พาราสาวะถี

หลังแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาฟเตอร์ช็อกไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนที่เป็นภัยธรรมชาติเท่านั้น หากแต่ยังกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล


หลังแผ่นดินไหวรุนแรงในเมียนมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา อาฟเตอร์ช็อกไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในส่วนที่เป็นภัยธรรมชาติเท่านั้น หากแต่ยังกระทบต่อความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยเฉพาะผู้ที่พักอาศัยและทำงานในอาคารสูงต่าง ๆ เหมือนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์ผ่านไปไม่ถึง 3 วัน สถานที่หลายแห่งต้องสั่งอพยพผู้คนออกจากตัวอาคาร เนื่องจากมีการพบการสั่นไหวของอาคาร และรอยปริแยก แตกร้าวในบางจุด

ที่น่าสนใจคือ กรณีของอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อาคาร A ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ที่ตามรายงานข่าวระบุว่ามีผู้ได้ยินเสียงดังสนั่น และเห็นรอยแยกของตึก ทำให้ต้องอพยพคนออกจากอาคารโดยด่วน สุดท้ายกลายเป็นการเข้าใจผิดของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์ราชการฯ ดังกล่าว เนื่องจากพบรอยร้าวจากของเดิมจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อศุกร์ และได้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่อาคารตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของอาคารจึงได้กดสัญญาณแจ้งอพยพ โดยที่ไม่มีเหตุอาคารสั่นสะเทือน และรอยร้าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายตึกที่มีการประกาศให้คนทำงานออกจากตัวอาคารด้วยเหตุเกิดการสั่นของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน สำนักงานศาลยุติธรรม ถนนรัชดาภิเษก ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้ แพทองธาร ชินวัตร ต้องให้สัมภาษณ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดในเมียนมาไม่ส่งผลกระทบกับไทย โดยได้สั่งให้ผู้รับผิดชอบตึกทุกตึกตรวจสอบว่าลิฟต์เสียหรือไม่ ตึกมีรอยกะเทาะ หรืออะไรที่กระทบกับการใช้งานของตึกหรือไม่

ขณะเดียวกัน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ได้เตือนประชาชนในเมืองหลวงขอให้มีสติ อย่าตื่นตระหนก เข้าใจได้ว่าหลังจากเหตุการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาหลายคนยังคงกลัวอยู่ แต่อาฟเตอร์ช็อกที่เกิดขึ้นส่งผลกับประเทศไทยน้อยมากและมีขนาดเล็กมาก ซึ่งตามหลักแล้วไม่รู้สึกเลย นอกจากนั้น ยังยืนยันในฐานะผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรมด้วยว่า ตึกที่ผ่านแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์มาได้ น้ำหนักของคนที่ขึ้นไปน้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำหนักของโครงสร้าง ตอนนี้น้ำหนักที่ตึกแบกอยู่คือตัวมันเอง ถ้าแบกตัวเองได้โอกาสพังทลายแทบไม่มี

ส่วนประเด็นเกี่ยวกับการสั่นไหวของตัวตึกต่าง ๆ นั้น ผู้ว่าฯ กทม.ก็ยืนยันด้วยว่า อาคารทุกอาคารมีการขยับเขยื้อนอยู่แล้วเมื่อมีแรงลมหรือแรงอื่นกระทำ ขอย้ำว่าต้องตั้งสติให้ดี อย่ากังวลเกินเหตุ อีกประการที่น่าจะทำให้บรรดาวิศวกรทั้งของส่วนราชการและโครงการทั้งหลายงานหนักเพิ่มขึ้น คงเป็นปัญหารอยร้าวของอาคารหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว พบว่ามีการแจ้งเคสเข้าไปยัง กทม.แล้วกว่า 12,000 กรณี ซึ่งก็มีการพิจารณาจากรูปแล้วประเมินว่า เป็นสีเขียว คือเป็นรอยร้าวที่ไม่อันตราย เข้าอยู่อาศัยได้ 9,000 กว่าราย

สำหรับกรณีรอยร้าวที่ประเมินเป็นสีเหลืองมีประมาณ 465 กรณี โดยเจ้าหน้าที่ของ กทม.ไปตรวจแล้ว 300 กรณีไม่มีปัญหาแจ้งให้เป็นสีเขียวแล้ว อันนี้ถือว่าเป็นการทำงานที่รวดเร็วของเจ้าหน้าที่ กทม.เพื่อสร้างความสบายใจให้กับคนกรุงเทพฯ ยังไม่นับรวมที่พักอาศัยในความดูแลของเอกชนที่ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดมิเนียม ซึ่งตามโซเซียลมีเดียมีการโพสต์ภาพกันอุตลุดนั้น ต้องรวบรวมข้อมูลแล้วสรุปร่วมกันว่า พบกรณีที่เป็นอันตราย หรือเคสสีเขียวมากน้อยขนาดไหน

ตรงนี้คงไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ หรือเพื่อความปลอดภัยของผู้พักอาศัยเท่านั้น หากแต่จะเป็นการยืนยันถึงมาตรฐาน ความปลอดภัยของผู้ประกอบการเอง ผลกระทบที่จะตามมาหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ หากยึดเอาตามความตื่นตระหนก วิตกกังวลของประชาชน ย่อมจะส่งผลถึงความเชื่อมั่นในแง่ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียม อาคารสูง ทั้งหมดเชื่อว่าจะต้องมีมาตรการเพื่อเรียกความเชื่อมั่น ที่จะทำโดยภาคเอกชนด้วยกันเองหรือจับมือกับรัฐบาลก็ตาม

เสียงวิจารณ์อีกด้านต่อกรณีแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น คงหนีไม่พ้นการส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชน แน่นอนว่า ด้วยความเป็นไปได้ของการจะเกิดเหตุครั้งใหญ่ในประเทศไม่มี แผ่นดินไหวรุนแรงทุกครั้งจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะมีการแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบในทันทีทันใด แต่เรื่องนี้แพทองธารไม่ได้ปล่อยผ่าน มีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไล่บี้ให้มีการแก้ไขปัญหาการส่งเอสเอ็มเอส เตือนภัยช้ากว่าที่ควรจะเป็น

แม้จะมีภาคเอกชนแย้งว่าเอสเอ็มเอสไม่ใช่การสื่อสารหลักในการแจ้งเตือนภัย นายกฯ หญิงบอกว่าเห็นด้วย แต่เรื่องแผ่นดินไหวไม่ทราบล่วงหน้า และตนคิดว่าการส่งเอสเอ็มเอส เป็นการแจ้งข้อมูลเชิงรุก พร้อมยกตัวอย่าง หากนั่งต่อจิ๊กซอว์อยู่ไม่ได้กำลังเล่นมือถือ จะรู้ได้ยังไงว่าเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น ข้อความสั้นผ่านเอสเอ็มเอส จึงเป็นหนึ่งในช่องทางการแจ้งเตือนเชิงรุก ปัญหานี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานาน บูรณาการทำงานกันมาแล้วไม่รู้กี่รอบ นั่นอาจเป็นเพราะประเทศไทยมีโอกาสที่จะเจอภัยธรรมชาติที่รุนแรงน้อย ทำให้ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชนไม่ตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้

ในฐานะนายกฯ เจนวาย คงต้องใช้โอกาสนี้เป็นเจ้าภาพเพื่อทำให้เกิดการร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้การทำงานเกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยไม่ว่าจะเป็นเหตุใดก็ตาม รวดเร็ว ทันการณ์ ป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดตามมา ไม่ใช่วัวหายแล้วล้อมคอก ต้องไม่เป็นการทำงานแบบไฟไหม้ฟาง คนรุ่นใหม่ที่ผ่านงานบริหารมาแล้วย่อมมองเห็นสภาพปัญหา ยิ่งมีพ่อเป็นผู้มากประสบการณ์ย่อมรู้อยู่แล้วว่าปัญหาแบบนี้ วิธีแก้และเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนนั้นควรทำอย่างไร

เรื่องใหญ่จากแผ่นดินไหวหนนี้คงหนีไม่พ้นอาคาร สตง.แห่งใหม่ถล่ม เกิดปมคำถามมากมายที่คงต้องใช้กระบวนการตรวจพิสูจน์เพื่อสะสางข้อเท็จจริง ทั้งหมดสามารถใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ทำความจริงให้ปรากฏได้อยู่แล้ว จะมีใครผิด ต้องรับผิดชอบก็ว่ากันไปตามข้อกฎหมาย เวลานี้สิ่งสำคัญคงอยู่ที่การเร่งค้นหา หวังว่าจะพบผู้รอดชีวิตที่ติดอยู่ในซากอาคาร แม้เวลาจะผ่าน 72 ชั่วโมงไปแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานยังคงมุ่งมั่นอดทนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยที่จะค้นหาต่อไป เพราะทุกหนึ่งชีวิตที่ช่วยได้มันคุ้มค่ามหาศาล

อรชุน

Back to top button