‘ทรัมป์’ รุนแรงกว่าคาด สงครามการค้าปะทุ

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ตามเวลาสหรัฐฯ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff)


เส้นทางนักลงทุน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ตามเวลาสหรัฐฯ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) โดยให้เหตุผลว่าเป็นนโยบายภาษีเท่าเทียม ซึ่งภาษีเหล่านี้จะทำให้สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จ

มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้รอบนี้ถือว่าโหดอย่างมาก และน่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลก ซึ่งรวมถึงผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยด้วย

แผนภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ดังกล่าว แบ่งเป็น อัตราภาษีศุลกากรขั้นต่ำ (baseline) ซึ่งจะเรียกเก็บ 10% สำหรับสินค้านำเข้าสหรัฐฯ ทุกรายการ จากมากกว่า 180 ประเทศทั่วโลก จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายนนี้เป็นต้นไป

ขณะที่ จะมีราว 60 ประเทศ ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีผลขาดดุลการค้าสูง หรือมีนโยบายการค้าที่ถูกมองว่าไม่เป็นธรรม ที่จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรตอบโต้ที่รุนแรงในอัตราที่แตกต่างกันไป เช่น กัมพูชา (49%), ลาว (48%), เวียดนาม 46%, ไทย (37%), ไต้หวัน (32%), ญี่ปุ่น (24%), ยุโรป (20%) เป็นต้น ส่วนจีนจะเพิ่ม 34% จากที่เก็บเดิม 20% รวมเป็น 54% ซึ่งทั้งหมดจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2568

  • ส่งออกไทยกระทบหนัก

สำหรับประเทศไทยนั้นถือว่าได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าที่คาด บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส ชี้ว่า ไทยถูกเก็บภาษีสินค้า 37% สูงกว่าตลาดประเมินที่ราว 10% หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย อัตราที่ไทยถูกเก็บค่อนไปในทางสูง โดยมีเพียงจีน เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ที่สูงกว่าไทย ขณะที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย ถูกเก็บในอัตรา 24-32% จึงมองเป็นลบต่อภาคการส่งออกไทยรุนแรงกว่าคาด และอาจนำไปสู่การปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ลงในอนาคต

ไทยมีโอกาสจะเห็นการเติบโตปีนี้ต่ำกว่า 2% ได้ ซึ่งอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะมีการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดระดับอัตราภาษีลงจากระดับดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด โดยคาดว่าจะต้องลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ลง และนำเข้าเพิ่มขึ้น รวมถึงต้องพิจารณาด้านผลประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือจากด้านการค้า

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI มองไม่แตกต่างกันว่า หากตั้งสมมติฐานว่าภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าและมูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยลดลง 10% ในปี 2568 ผลลบสุทธิต่อ GDP ไทยน่าจะมีประมาณ 0.5% อย่างไรก็ตามเมื่อมูลค่าการส่งออกสินค้าลดลง ก็มักจะฉุดการบริโภคภาคเอกชนลดลงตาม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างเช่นพนักงานโรงงานที่อาจไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ซึ่งส่วนนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP ประมาณ 0.4-0.7% ดังนั้นเมื่อรวมผลกระทบจากทั้งสองส่วน เชื่อว่าผลกระทบโดยรวมต่อ GDP ไทยในปี 2568 น่าจะอยู่ที่ 0.9-1.2% หากปัจจัยอื่นไม่เปลี่ยนแปลง

ผลกระทบที่แท้จริงจาก reciprocal tariff ของสหรัฐฯ อาจรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงประมาณการว่า EPS ของตลาดหุ้นไทยน่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 10% จึงปรับลดเป้าดัชนี SET สิ้นปีนี้จากเดิม 1,380 จุด (P/E 14 เท่า ในปี 2569) มาที่ 1,200 จุด ซึ่งยังเท่ากับ P/E 13.4 เท่า ในปี 2568 หรือ -1SD ของค่าเฉลี่ย 10 ปี

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า เกือบทุกสินทรัพย์ปรับตัวลดลงตอบรับ “สงครามการค้า” (Trade War) ทั้งดัชนีซื้อขายล่วงหน้าสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ดาวโจนส์ -2.3%, S&P500 ลดลง -3.5% และ NASDAQ ลดลง -4.3% ขณะที่ดัชนีซื้อขายล่วงหน้ายุโรปปรับตัวลงเฉลี่ยราว -0.6% และ NIKKEI 225 ลดลง -1.1%

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐฯ รวมทั้งคาดหลายประเทศทั่วโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้จะเร่งเข้าทำการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อที่จะลดผลกระทบต่อนโยบายภาษีเท่าเทียม

  • กลุ่มหุ้นได้รับผลกระทบ

บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส มองหุ้นในกลุ่มส่งออกจะได้รับผลกระทบระยะสั้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารส่งออกปลายน้ำ ยาง เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่คาดจะปรับตัวได้แข็งแรง คือ Defensive และ Consumer Staples ได้แก่ สื่อสาร การแพทย์ โรงไฟฟ้า IPP ค้าปลีก เป็นต้น

บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า หุ้นกลุ่มกระทบหนัก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์, อาหารและเครื่องดื่ม, นิคมอุตสาหกรรม ส่วนภาพระยะกลางคงต้องติดตามท่าทีของรัฐบาลไทยในการเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออกไทยในระยะถัดไป

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดกลุ่มหุ้นที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบและควรหลีกเลี่ยงการลงทุน ได้แก่ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สินค้าเกษตร, นิคมอุตสาหกรรม และพลังงาน

  • สินทรัพย์/หุ้นหลบภัย

บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำหมุนเงินเข้าพักในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ, กองทุนพันธบัตรรัฐบาล และหุ้นกลุ่ม REIT & IFF

บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) แนะนำให้ลงทุนในหุ้นปลอดภัยที่เน้นธุรกิจในประเทศ (domestic defensive) และหุ้นปันผลสูง หุ้น Top pick ประกอบด้วย BH, CBG, CPALL, CPN, HANA, KTB, MINT, MTC, PTTEP, SCB, PR9 และ SIRI

มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ของทรัมป์ถือว่ารุนแรงกว่าคาดการณ์ และได้ปลุกสงครามการค้าให้ปะทุขึ้นทั่วโลก

Back to top button