
พาราสาวะถี
เข้าสู่วันที่ 12 แล้ว สำหรับการค้นหาผู้รอดชีวิต และร่างผู้เสียชีวิต รวมทั้งการกู้ซากตึก สตง. ที่ถล่มนับตั้งแต่วันแผ่นดินไหว 28 มีนาคมที่ผ่านมา
เข้าสู่วันที่ 12 แล้ว สำหรับการค้นหาผู้รอดชีวิต และร่างผู้เสียชีวิต รวมทั้งการกู้ซากตึก สตง.แห่งใหม่ที่ถล่มนับตั้งแต่วันแผ่นดินไหว 28 มีนาคมที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ให้สัมภาษณ์ยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริงที่เจ็บปวด เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงขนาดนี้ โอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตเพิ่มคงยาก หรือแทบจะไม่มีแล้ว โจทย์ใหญ่สำหรับทีมค้นหาจึงเป็นการนำร่างผู้เสียชีวิตออกจากซากปรักหักพังให้ได้โดยเร็ว เพื่อที่ญาติจะได้นำร่างกลับไปบำเพ็ญกุศลยังภูมิลำเนา
อย่างไรก็ตาม แม้จะยอมรับว่าโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิตริบหรี่ลงไปแล้ว แต่ผู้ว่าฯ กทม.ยังยืนยันว่า ตนและเจ้าหน้าที่ทุกคนยังไม่หมดหวัง มีทีมช่วยชีวิตและจับหาสัญญาณชีพอยู่ตลอดเวลา แต่ถึงนาทีนี้ “รายงานการพบสัญญาณชีพไม่มี เช่นเดียวกับสัญญาณการขอความช่วยเหลือ” สรุปจำนวนผู้ประสบเหตุตึก สตง.ถล่มมีจำนวนทั้งสิ้น 103 คน พบผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย บาดเจ็บ 9 ราย สูญหาย 77 ราย ทั้งนี้ การนับตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้น ต้องรอทางตำรวจเป็นผู้ยืนยัน เพื่อจะได้ไม่สับสน
ขณะที่กระบวนการทำงานของทีมค้นหา และการกู้ซากตึกนั้น ชัชชาติฉายภาพให้เห็นว่า หากพูดตามความจริงโอกาสรอดชีวิตจะน้อยลง ผู้เสียชีวิตจะมากขึ้น สถานการณ์จะเปลี่ยนจากวิ่งสปรินท์เป็นวิ่งมาราธอน นั่นก็คือ การกู้ชีพเหมือนการวิ่งแข่งร้อยเมตร แต่ตอนนี้เป็นเกมยาวเหมือนการวิ่งมาราธอน ต้องพยายามรักษาความต่อเนื่อง ดูแลคนที่ทำงานให้อยู่กับศูนย์บัญชาการฯของ กทม.ได้ ทีมงานต้องบริหารกันให้เหมาะสมทั้งการบริการ และการปฏิบัติงานด้านใน
ต้องให้กำลังใจทุกคน ทุกฝ่ายต่อไป ส่วนปมว่าด้วยคุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ การจัดซื้อจัดจ้าง ฝ่ายตรวจสอบทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอก็ทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องของตอผุดเกี่ยวกับการจ้างผู้รับเหมาช่วง ที่วันวานมีการรวมตัวประท้วงเรียกร้องเงินค่าจ้างจากบริษัทที่รับงาน มีการเปิดโปงถึงความไม่ชอบมาพากลในการทำงาน เบี้ยวกันมาหลายรอบ ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้เห็นไส้ในของพวกเสือนอนกินทั้งหลายชัดขึ้นไปอีก อยู่ที่ว่าฝ่ายมีอำนาจจะจับได้ไล่ทัน ไม่มีการลูบหน้าปะจมูกหรือไม่
ความวัวไม่ทันหาย ความควายที่รัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ต้องเจอและถือว่าหนักหนาสาหัสไม่น้อย หนีไม่พ้นการขึ้นภาษีหฤโหดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ฝ่ายกุมอำนาจได้เตรียมการรับมือเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีหญิงได้ออกแถลงการณ์ต่อการเผชิญกับมาตรการในการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐฯ จากอัตราเรียกเก็บที่ร้อยละ 36
โดยแพทองธารเชื่อว่าทั่วโลกกำลังจะเห็นการตอบโต้กันอย่างหนักหน่วงผ่านเครื่องมือทางภาษี และหลายประเทศก็ตัดสินใจไปเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ ทว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีใครได้ข้อสรุปของการเจรจาแต่อย่างใด ส่วนของประเทศไทย มาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมา ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา มีการหารือกับภาคเอกชนรวมทั้งตัวแทนของสหรัฐฯ ถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการมาโดยตลอด
เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการประเมิน พบข้อกังวล และเตรียมพร้อมรับมือไว้แล้ว ในสัปดาห์นี้ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือกับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ที่มีส่วนได้เสียจากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญของรัฐบาลสหรัฐฯ ในครั้งนี้ แพทองธารยืนยันว่า สิ่งที่จะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ ก็คือ ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น แต่คือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เชื่อถือได้ในระยะยาว
ลำพังการขอความเห็นใจเพียงอย่างเดียวคงไม่ประสบผลสำเร็จ อีกฝ่ายย่อมมีข้อแลกเปลี่ยน ส่วนจะเป็นด้านไหนอย่างไรนั้นต้องรอฟังจากผลของการเจรจา แต่เบื้องต้นประเด็นที่มีการเตรียมนำไปยื่นหมูยื่นแมวกับสหรัฐฯ ก็คือ ข้อเสนอเชิงนโยบายต่าง ๆ เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และสินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่น ๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ
ข้อเสนอเช่นนี้ย่อมมีรายละเอียดอีกมาก แน่นอนว่า ย่อมทำให้เกิดความกังขา หรือระแวงจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาล โดยแพทองธารย้ำว่าขอให้มั่นใจ ข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด นอกจากนี้ จะมีการเจรจาเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ และลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ ด้วย
ความจริงผลกระทบต่อการกลับมาเป็นผู้นำประเทศของทรัมป์นั้น พ่อนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น ย่อมมีแนวทาง วิธีการที่จะเสนอแนะต่อลูกสาว นั่นจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แพทองธารยืนยัน ขอให้ความมั่นใจข้อเสนอที่รัฐบาลเตรียมไว้ล้วนคำนึงถึงประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ เพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจ และคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยทุกคน ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อที่จะช่วยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการดังกล่าว เอาใจช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นไปในทิศทางบวก
วันนี้ (8 เมษายน) เพื่อไทยมีประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2568 ของพรรค โดยไม่มีวาระการปรับโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค ไฮไลต์ของงานน่าจะอยู่ที่ในช่วงบ่ายทักษิณจะเดินทางเข้าพรรคเพื่อให้แกนนำ สส.และสมาชิกพรรค ร่วมรดน้ำดำหัวขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ น่าติดตามว่านายใหญ่จะส่งสัญญาณใดผ่านเหล่าคนกันเองหรือไม่ ตอนนี้ก็มีเรื่องร่าง พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่สภาฯ กำลังจะพิจารณา ดูความตั้งใจแล้วพรรคแกนนำรัฐบาลต้องการให้ผ่านวาระแรกก่อนปิดสมัยประชุมนี้ให้ได้
อรชุน