
ดีล M&A จีนกำลังเริ่มฟื้นตัว.!
เริ่มปี 2568 เป็นต้นมาเริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวของดีลควบรวมและซื้อกิจการในประเทศจีน เด่นชัดมากขึ้นหลังจากเผชิญภาวะตกต่ำช่วงหลายปี
เริ่มปี 2568 เป็นต้นมาเริ่มเห็นภาพการฟื้นตัวของดีลควบรวมและซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) ในประเทศจีน เด่นชัดมากขึ้นหลังจากเผชิญภาวะตกต่ำช่วงหลายปี เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน เริ่มเห็นผล พ่วงด้วยแรงกดดันจากมาตรการภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ ผลักดันธุรกรรม M&A หรือการควบรวมบริษัทอีกทางหนึ่งด้วย
ช่วงปี 2567 กิจกรรม M&A ของจีน กำลังอยู่ในเส้นทางการทำสถิติลดลง เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน จนกระทั่งไตรมาส 4/67 เริ่มเห็นการเร่งตัวของกิจกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลจาก Dealogic ระบุว่า มูลค่าข้อตกลงที่ดำเนินการช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้น 78.5% มาอยู่ที่ระดับ 1.29 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงไตรมาส 3/67 และผู้สังเกตการณ์ภาคอุตสาหกรรม ระบุว่า การทำข้อตกลงกำลังจะเพิ่มขึ้นอีก
Vivian Wong หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ M&A ของ ION Analytics ภายใต้กลุ่ม Dealogic ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนข้อตกลงไตรมาส 4/67 ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผู้กำหนดนโยบายของจีน เริ่มนำมาใช้ช่วงปลายเดือนก.ย. 2567 มาตรการดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมกำลังของอุตสาหกรรมทั้งหลายในประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในเศรษฐกิจของจีนที่กำลังชะลอตัว
ปริมาณดีล M&A ของจีน มีแนวโน้มเป็นขาลงตั้งแต่ปี 2563 นอกจากนี้มูลค่ารวมของข้อตกลงบันทึกปี 2567 ต่ำกว่า 5.53 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เคยเกิดขึ้นปี 2563 ประมาณ 45%
Theodore Shou หัวหน้าฝ่ายการลงทุนของ Skybound Capital เป็นผู้จัดการสินทรัพย์ทางเลือก กล่าวว่า สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ที่อ่อนแอในจีนและความรู้สึกเชิงลบที่ตามมา โดยการวางตำแหน่งที่อนุรักษนิยมของบริษัทจีนหลายแห่ง ส่งผลให้ความต้องการการทำธุรกรรมภาคเอกชนลดลง ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
Zhe Yu หุ้นส่วนของสำนักงานกฎหมาย Zhong Lun นครเซี่ยงไฮ้ ผู้ที่ให้การสนับสนุนทางกฎหมายสำหรับดีล M&A และข้อตกลง IPO ต่าง ๆ ในจีน เชื่อว่าปี 2568 จะเห็นกิจกรรมการควบรวมกิจการและการซื้อกิจการที่สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีน
สแตนลีย์ ลาห์ หัวหน้าฝ่ายบริการควบรวมและซื้อกิจการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของดีลอยท์ ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาทางการเงินในจีน ระบุว่า นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลปักกิ่งแล้ว มาตรการกำแพงภาษีศุลกากรทั้งหลาย ก่อนที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จะดำรงตำแหน่งและการบังคับใช้มาตรการในที่สุด เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้บริษัทจีนทั้งหลาย ต้องปรับตัวด้วยการกระจายความเสี่ยงของห่วงโซ่อุปทานให้มีความหลากหลาย และทำให้เชื่อมั่นได้ว่าบริษัทเหล่านี้มีวิธีที่จะทำเช่นนั้นได้
โดยทรัมป์ ลงนามคำสั่งจัดเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้น 10% กับจีน เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2568 โดยคำสั่งดังกล่าวมีผลบังคับใช้วันที่ 4 ก.พ. 2567 ทำให้ภาษีศุลกากรที่รวมกับอัตราภาษีเดิมของสินค้าจีน ที่จัดเก็บในสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ แล้วจะสูงถึง 25%
“การพัฒนาดังกล่าว จะผลักดันให้บริษัทต่าง ๆ ในจีนรวมตัวกัน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้กำลังมองหาเส้นทางเดินเรือทางเลือกไปยังสหรัฐฯ โดยไม่นำจีนเป็นจุดเริ่มต้น รวมถึงพยายามจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในตลาดโลก”
Ringo Choi หัวหน้าฝ่าย IPO ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Ernst & Young ระบุว่า ธุรกรรม M&A ช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น ธนาคารหรือบริษัทหลักทรัพย์ของจีนหลายแห่ง จำเป็นต้องรวมกิจการ และขยายขนาดให้ใหญ่พอเพื่อป้องกันการลดขนาด (downsizing)
นี่คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ว่าด้วย “รวมกันเราอยู่..แยกหมู่เราตาย” นั่นเอง..!!