รายย่อยแบกหลังแอ่น

หุ้นไทยวานนี้ถือว่าร่วงน้อยกว่าคาดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดัชนีลงมาปิด 1,158 จุด ลดลง 17.36 จุด มูลค่าการซื้อขาย 40,260 ล้านบาท


หุ้นไทยวานนี้ถือว่าร่วงน้อยกว่าคาดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ดัชนีลงมาปิด 1,158 จุด ลดลง 17.36 จุด เปลี่ยนแปลง -1.48% มูลค่าการซื้อขาย 40,260 ล้านบาท

ก่อนหน้าที่จะเปิดตลาดในช่วงเช้า

ต่างมีการตั้งคำถามกันว่า หุ้นไทยอาจจะถูก “เซอร์กิตเบรกเกอร์” (Circuit Breaker) หรือดัชนีลงมาติดลบ 8%

ทว่า กลับไม่ได้เกิดสถานการณ์เช่นนั้น

กลุ่มนักลงทุนที่ขายออกมา น่าจะ “ปรับพอร์ตไปตามสถานการณ์” ไม่ได้ถึงกับระห่ำขายอะไรแบบนั้น

วานนี้ดัชนีลงไปลึกสุด 1,155.05 จุด (-20.401 จุด) เปลี่ยนแปลง -1.73%

ส่วนดัชนีสูงสุดของวัน อยู่ที่ 1,169.09 จุด (- 6.36 จุด)

กลุ่มหุ้นที่ถูกขายออกมาตามคาด คือ อสังหาริมทรัพย์ เช่น AP ORI SIRI NOBLE ANAN PF LPN ซึ่งส่วนใหญ่จะมีโครงการที่พักอาศัยแนวดิ่ง (คอนโดมิเนียม) ค่อนข้างมาก

ส่วน LH QH ที่มีสัดส่วนแนวดิ่งไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นแนวราบ (บ้านจัดสรร) ราคาหุ้นลงเล็กน้อย

นักลงทุนต่างกังวลเกี่ยวกับยอดขายที่อยู่ระหว่างการขาย และจะเปิดขายในช่วงถัดไปนั่นแหละ เพราะหวั่นว่าแรงซื้ออาจไม่ได้ตามที่ตั้งเป้ากันไว้

และอาจจะส่งผลมายังสภาพคล่อง การจ่ายคืนเงินกู้ และสถาบันการเงิน

ความกังวล ความเชื่อมั่น ตรงนี้คงจะใช้เวลาเพื่อการฟื้นฟูพอสมควร

และต้องขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการอสังหาฯ ที่จะเข้าไปดูแลโครงการที่ตนเองเคยไปแล้วมากน้อยแค่ไหน เช่น การตรวจสอบอาคาร และการให้บริการต่าง ๆ

ที่สำคัญคือ ความแข็งแรงของโครงการ

เพราะคนซื้อคอนโดฯ เอง คงต้องมีการตั้งคำถามกันพอสมควร

หุ้นอีกกลุ่มที่ลงมาคือ กลุ่มธนาคาร เพราะต้องจับตาทั้งวงเงินสินเชื่อที่ให้กับผู้ประกอบการอสังหาฯ และรวมถึงผู้ขอสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดฯ ด้วยว่า จะเป็นเอ็นพีแอลไหม หากเกิดปัญหาขึ้นมา 

แน่นอนว่า แบงก์อาจจะต้องตั้งสำรองเพิ่มอีกแน่ ๆ

แบงก์ที่มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาฯ จำนวนมาก จึงถูก “ปรับพอร์ต” ขายเพื่อลดความเสี่ยง

แต่จะว่าไปแล้วหุ้นแบงก์ที่ปรับลงไม่อยากจะเรียกว่า “ร่วง” และเป็นลักษณะของการ “ย่อ”  มากกว่า เพราะเปอร์เซ็นต์ที่ลงมาอยู่ระหว่าง 1.5–2.0%

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ หุ้นแบงก์จะขึ้นเครื่องหมาย XD จ่ายเงินปันผล

และส่วนใหญ่จะให้ผลตอบแทนเงินปันผลค่อนข้างสูง 5-8%

จึงทำให้มีแรงเข้ามารับ หากราคาลงมาบริเวณแนวรับ

หุ้นอีกกลุ่มที่ลงมาแรงคือ ไฟแนนซ์ เช่น MTC SAWAD และ TIDLOR ที่ร่วงลงมาระหว่าง 5-7% ซึ่งนักลงทุนคงกังวลเกี่ยวกับความสามารถการจ่ายคืนหนี้ เช่นกัน

ว่าไปแล้ว กลุ่มไฟแนนซ์ที่ว่ามานี้ ฐานลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด หรือนอกกรุงเทพฯ

และเป็นกลุ่มที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากนัก

หากฝุ่นหายตลบ เกิดความชัดเจนด้านความเสียหาย มีความเป็นไปได้ที่น่าจะเกิดแรงซื้อกลับในกลุ่มหุ้นที่ถูกขายเพราะการแพนิก

การขายหุ้นออกมาวานนี้ จนกดดัชนีร่วง มีประเด็นที่น่าสนใจคือ นักลงทุนรายย่อย หรือ “เม่า” เป็นกลุ่มนักลงทุนกลุ่มเดียวที่ยังคง “ซื้อสุทธิ”

เพราะนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ -1,436.73 ล้านบาท (จากต้นปี 2568 ขายรวม -5,155 ล้านบาท)

บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขายสุทธิ -1,275.85 ล้านบาท (จากต้นปี 2568 ขายรวม -10,026 ล้านบาท)

นักลงทุนต่างประเทศ ขายสุทธิ -1,487.41 (จากต้นปี 2568 ขายรวม -39,867 ล้านบาท)

นักลงทุนในประเทศ หรือรายย่อย ซื้อสุทธิ 4,199.99 ล้านบาท

การซื้อขายรายย่อยวานนี้อีกกว่า 4 พันล้านบาทนั้น

ทำให้จากต้นปี 2568 รายย่อยซื้อสุทธิหุ้นไทยแล้วรวม 55,049 ล้านบาท หรือเป็นกลุ่มนักลงทุน ที่ทำหน้าที่ “แบก” หุ้นไทยมาตลอด

แบกจนหลังแอ่น

ธนะชัย ณ นคร

Back to top button