
พาราสาวะถี
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ช่วงบ่าย จะมีการประชุม กคพ. ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ช่วงบ่าย จะมีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ กคพ. ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน มีวาระสำคัญคือ จะพิจารณาว่ารับหรือไม่รับคดีฮั้วเลือก สว.เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นเมื่อวันศุกร์สุดสัปดาห์ กระทั่งมาถึงวันจันทร์ มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นำทีมแถลงแสดงความกังขา กล่าวหา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ทำผิดกฎหมาย อ้างเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ กกต.
ออกอาการร้อนรนผิดปกติ ทั้งที่หากเชื่อมั่นในกระบวนการไม่ว่าองค์กรไหน หรือใครที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบก็ควรจะปล่อยให้ทุกอย่างได้ดำเนินการไป หากบทสรุปแล้วไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็มีสิทธิ์ที่จะโต้แย้ง หรือดำเนินคดีตามกฎหมายได้ ยิ่งประเด็นที่นักข่าวถามกรณีดีเอสไอระบุว่าโพยฮั้วเลือก สว.ตรงกันถึง 138 คน จาก 140 คน มีมูลพอที่จะตรวจสอบหรือไม่ ทำเอาคณะแถลงช็อตไมค์กันชั่วครู่ ก่อนที่ประธานวุฒิสภาจะโยนให้ บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภาฯ ตอบแบบสั้น ๆ ว่า เป็นหน้าที่ของ กกต.ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
เท่านี้เป็นการตอกย้ำเรื่องออกอาการกันอย่างเห็นได้ชัด เรื่องที่ว่ามีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น บิ๊กอ้วนยืนยัน ไม่ได้เอาเรื่องการเมืองมากลั่นแกล้งกัน ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย เป็นไปตามข้อเท็จจริง อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องการเมือง ตนยืนยันในฐานะประธาน กคพ. เรียกประชุมไปตามข้อเสนอที่มีเหตุและผล เพราะดีเอสไอเห็นว่ามีปัญหา ในฐานะประธานเมื่อมีคนมาเสนอว่ามีปัญหาในทางกฎหมาย ไม่รับไม่เรียกประชุมก็คงไม่ได้
หากมีสติ ไม่แสดงออกจนเกินงาม ควรต้องเข้าใจว่า กระบวนการในการพิจารณานั้น หากผลการสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอ พร้อมพยาน หลักฐานที่ส่งให้ กคพ.พิจารณา ไม่มีความชัดเจน ที่ประชุมคงไม่สามารถรับเป็นคดีพิเศษได้ มากไปกว่านั้นแม้ว่าจะมีการรับเป็นคดีพิเศษไปแล้ว แต่ตามขั้นตอนทั้งผู้ถูกร้องและฝ่ายที่ร้องก็มีสิทธิที่จะไปต่อสู้ ชี้แจงความถูกต้อง โปร่งใสกันได้ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นการที่ที่ประชุมจะรับเป็นคดีพิเศษได้ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการคดีพิเศษ
ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของข้อกฎหมายทั้งสิ้น สภาสูงที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ตรวจสอบ กลั่นกรองการออกกฎหมาย รวมไปถึงตรวจสอบคุณสมบัติ ยกมือตั้งบุคคล คณะบุคคลในองค์กรสำคัญต่าง ๆ น่าจะเข้าใจ และไม่ควรแสดงท่าทีเช่นนี้ ยิ่งเคลื่อนไหวมากเท่าไหร่ไม่ได้ทำให้ประชาชนรู้สึกสงสาร หรือมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ยิ่งทำให้เกิดความสงสัย เคลือบแคลง และต้องการอยากให้มีการพิสูจน์ให้ชัดเจน ไม่ต้องถามต่อว่า ประชาชนไม่เชื่อมั่นในการทำงานของ กกต.อย่างนั้นหรือ
ทั้งหมดยึดเอาตัวบทกฎหมายเป็นหลัก หากคิดว่าดีเอสไอไม่ต้องยุ่งก็ต้องชี้แจงแถลงข่าวให้ชัดเจน พร้อมที่จะตอบคำถามนักข่าวทุกเรื่อง ไม่ใช่ใช้วิธีการออกเป็นเอกสารข่าว ใช้วิธีการสื่อสารทางเดียวอันคร่ำครึ ถ้าพร้อมรับเผือกร้อนไว้พิจารณาแล้ว ก็ต้องมีเงื่อนเวลาที่สามารถจะบอกกล่าวกับสังคมได้ด้วยว่า ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดทุกอย่างจึงจะกระจ่างชัด เล่นบทลอยชายจนถูกมองว่าลอยตัวแบบที่ผ่านมาไม่ได้ ศรัทธา ความน่าเชื่อถือที่เสื่อมทรุดอยู่แล้ว มันจะไม่เหลือแม้แต่นิดเดียว
แน่นอนว่า หากซาวด์เสียงของคนค้านหรือสนับสนุนให้ดีเอสไอตรวจสอบปมฮั้วเลือก สว. ฝ่ายหนุนย่อมมีมากกว่า จะเห็นได้ว่าทั้ง สว.เสียงข้างน้อย อดีต สว. รวมทั้งบรรดานักร้องหลายรายก็เรียกร้องให้ดำเนินการ ล่าสุด ณฐพร โตประยูร อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่แปรสภาพเป็นนักร้องที่มีผลงานในหลายเรื่อง ระบุว่า มีคลิปหลักฐานการกระทำผิดที่สามารถสาวไปถึงพรรคการเมืองที่อยู่เบื้องหลังของการฮั้วดังกล่าวได้ โดยหลังจากนี้เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้การเลือก สว.เป็นโมฆะ
แม้ว่าก่อนหน้านั้นเคยยื่นมาแล้วศาลยกคำร้องเพราะเป็นการร้องผิดมาตรา ตอนนี้ได้บทสรุปแล้วว่าจะต้องมาตราไหน ซึ่งคาดว่าจะยื่นได้ไม่เกินวันที่ 10 มีนาคมนี้ โดยเป็นการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาล ทั้งนี้ คงไม่เฉพาะณฐพรที่มองแบบนี้ คนส่วนใหญ่เห็นเหมือนกันว่า สว.เป็นองค์กรนิติบัญญัติที่มีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระ ดังนั้น คนที่จะเข้าไปทำหน้าที่ต้องได้คนที่ซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ และผ่านการเลือกโดยสุจริตยุติธรรม ดังนั้น การตรวจสอบทุกมิติจึงเป็นเรื่องที่ควรยินดีเพื่อชี้ให้คนได้เห็นตรงกันว่า การเลือก สว.ที่ผ่านมา ไม่ได้ทุจริตอย่างที่ถูกกล่าวหา
เป็นธรรมดา และธรรมชาติของการเมืองประเภทไก่เห็นตีนงู ไม่มีใครเหนือกว่าใคร ประเภทชิงไหวชิงพริบ คิดว่าตัวเองมีแต้มต่อ กุมความได้เปรียบในเชิงอำนาจต่อรอง เพราะความจริงการพลิกเกมหรือแง่มุมในการใช้อำนาจ และกระบวนการทางกฎหมายนั้นมันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเหลี่ยมคูใครจะดีกว่ากัน ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่เวลานี้ ย้ำมาตลอดภายใต้โจทย์ภาคบังคับต่อไม่มีทางที่ใครคนใดคนหนึ่งจะสามารถชี้นิ้วบงการ สั่งการได้ทุกเรื่อง
ความขัดแย้งจนแตกแยก หรือถึงขั้นถอนตัวร่วมรัฐบาลไม่มีวันเกิดขึ้นเด็ดขาด เพราะเท่ากับฆ่าตัวตายกันทุกฝ่ายที่จับมือ จึงไม่แปลกที่ อนุทิน ชาญวีรกูล จะพูดถึงข่าวการหันไปจับมือกับพรรคประชาชนตั้งรัฐบาลว่า ทุกทฤษฎี ใครจะพูดอะไรพูดได้หมด แต่ถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลตอนนี้ทุกพรรคมีใครไม่ทำตามนโยบายรัฐบาลบ้าง ต้องดูเหตุผลด้วย ไม่ใช่ว่าไปผูกโยงเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามา และพยายามมองว่าเป็นความขัดแย้ง ถึงตรงนี้ ยังไม่มีความขัดแย้งอะไรถึงขนาดที่ต้องเคลียร์กัน
อย่างไรก็ตาม เกิดกระแสข่าวว่าเสี่ยหนูจะจูงมือ เนวิน ชิดชอบ กุนซือพรรคภูมิใจไทยเคลียร์ใจกับ ทักษิณ ชินวัตร อีกกระทอก หนนี้มีแพทองธารร่วมด้วย ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ รางน้ำ เป็นการคุยกันหนึ่งวันก่อนที่พรรคร่วมรัฐบาลนัดกินข้าวเย็นกันในวันรุ่งขึ้น ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น แต่หากพิจารณาจากสิ่งที่เคยบอกไว้ทั้งท่านผู้นำและพ่อนายกฯ กำลังสนุกกับการทำงาน และเชื่อมั่นว่าทุกอย่างที่ทำไปจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ นั่นจึงไม่มีปัจจัยไหนที่จะทำให้รัฐบาลล่มสลายก่อนเวลาอันควรได้
อรชุน