
กด ATM ห้ามโทรศัพท์.!
ข้อมูลจาก Thai Police Online ที่มีการรวบรวมมูลค่าความเสียหาย จากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ช่วง 9 เดือนปี 2567 พบว่า มีผู้แจ้งความถูกมิจฉาชีพหลอกเงินเกือบ 740,000 เรื่อง
ข้อมูลจาก Thai Police Online ที่มีการรวบรวมมูลค่าความเสียหาย จากการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ช่วง 9 เดือนปี 2567 พบว่า มีผู้แจ้งความถูกมิจฉาชีพหลอกเงินเกือบ 740,000 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 77,360 ล้านบาท คิดเป็นวันละ 77 ล้านบาท จำนวนนี้ทางการอายัดบัญชีได้ 560,412 บัญชีและอายัดเงินสำเร็จ 8,627,715,890 บาท
แบ่งแยกประเภทมิจฉาชีพ คือ 1)การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2)หลอกให้โอนเงินเพื่อหารายได้พิเศษ 3)ข่มขู่ทางโทรศัพท์ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 4)หลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 5)หลอกให้กู้เงิน
แม้รัฐบาลยุคแพทองธาร ชินวัตร จะมีปฏิบัติการเชิงรุกไล่ล่าทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างหนัก แต่ตัวเลขผู้ได้รับความเสียหายจากมิจฉาชีพ ถือว่าไม่ได้ลดน้อยถอยลงอย่างมีนัยสำคัญมากนัก
ทว่าปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเฉพาะไทยหรือเพื่อนบ้าน..แต่ประเทศญี่ปุ่น (ประเทศพัฒนาแล้ว) ยังมิวายต้องเผชิญปัญหากับแก็งมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะ “ผู้สูงอายุ” (อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป) ของญี่ปุ่น..ล้วนกลายเป็นเหยื่อชั้นดีของเหล่ามิจฉาชีพดังกล่าว
ทำให้ญี่ปุ่น ออกกฎใหม่ “ห้ามผู้สูงอายุถอนเงินจากตู้ ATM ขณะคุยโทรศัพท์” เพื่อลดเสี่ยงถูกแก๊งมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน ด้วยญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุจำนวนมากสูญเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตไปกับขบวนการเหล่านี้ จึงทำให้จังหวัดโอซาก้า ตัดสินใจออกกฎพิเศษ ห้ามไม่ให้ผู้สูงอายุใช้โทรศัพท์มือถือ ขณะถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มแล้ว
จากคำสั่งดังกล่าว มีผลให้บรรดาผู้ให้บริการตู้เอทีเอ็มจังหวัดโอซาก้า มีการติดโปสเตอร์แจ้งว่า ห้ามใช้โทรศัพท์ มือถือขณะกดเงิน รวมถึงกำหนดให้สถาบันการเงิน ตั้งค่าการโอนเงินของผู้สูงอายุไว้ไม่เกิน 100,000 เยนต่อวันด้วย (ประมาณ 22,500 บาท) อย่างไรก็ดีไม่มีการระบุเรื่องโทษสำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตาม เป็นเพียงการขอความร่วมมือกับประชาชนในจังหวัดเท่านั้น
การออกกฎดังกล่าวส่วนหนึ่งมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นปี 2567 พบว่าสูงถึง 6,380 ล้านเยน จากคดีทั้งสิ้น 2,658 คดี หรือ คนญี่ปุ่นถูกหลอกจากแก๊งมิจฉาชีพประมาณ 17 ล้านเยนต่อวัน เนื้อหาที่นำมาใช้หลอกคนญี่ปุ่นมากสุด คือการบอกเหยื่อว่าจะได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลคืน แต่ต้องมาทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มและคดีลักษณะนี้มีมากถึง 1,149 คดี หรือมากกว่า 40% ของคดีทั้งหมด
ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น พบว่า มากกว่า 95% ของคดีฉ้อโกงเกิดขึ้นที่ตู้เอทีเอ็ม ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล หรือในเวลาที่สถาบันการเงินปิดทำการแล้ว และกว่า 93% ของเหยื่อมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผลจากข้อมูลนี้ทำให้ทางจังหวัดโอซาก้า ตัดสินใจเพิ่มมาตรการที่ตู้เอทีเอ็มให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดีกฎเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้เกิดข้อถกเถียงเกิดขึ้นบนโลกโซเชียลกว้างขวาง และมีความคิดเห็นที่น่าสนใจจากศ.นิชิดะ คิมิอากิ ผู้เชี่ยวชาญจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยริสโช ที่ระบุว่า การสร้างความตระหนักรู้เพื่อรับมือกับการฉ้อโกง เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายพยายามทำ แต่ว่าความเป็นจริง ผู้คนไม่สามารถระมัดระวังได้ตลอดเวลา ดังนั้นการสร้างภาพแวดล้อมที่คนไม่สามารถโอนเงิน ได้อย่างสะดวก อาจช่วยป้องกันผู้สูงอายุจากแก๊งมิจฉาชีพได้อีกทางหนึ่ง
จากปัญหาและแนวทางป้องกันมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ของโอซาก้า จึงดูน่าสนใจไม่น้อยเพราะประเทศไทย กำลังเดินทางเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” ด้วยเช่นกัน..!!