ใครจะอึดกว่ากันขี่พายุ ทะลุฟ้า
ผมชักจะรู้สึกทะแม่งๆ อยู่ว่า แม่ทัพเศรษฐกิจคนใหม่ คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ชักจะหมดมุกในการออกมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ๆ ไปทุกทีแล้ว
ชาญชัย สงวนวงศ์
ผมชักจะรู้สึกทะแม่งๆ อยู่ว่า แม่ทัพเศรษฐกิจคนใหม่ คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ชักจะหมดมุกในการออกมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจใหม่ๆ ไปทุกทีแล้ว
ขยันออกข่าวจะทำโน่นทำนี่อยู่ก็จริง แต่เมื่อเจาะเนื้อในลงไปกลับโหวงเหวง จับต้องอะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้เอาเสียเลย
เดี๋ยวก็กองทุนกระจายเงินสู่ฐานรากหมู่บ้านละ2 แสนบาท เดี๋ยวก็กองทุนสตาร์ท-อัพ ซึ่งเป็นธุรกิจแนวใหม่ที่มีนวัตกรรม และเร็วๆ นี้ก็เตรียมจะนำเสนอกองทุนประชารัฐ 3.5 หมื่นล้านบาทอีกแล้วครับท่าน
อันที่จริงอ่ะนะ…ผมว่าไม่ต้องคิดอะไรให้มากความ เร่งเดินไปตามแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งรัฐบาลเก่าริเริ่มและรัฐบาลนี้ก็ชมชอบ ป่านนี้ก็คงจะได้เห็นเศรษฐกิจเงยหัวขึ้นมาได้บ้างแล้ว
แต่นี่ก็ดันแต่มัวเงื้อง่าราคาแพง การปลดล็อกความซบเซาทางเศรษฐกิจต่างๆ จึงเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ไม่มีความคืบหน้าไปถึงไหน
รัฐบาลนี้ โชคดีอยู่มาก ที่กระแสสังคมไว้วางใจว่าจะไม่โกงกิน อุปสรรคขัดขวางจากองค์กรอิสระทั้งหลายก็ไม่มี จึงเหลืออยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแหละว่า ทำงานเป็นหรือไม่
ผมไม่เห็นเหตุผลเลยจริงๆ ว่า ทำไมแผนงานลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศ ถึงไม่มีความคืบหน้า
การแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทยต่อจากนี้ ยิ่งจะยากเข้าไปใหญ่ หากบ้านเมืองไม่มีการเลือกตั้ง!
ถึงเรามีทูตประจำอยู่ในประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งในยุโรปและอเมริกาก็เถอะ แต่เชื่อไหมว่า ทูตเหล่านั้น ไม่อาจจะทำหน้าที่เจรจาทางเทคนิค เช่นปัญหาจีเอสพีหรือข้อพิพาททางการค้าใดๆ ได้
เพราะเขาไม่รับเจรจากับประเทศที่มีระบอบการปกครองแตกต่างจากเขา
ก็อาจจะมีคำพูดปลอบประโลมใจกันบ้างว่า ประเทศในประชาคมยุโรป-อเมริกา ยังให้การต้อนรับผู้นำไทยเป็นอันดี เห็นออกข่าวกันอยู่โครมๆ
แต่นั่นมันก็เป็นการประชุมทางพหุภาคี เช่น อาเซียนพลัสอเมริกา หรือเอเปคอะไรประเภทนั้นนะ การเชื้อเชิญไปเจรจาหรือเยี่ยมเยือนแบบทวิภาคีน่ะ คงไม่มีเสียหรอก
รัฐมนตรีหลายคนที่เดินทางไปในยุโรป ก็ไม่ได้รับการรับรองเป็นแขกของรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีการพบปะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับล่างลงมาบ้าง ก็เป็นการพบปะพูดคุยกันอยู่แต่ในโรงแรมเท่านั้น
มีเลือกตั้งได้เร็วเท่าไร ก็จะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและแก้ปัญหาทางด้านกิจการต่างประเทศเร็วเท่านั้น
ปัญหาก็อยู่ที่ว่าจะมีเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ วันเลือกตั้งจะเป็นไปตามโรดแมปของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือภายในเดือนกรกฎาคมปี 2560 ได้ไหม
มันก็ไปติดเงื่อนไขอีกเงื่อนหนึ่ง นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่
หนนี้ คงยากหน่อย ที่จะให้ประชาชนรับรองประชามติโดยง่ายเหมือนครั้งที่แล้วในปี 2550 เพราะครั้งนั้น ผู้มีอำนาจบอกว่าให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ไปก่อน ค่อยแก้ไขในภายหลัง
ซึ่งแก้ไขได้ง่ายดายนิดเดียว จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการภิวัตน์คนดังว่าไว้อย่างนั้น
แต่การแก้รัฐธรรมนูญต่อมา กลับไม่ง่ายดายเช่นนั้น มีการต่อต้านกันทั้งในสภาและนอกสภา ส.ส.ผู้มีส่วนยกมือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเฉียดคุกเฉียดตารางหรือถูกประหารชีวิตทางการเมืองไปตามๆ กัน
คงจะใช้แม่ไม้ “รับไปก่อน ค่อยแก้ภายหลัง” ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
เนื้อหาในรัฐธรรมนูญ 50 ว่าโหดแล้ว แต่เนื้อหาในร่างปี 59 กลับดูจะโหดหนักเสียกว่า
รัฐบาล ไม่สามารถจะบริหารงานได้เลย เพราะมีองค์กรอิสระรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ คอยชี้นำและทัดทานยุ่บยั่บไปหมด
มาตรฐานศาลรัฐธรรมนูญก็อย่างที่เคยรู้เช่นเห็นชาติกันมาแล้ว ตัดสินกันด้วยพจนานุกรรมบ้าง หรือด้วยเกณฑ์วัดถนนลูกรังบ้าง
แล้วยังจะมาเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่มากมายกว่าเก่าอีก ประชาชนกระทั่งพรรคการเมือง คงไม่ยอมอะไรง่ายๆ กันอีกต่อไปแล้ว
คงไม่รู้ว่าจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไหร่ และใครจะอึดกว่ากัน ระหว่างประชาชนกับผู้ปกครอง