KTC ยอดใช้จ่ายบัตรเติบโตสูง

KTC โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.สินเชื่อบัตรเครดิต 66.53% 2.สินเชื่อบุคคล (KTC PROUD + พี่เบิ้ม รถแลกเงิน) 31.57%


คุณค่าบริษัท

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC โครงสร้างพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 4/2567 1.สินเชื่อบัตรเครดิต 66.53% 2.สินเชื่อบุคคล (KTC PROUD + พี่เบิ้ม รถแลกเงิน) 31.57% 3.สินเชื่อตามสัญญาเช่าซื้อ 1.90%

KTC รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 มีกำไรสุทธิ 1,888.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.23% จากไตรมาส 4/2566 แต่ลดลง 1.60% จากไตรมาส 3/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 1,919.33 ล้านบาท กำไรสุทธิไตรมาส 4 ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์ แม้มีปัจจัยบวกจากรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่เพิ่มขึ้น 0.7% จากไตรมาส 3/2567 และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่เติบโต 3.7% จากไตรมาส 3/2567 หลังสินเชื่อรวมกลับมาเร่งตัวขึ้น 4.7% จากไตรมาส 3/2567 (สินเชื่อบัตรเครดิตโต 7%, สินเชื่อส่วนบุคคลโต 5.1% จากไตรมาส 3/2567) เพราะเป็นช่วงที่พันธมิตรร้านค้าจัดโปรโมชั่นเพื่อผลักดันยอดขายจำนวนมาก ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและการขอสินเชื่อส่วนบุคคลสูงขึ้น อีกทั้งความต้องการสินเชื่อจำนำทะเบียนเพิ่มขึ้นในช่วงที่ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อใหม่ โดย KTC รายงานยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตปี 2567 เติบโต 10.1% โดยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 เติบโต 10% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 2.4%

ทั้งนี้ ปัจจัยบวกดังกล่าวไม่พอที่จะชดเชยแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น 10.3% จากไตรมาส 3/2567 คิดเป็น Credit Cost ที่เพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาส 3/2567 มาเป็น 6.5% ซึ่งสอดคล้องกับ NPL ที่เพิ่มขึ้นจาก 1.92% ในไตรมาส 3/2567 มาเป็น 1.94% แต่จากการคำนวณของบล.กสิกรไทย พบว่าการก่อตัว NPL ใหม่ไตรมาส 4/2567 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2567 ขณะที่ NPL ratio ของสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 2.46% จาก 2.21% ในไตรมาส 3/2567 แต่ NPL ratio ของสินเชือบัตรเครดิตปรับลดลงเล็กน้อย เหลือ 1.25% จาก 1.30% ในไตรมาส 3/2567 ขณะที่อัตราส่วนเงินสำรองต่อหนี้สูญ (coverage ratio) ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 369% จาก 373% ณ สิ้นไตรมาส 3/2567 ส่งผลให้ทั้งปี 2567 KTC ทำกำไรสุทธิได้ 7,437 ล้านบาท เติบโต 1.9% จากปี 2566

สำหรับมุมมองปี 2568 บล.หยวนต้า คาดว่า KTC จะกลับมาขยายสินเชื่อที่สดใสมากขึ้น โดยหนุนจาก Sentiment การบริโภคในประเทศที่ได้แรงกระตุ้นจากมาตรการของภาครัฐ หนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อการบริโภคทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล บวกกับสินเชื่อจำนำทะเบียนภายใต้แบรนด์ “พี่เบิ้ม” เริ่มปรับรูปแบบการให้บริการ และอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงคู่แข่งมากขึ้น

บล.กรุงศรี คาดกำไรสุทธิปี 2568 ของ KTC จะทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 8,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี 2567 จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรวมและรายได้ค่าธรรมเนียม/บริการ รวมถึงการลดลงของค่าใช้จ่ายสำรอง (credit cost) และระบุว่าชอบหุ้น KTC เพราะ 1.คาดมาตรการของธปท. และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยลดปัญหาการตกชั้นของลูกหนี้ 2.ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาลง 3.มีจุดแข็งเรื่องงบดุล 4.กำไรสุทธิปี 2568 คาดทำจุดสูงสุดใหม่ต่อจากปี 2567

ข้อมูลจาก LSEG Consensus สำหรับ KTC ระบุว่า ประมาณการรายได้รวมปี 2568 ที่ 26,408.53 ล้านบาท และประมาณการกำไรสุทธิปี 2568 ที่ 7,855.91 ล้านบาท โดยมีราคาเป้าหมายเฉลี่ยที่ 47.73 บาท จาก 11 โบรกเกอร์

บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การตั้งสำรองของ KTC คาดจะเริ่มเห็นทิศทางการชะลอตัวลง หลังเร่งตั้งสำรองและเร่งตัดหนี้สูญ (Write-Off) ลูกหนี้เสี่ยงสูงไปมากแล้วในปี 2567 จึงคาดค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญ (Credit Cost) จะลดลงเหลือ 5% จาก 6.1% ในปี 2567 หนุนให้คาดว่าทั้งปี 2568 KTC จะมีกำไรสุทธิ 8,171 ล้านบาท เติบโต 9.9% จากปี 2567

สำหรับการประเมินมูลค่า (Valuation) หุ้น KTC ราคาปัจจุบัน (ราคาปิดวันที่ 18 ก.พ. 2568 ที่ 51.50 บาท) เทรดที่ P/E 17.85 เท่า สูงกว่า P/E กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 15.26 เท่า ส่วนค่า P/BV ของหุ้น KTC อยู่ที่ 3.34 เท่า สูงกว่า P/BV กลุ่มเงินทุนและหลักทรัพย์ที่ 1.30 เท่า

Back to top button