
‘ทรัมป์’ ทำให้หุ้นจีน Great Again
ท่ามกลาง “สงครามการค้า” ที่ขยายวงกว้าง จากนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ปลุกเร้าความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ท่ามกลาง “สงครามการค้า” ที่ขยายวงกว้าง จากนโยบายประธานาธิบดีสหรัฐฯ “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ปลุกเร้าความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้บรรดานักลงทุนทั่วโลกได้พบ “แหล่งหลบภัยแห่งใหม่” ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
นั่นคือ “ตลาดหุ้นจีน”
ดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng) ที่เป็นดัชนีหุ้นอ้างอิงของตลาดหุ้นฮ่องกง ที่มีบริษัทจีนรายใหญ่สำคัญ ๆ หลายแห่งเข้ามาจดทะเบียน ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 17% นับตั้งแต่ “ทรัมป์” เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อเดือนวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา
ตรงกันข้ามกับการปรับลง 9% ของดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าตลาดหดหายอย่างรวดเร็วมากถึง 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา
การประกาศมาตรการต่าง ๆ ที่ไม่แน่นอนของ “ทรัมป์” เกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากร และการปรับลดการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ท้าทายสมมติฐานหลายอย่างเกี่ยวกับความน่าดึงดูดใจของหุ้นสหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นทั่วโลกโดยส่วนใหญ่นับตั้งแต่ปี 2564 เป็นอย่างมาก
Andy Wong ผู้บริหารระดับสูงบริษัทจัดการลงทุน Pictet Asset Management ในฮ่องกง กล่าวว่า บรรดานักลงทุนทั้งหลายได้เปลี่ยนความเชื่อใน TINA หมายถึงไม่มีทางเลือกลงทุนอื่นนอกจากสินทรัพย์ของสหรัฐฯ มาเป็น TIARA หมายถึงมีทางเลือกลงทุนอื่นอย่างแท้จริง
การปรับขึ้นของ “ราคาหุ้นจีน” ส่วนใหญ่นำโดยหุ้นเทคโนโลยี ที่เพิ่มขึ้นถึง 29% แตะระดับสูงสุดรอบกว่า 3 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เช่นเดียวกับหลาย ๆ หุ้นใหม่ของจีนที่อยู่ในภาวะกระทิง (เป็นขาขึ้น) จึงเห็นโอกาสมากมายในหุ้นเทคโนโลยี, การทหารและหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค
เหตุผลหลักสำคัญประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดมุมมองเชิงบวกคือหุ้นจีนทั้งหลายนั้นมีราคาถูก ซื้อขายต่ำกว่าจุดสูงสุดปี 2564 มากถึง 30% “ดัชนีฮั่งเส็ง” มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ช่วงคาดการณ์อีก 12 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 7 เท่า เมื่อเทียบกับ P/E 20 เท่าของดัชนี S&P 500 ของหุ้นสหรัฐฯ ตามข้อมูลของ LSEG
แน่นอนว่าหุ้นจีนซื้อขายในราคาถูกด้วยเหตุผลบางประการ นักลงทุนจำนวนมากได้รับผลกระทบหลังจากรัฐบาลจีนปราบปรามหุ้นเทคโนโลยี ช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด และมีความกังวลอยู่มากเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ และเศรษฐกิจจีน โดยความกังวลต่าง ๆ เกี่ยวกับการรวมศูนย์อำนาจในทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ทวีความรุนแรงมากขึ้น ในกรุงปักกิ่ง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงนั้นไม่ได้มีฝ่ายต่อต้าน หรือศัตรูทางการเมืองที่จริงจังยกเว้นเพียงสหรัฐฯ
แต่นักลงทุนทั้งหลาย ต่างมองเห็นโอกาสการปรับตัวขึ้นอีกมาก หลังจากหุ้นเทคโนโลยีของจีน หลายบริษัทพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก หลังจาก DeepSeek บริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI เปิดตัวโมเดลการใช้เหตุผลตัวใหม่ที่ชื่อ R1 อย่างโดดเด่น
อีกทั้งแนวโน้มของมาตรการกระตุ้นทางการคลังของรัฐบาลจีน ที่อาจช่วยกระตุ้นการบริโภค เป็นอุปสรรคฉุดรั้งต่อเศรษฐกิจจีนมาอย่างยาวนาน ถือเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่สำคัญ แม้ว่าความสนใจในหุ้นจีนจากทั่วโลกบางส่วนจะกลับมาอีกครั้ง สวนทางกับความสนใจหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว แต่บรรดานักลงลงทุน กำลังย้ายการลงทุนออกจากตลาดเกาหลีใต้และอินเดีย ที่กำลังต่อสู้ดิ้นรนเช่นกัน
จึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่า “สงครามการค้า” ที่เปิดฉากโดยประธานาธิบดีทรัมป์ กับมาตรการภาษีศุลกากรอันแข็งกร้าว ที่บังคับใช้กับแคนาดา, เม็กซิโก, จีน, สหภาพยุโรป (EU), อังกฤษ และมีทีท่าว่าจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยแคนาดาและ EU ตอบโต้ด้วยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสวนกลับสหรัฐฯ อย่างทันควัน
รวมทั้งจีนโต้กลับสหรัฐฯ ด้วยการออกมาตรการควบคุมการส่งออกแร่หายาก (Rare Earth Elements) ที่สหรัฐฯ พึ่งพาในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเพิ่มชื่อบริษัทสหรัฐฯ 2 ราย (PVH Group และ Illumina) เข้าสู่บัญชี “หน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ” ห้ามทำการค้ากับจีน
ที่สำคัญต้องติดตามต่อว่าที่สุดแล้ว “สงครามการค้า” ยุคทรัมป์ 2.0 จะจบลงเมื่อใด จะเกิดบาดแผลทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากแค่ไหน ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ยังหวังและเชื่อมั่นว่าสงครามการค้าครั้งนี้ จะจบลงโดยทุกฝ่ายยอมประนีประนอม ยอมรับข้อตกลงบางอย่างเพื่อแลกกับการหยุดตั้งกำแพงภาษี ที่อาจทำร้ายทั้งชาวอเมริกันเอง ที่ต้องจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อซื้อสินค้านำเข้า และประเทศต่าง ๆ ที่ขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน
“ตลาดหุ้นจีน” ที่โดดเด่นอันเนื่องจากนักลงทุนมองเป็นแหล่งหลบภัยจาก valuation ที่ถูก ทำให้กลับทำผลงานได้โดดเด่น สวนทางกับแรงขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อันหนักหน่วงระยะนี้ อาจเป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่ระยะยาว ต้องติดตามมาตรการและนโยบายพลิกฟื้นเพื่อกอบกู้เศรษฐกิจจีนของผู้นำ “สี จิ้นผิง” และทีมงานกันต่อไป