทั้งที่เงินเฟ้อต่ำมาก แค่ 0.4% เอง ตามทฤษฎี มันต้องหาทางกระตุ้นกันแรง ๆ มิใช่หรือ
ทั้งดร.เศรษฐพุฒิ แบงก์ชาติ และคุณดนุชา สภาพัฒน์ฯ ต่างก็ประสานเสียงเดียวกันว่า “ไม่ลด เราต้องเก็บกระสุนเอาไว้”
จึงใคร่ขอถามว่า กระสุนอะไรกันครับ แบงก์ชาติหรือสภาพัฒน์ไปเสาะหามาหรือไร ถึงหวงแหนกันจัง…เลือดเย็น!
ชาญชัย สงวนวงศ์