
พาราสาวะถี
ไม่ถือว่าล่าช้าจนไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เมื่อวิป 3 ฝ่ายนัดถกกันอีกกระทอก 9 โมงครึ่งวันพุธนี้ (19 มีนาคม)
ไม่ถือว่าล่าช้าจนไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เมื่อวิป 3 ฝ่ายนัดถกกันอีกกระทอก 9 โมงครึ่งวันพุธนี้ (19 มีนาคม) หลังจากที่การประชุมกันเมื่อช่วงเย็นวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา “ล้มเหลว” แม้ว่าฝ่ายค้านจะยอมถอดชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ออกจากญัตติแล้ว แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องได้เวลาซักฟอก 30 ชั่วโมง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการให้อภิปรายในกรอบ 30 ชั่วโมง โดยเป็นฝ่ายค้าน 20 ชั่วโมง รัฐบาล 10 ชั่วโมง อภิปราย 2 วัน ลงมติ 1 วัน
เป็นธรรมดาของเกมการต่อรอง เมื่อไม่ยอมลดราวาศอกก็ต้องยืดเยื้อ ถ้าเป็นไปตามเงื่อนเวลานี้โดยในการประชุมตกลงกันได้ ศึกซักฟอกก็ไม่มีปัญหายังอยู่ในกรอบที่ทางทีมงาน วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการสภาฯ ยืนยันว่า ถ้าสามารถแก้ไขญัตติและส่งทันก่อนวันที่ 20 มีนาคมนี้ ก็สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ก่อนที่สภาจะปิดสมัยประชุมในวันที่ 10 เมษายน ขึ้นอยู่กับว่าจะคุยกันลงตัวหรือไม่
แม้จะไม่ได้เห็นภาพหรือรับรู้บรรยากาศในห้องประชุมของวิป 3 ฝ่าย แต่พอจะคาดเดาได้ถึงความต่างเรื่องชั้นเชิงในการเจรจาระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ฟัง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านให้สัมภาษณ์นักข่าว ยังเต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ทำให้อีกฝ่ายอาจไม่ไว้ใจได้ ทั้งเวลาในการอภิปราย และคำที่ใช้จะแทนชื่อทักษิณในญัตติ มีการบอกด้วยว่าถือเป็นไพ่ใบสุดท้ายที่จะใช้ในวงเจรจา หากยังเล่นแง่อยู่แบบนี้ไม่แน่ใจว่าสุดท้ายจะได้บทสรุปที่ดีร่วมกันหรือไม่
ขณะที่ฟาก วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล โชว์ความเก๋าของผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ชี้แจงเหตุที่ยังเคาะกันไม่ได้ เพราะให้ตัวแทนแต่ละพรรคกลับไปหารือพูดคุยกันในพรรคของตัวเองมาก่อนว่าจะอภิปรายกี่ชั่วโมงถึงจะเหมาะสม ไม่ต้องมาตั้งป้อมใส่กัน เมื่อทุกคนกลับไปคิดแล้วก็ให้มาบอก ให้มีสติใจเย็น ๆ ก่อน แล้วค่อยกลับมาคุยกัน ถ้าทุกคนบอกว่าต้องได้เท่านั้นเท่านี้ก็เจรจาไม่สำเร็จ ควรลดราวาศอกกัน ถอยคนละก้าว แล้วค่อยมาว่ากัน ถ้าลดไม่ได้ก็ไม่ยอมกัน
พอจะเข้าใจได้เมื่ออีกฝ่ายมองว่าตัวเองเก่งในการเล่นกับกระแส พยายามสร้างประเด็นเพื่อให้สังคมเห็นว่าฟากกุมอำนาจเล่นแง่ ยอมแก้ญัตติ ยอมถอยแล้วแต่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมงอ ด้วยเหตุนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล จึงเตือนไปยังฝ่ายค้านเชิงตั้งคำถามว่า ความพยายามใช้กระแสสังคมมากดดันรัฐบาลให้ทำตามข้อเรียกร้องนั้น ใช้วิธีดังว่าในอดีตเคยประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ ตนอยากให้นักข่าวช่วยบอกหน่อย มันไม่มี ต้องใช้เหตุใช้ผล ทำงานด้วยกันในสภาฯ มีเหตุมีผลก็ฟังกัน
ความจริงแล้วเรื่องระยะเวลาในการอภิปรายนั้น ถ้ามองเป็นกระพี้ก็อาจจะใช่ เพราะมันไม่ใช่สาระสำคัญของการซักฟอก ต่อให้ซักฟอกเป็นเดือนแต่ไร้ข้อมูลเด็ด ไม่มีพยาน หลักฐานชี้ให้เห็นความผิดพลาด หรือการทำงานที่บกพร่องของรัฐบาลได้ ก็ไม่มีประโยชน์ ในทางกลับกันอภิปรายแค่ไม่กี่ชั่วโมงหรือครึ่งค่อนวัน แต่หลักฐานเด็ดใบเสร็จครบ ก็สามารถที่จะสร้างความสั่นคลอนให้กับรัฐบาลได้ ที่ฟุ้งกันว่าจะสะเทือนจนถึงยุบสภา ต้องอาศัยข้อเท็จจริงเป็นหลักไม่ใช่ว่าจะต้องได้อภิปรายกันกี่วัน
จริงอย่างที่เสี่ยหนูว่า ฝ่ายอภิปรายอยากได้ 30 ชั่วโมง แต่จะให้รัฐบาลแค่ 2 ชั่วโมงแบบนี้คงไม่ไหว อย่ากังวลเรื่องเวลา ยิ่งให้รัฐบาลมีเวลาชี้แจง จะสามารถนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนฟังได้ โดยเฉพาะกับ แพทองธาร ชินวัตร ในฐานะที่เป็นผู้ที่ถูกอภิปรายอยู่คนเดียว คงไม่ใช้เวลามากมายอะไร ความจริงควรต้องให้อิสระในการชี้แจงเสียด้วยซ้ำไป หากข้อกล่าวหามีมากอย่างที่เปิดประเด็นกันมา แต่นายกฯ ไม่น่าจะใช้เวลานานขนาดนั้น
การเมืองประเภทเอาแต่ได้ ดีอยู่ฝ่ายเดียวมีให้เห็นมาแล้วในอดีต สุดท้ายก็ต้องตกเป็นฝ่ายค้านดักดานเกือบ 20 ปี กรณีการซักฟอกแพทองธารฝ่ายค้านคงลืมหรือต้องการเอามัน ที่มองด้านเดียวว่าสิ่งที่ตัวเองจะพูดและซักฟอก นายกฯ มีหน้าที่ต้องตอบและให้ตรงกับที่ฝ่ายค้านสงสัย ทั้งที่ความจริง ไม่ว่าจะอุ๊งอิ๊งหรือรัฐมนตรีที่ถูกพาดพิง ก็จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงในสิ่งที่ฝ่ายค้านกังขาให้ประชาชนทั้งประเทศได้เข้าใจด้วย เรื่องเวลาถ้าจะอ้างกันจึงไม่ใช่แค่ว่าฝ่ายค้านต้องได้มากกว่า และเป็นที่พอใจของตัวเองเพียงอย่างเดียว
พวกประเภทสุดโต่งคงไม่ต้องให้ใครไปแนะนำ ยังไงก็หัวชนฝาอยู่แล้ว ถึงขนาดที่ตกลงกันไม่ได้จนไม่สามารถซักฟอกได้ทันสมัยประชุม ก็มีโอกาสเป็นไปได้ อยู่ที่ว่าพรรคแกนนำฝ่ายค้านต้องการจะให้เป็นไปในรูปแบบไหน แต่อย่าลืมว่าหนนี้คนบ้านในป่าอุตส่าห์จะถ่อสังขารใช้ใจบันดาลแรงอีกรอบ ขอถลกหนังนายกฯ หญิงแบบแมน ๆ ถ้าไม่ได้พูดจะทำให้เสียความตั้งใจไปกันใหญ่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถ้าต้องให้รอนานไปกว่านี้ยังจะมีไฟเหมือนกับที่อยาก (อภิปราย) อยู่ตอนนี้หรือไม่
สถานการณ์การเมืองไม่ว่าจะพลิกคว่ำพลิกหงายกันอย่างไร ปลายทางก็ต้องวกกลับมายืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร เหมือนตอนยึดอำนาจของเผด็จการ คสช.กับความตั้งใจขจัดระบอบทักษิณให้หมดไป บอนไซทำลายพรรคในเครือข่ายไม่ให้ได้ผุดได้เกิด ถึงขนาดที่ว่ามีวลีทอง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา แต่กลายเป็นว่ากดหัวอีกพวก กลับเกิดอีกฝ่ายขึ้นมาซึ่งท้าทายและหนักข้อกว่าสิ่งที่ต้องการจะกำจัดทิ้งไปเสียอีก ทำให้พวกอนุรักษนิยมสุดโต่งไปกันไม่เป็น จนต้องหันไปใช้บริการคนที่เคยเกลียดให้มาจับมือกับพวกตัวเองด้วยการใช้ประเด็นก้าวข้ามความขัดแย้งมาเป็นตัวเชื่อม
ดังนั้น การเมืองจึงไม่ใช่เป็นเรื่องพวกเขาพวกเรา แต่เป็นเรื่องการเคลียร์ผลประโยชน์ให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของผู้มีอำนาจที่แท้จริง ก่อนหน้าอาจเป็นเรื่องการจัดสรรกันโดยกลุ่มก้อนทางการเมืองที่กุมเสียงข้างมากในสภา หรือฝ่ายที่ยึดอำนาจการบริหารประเทศได้ แต่หลังการอยู่ยาวของเผด็จการ คสช.สืบทอดอำนาจ ทำให้เห็นไม่ว่าจะรูปแบบไหนความสามานย์ก็ไม่ต่างกัน วันนี้โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ทำอย่างไรจะให้การเมืองดูเลวน้อยลง โดยที่คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประเภทจะเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินไม่มีทางเกิดขึ้นได้ นั่นจึงอธิบายได้ว่าทำไมรัฐบาลผสมดูเหมือนมีข่าวขัดแย้งแต่ยังคงรักกันดี
อรชุน