
Danantara กองทุนแห่งชาติอินโดนีเซีย
ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน หนึ่งในข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาให้แวดวงกองทุน นั่นคือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Danantara Indonesia)
ช่วงต้นสัปดาห์ก่อน หนึ่งในข่าวใหญ่ที่สร้างความฮือฮาให้แวดวงกองทุน นั่นคือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Danantara Indonesia) มีการเปิดเผยรายชื่อคณะที่ปรึกษาจำนวน 22 คน ที่จะเข้ามาปูทางวางยุทธศาสตร์การบริหารกองทุน Danantara โดยปรากฏชื่ออดีตนายกรัฐมนตรีของไทย “ทักษิณ ชินวัตร” เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมที่ปรึกษา ร่วมกับ Ray Dalio มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน และ Jeffrey Sachs นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ด้วยชื่อชั้นบรรดาทีมที่ปรึกษาดังกล่าว ทำให้สปอร์ตไลท์ส่องตรง มายังกองทุน Danantara โดยทันที..!
พ่วงการตั้งข้อสังเกตเชิงเปรียบเทียบว่า..นี่คือกองทุน Temasek เวอร์ชันอินโดนีเซีย..หรือไม่.!?
สำหรับ Danantara Indonesia เป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย เกิดจากความคิดริเริ่มของ ประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ที่ตั้งใจจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาให้มาช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ให้บรรลุเป้าหมาย 8% ภายในปี 2572
โดยกองทุนนี้มีชื่อเต็มว่าดายาอนากาตา นูซันตารา อินโดนีเซีย (Daya Anagata Nusantara Indonesia) มาจากคำในภาษาอินโดนีเซีย 3 คำได้แก่ Daya หมายถึง “พลังงาน”, Anagata หมายถึง “อนาคต” และ Nusantara ที่แปลว่า “หมู่เกาะ” (ในความหมายโดยนัยคือประเทศอินโดนีเซียที่มีลักษณะหมู่เกาะ) สะท้อนถึงถึงพันธกิจหลักของกองทุนในการช่วยผลักดันอนาคตของอินโดนีเซีย
กองทุน Danantara ถือเป็นกองทุนลำดับที่ 2 ของอินโดนีเซีย รองมาจากกองทุน Indonesia Investment Authority (INA) แต่มีรูปแบบการบริหารกองทุนไม่เหมือนกัน กล่าวคือ Danantara มีการบริหารกองทุนในรูปแบบเดียวกับกองทุนเทมาเส็ก (Temasek) ของสิงคโปร์ นั่นคือจะเข้าไปถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย
โดย Danantara มีเป้าหมายเป็นกองทุนที่ใหญ่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแผนเข้าไปบริหารสินทรัพย์มูลค่ามากกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 30 ล้านล้านบาท) ประเดิมระยะแรกด้วยงบประมาณเริ่มต้น 2 หมื่นล้านดอลลาร์ (ประมาณ 6.8 แสนล้านบาท) เน้นลงทุน 4 ด้านหลัก คือ การแปรรูปทรัพยากรธรรมชาติ, การพัฒนา AI, ความมั่นคงด้านพลังงาน และความมั่นคงทางอาหาร
แม้ว่ากองทุน Danantara มีการเปิดตัวออกมาด้วยเป้าหมายยิ่งใหญ่ทั้งผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียและก้าวขึ้นเป็นกองทุนใหญ่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทว่านักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแสดงความกังวล และตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทุนนี้ ข้อกังขาหลักคือ ความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงทางการเมือง ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากกองทุนนี้มีมูลค่ามหาศาล และจะได้รับการบริหารจัดการโดยรัฐบาล
ทำให้ถูกมองว่า การตัดสินใจลงทุน อาจได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางการเมือง มากกว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ แม้ประธานาธิบดีปราโบโว ยืนยันว่ากองทุน Danantara มีการบริหารงานอย่างโปร่งใสและเปิดให้มีการเข้ามาตรวจสอบได้
อีกข้อกังวลคือความเสี่ยงด้านการคลัง จากก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซีย ออกมาประกาศว่า มีแผนลดงบประมาณของกระทรวงและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ประมาณ 300 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 6.1 แสนล้านบาท) เพื่อมาสนับสนุนกองทุน Danantara ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างว่าจะกระทบต่อการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ
ถือเป็นบทพิสูจน์รัฐบาลอินโดนีเซียว่า จะทำให้ Danantara เป็นดั่ง Temasek ได้หรือไม่.!??
เล็กเซียวหงส์