ตึกสตง. VS ตึกยาคูลท์

ช่วงนี้ “งานเข้า” สตง. เต็ม ๆ จากเรื่องตึกมูลค่า 2.1 พันล้านบาท เป็นหนึ่งเดียวในจำนวนตึกสูงหลายร้อยตึกในกทม. ที่พังครืนไม่เป็นท่าจากแผ่นดินไหว


ช่วงนี้ “งานเข้า” สตง.หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเต็ม

จากเรื่องตึกมูลค่า 2.1 พันล้านบาท เป็นหนึ่งเดียวในจำนวนตึกสูงหลายร้อยตึกในกทม. ที่พังครืนไม่เป็นท่าจากแผ่นดินไหว ยังไม่พอ! โจทก์เก่าของสตง.เข้ามาถล่มกันตรึม โดยเฉพาะในโลกโซเชียล

ไหนจะสูญเสียทั้งตึก และยังสูญสิ้นศรัทธาในฐานะหัวเรือใหญ่ตรวจจับการทุจริตในวงราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การปกครองท้องถิ่นอีกด้วย

อันเนื่องมาจากตึกสตง.ถล่ม ก็ยังมีเรื่องราวที่เผยแพร่ทางโซเชียลเป็นไวรัลครึกโครมในขณะนี้ นั่นก็คือการประชุมสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 11 กันยายน ปี 2567…

ที่มีการตัดงบจ้างผู้ควบคุมงานก่อสร้างและติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบแผ่นดินไหวของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เสนอของบฯ เป็นตัวเลขกลม ๆ สัก 100 ล้านบาทเห็นจะได้

บรรดาสก.ระดับคีย์แมนจากพรรคเพื่อไทย 3 คน อภิปรายกันสนุกปาก บ้างก็บอกว่าเครื่องมือนี้ ไม่สามารถจะบอกได้ว่า เมื่อไหร่จะเกิดเหตุแผ่นดินไหว หากอนุมัติงบก้อนนี้ไปก็ไร้ประโยชน์

บ้างก็บอกว่า สำนักงานโยธาฯ กทม.มีอยู่แล้ว สามารถทำได้ และบ้างก็บอกว่า ฟุตปาตไม่ต้องดูมันเยอะ อาคารก็ไม่ต้องดูทุกวัน ติดวงจรปิดดูเอาเองก็ได้

ผู้ว่าฯ ชัชชาติในวันนั้น ยืนยันความจำเป็น พร้อมวิงวอนขอสภาผู้ทรงเกียรติกทม.ว่าอย่าตัดงบ ยกตัวอย่างเช่น การวางเหล็ก ต้องเช็กเหล็กก่อนถึงเทคอนกรีต แต่หากเทคอนกรีตก็ไม่เห็นเหล็กแล้ว “การสร้างโรงพยาบาลมูลค่า 3 พันล้าน แล้วก็เสียค่าคุมงาน 60 ล้าน ผมเชื่อว่าคุ้มค่าและสร้างความมั่นใจว่าจะได้เงินได้โครงการ และก็ได้ตึกที่มีคุณภาพ”

สุดท้ายงบฯ ชัชชาติ ก็ถูกตัดฉับ แต่ชัชชาติกลายเป็นผู้เกิดก่อนกาล เพราะวันนี้ เหล็กที่ถูกปิดทับด้วยคอนกรีต ณ ตึกสตง.ล้วนเป็นเหล็กไร้คุณภาพจากจีน

เป็นกรณีดูเบาไม่ตระหนักถึงภยันตรายในอนาคตของ “สภาผู้ไม่รู้”

แต่นี่เป็นกรณีมองการณ์ไกลล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อ 26 ปีก่อน นั่นคือ อาคารยาคูลท์สำนักงานใหญ่ สนามเป้า สูง 21 ชั้น ถือเป็นอาคารต้านแผ่นดินไหวแห่งแรกของประเทศไทย ที่ใช้มาตรฐานก่อสร้างเดียวกับประเทศญี่ปุ่น

คุณประพันธ์ เหตระกูล ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริษัทยาคูลท์ (ประเทศไทย) ได้ว่าจ้างบริษัท โอบายาชิ 1 ในบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ของญี่ปุ่น ท่ามกลางเสียงซุบซิบนินทาว่า ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินหลายพันล้านแบบไร้สติ

โดยปกติของอาคารทั่วไป จะมีเสาเข็มที่เชื่อมต่อกันเป็นท่อนเดียว เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงสั่นสะเทือนไปทั้งตึก แต่อาคารต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการดูดซับพลังงานจากแผ่นดินไหวให้ได้มากที่สุด โดยกระบวนการซึ่งเรียกว่า การแยกแผ่นดินไหว (Seismic Isolation)

กล่าวคือ เสาเข็มของอาคารจะไม่เชื่อมต่อกันเป็นท่อนเดียวทั้งหมด แต่จะมีอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นลูกปืน หรือโช๊คอัพที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนที่แบบอิสระมาเชื่อมต่อ คั่นกลางระหว่างเสาเข็มด้านบนและเสาเข็มด้านล่าง

เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว เสาเข็มด้านล่างจะเคลื่อนไหวไปตามแรงที่มากระทำ โดยวัสดุเชื่อมต่อจะช่วยซับแรงสะเทือน ทำให้อาคารที่อยู่ด้านบน ไม่ได้รับแรงจากแผ่นดินไหวตรง ๆ เต็ม ๆ มากนัก

ความจริงได้รับการพิสูจน์เห็นกันในวันนี้ คุณประพันธ์ เหตระกูล คือผู้มองการณ์ไกล และไม่หวั่นไหวต่อคำติฉินนินทา

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button