ช้างสารชนกัน..หญ้าแพรกแหลกลาญ.!

ตกฟากตี 3 ของวันที่ 3 เม.ย. 68 (ตามเวลาไทย) ทั้งโลกต่างตกตะลึง! เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบายในงาน Liberation Day ด้วยการประกาศขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศ


ตกฟากตี 3 ของวันที่ 3 เม.ย. 68 (ตามเวลาไทย) ทั้งโลกต่างตกตะลึง! เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศนโยบายในงาน Liberation Day  ด้วยการประกาศขึ้นภาษีกับการนำเข้าจากทุกประเทศขั้นต่ำ 10% ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และมองว่าเอาเปรียบสหรัฐฯ ตั้งแต่อัตราภาษีนำเข้า มาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-tariff Barriers) รวมถึงค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บจาก 60 ประเทศทั่วโลก

ส่วนประเทศไทยกำหนดอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ไว้ 37% มีผลตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย. 68 เป็นต้นไป

ทำให้รัฐบาลจีน ออกโรงประณามนโยบายภาษีของโดนัลด์ ทรัมป์ว่าเป็นการ “แบล็กเมล์” พร้อมประกาศชัดเจนว่าจะไม่ยอมจำนนต่อแรงกดดันจากสหรัฐฯ หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะขึ้นภาษีสินค้าอีก 50% เพื่อตอบโต้การเคลื่อนไหวของจีนที่เพิ่งประกาศเก็บภาษีตอบโต้ 34%

โดยเฉพาะ “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน สวนหมัดแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ด้วยการประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทสัญชาติอเมริกัน 11 แห่ง หยุดนำเข้าเนื้อไก่ จำกัดส่งออกแร่หายาก

จากนั้น “โดนัลด์ ทรัมป์” ลั่นถ้าจีนไม่ยกเลิกภาษีกับสหรัฐฯ 34% สหรัฐฯ จะเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 50% (รวมเป็น 104%) ทันที นอกจากนี้ยังมีภาษีแบบไม่ใช่ตัวเงิน (Non-Monetary Tariffs), การอุดหนุนบริษัทแบบผิดกฎหมาย และการแทรกแซงค่าเงินที่กระทำต่อเนื่องมาหลายปี

นั่นทำให้ล่าสุดคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) จัดประชุมร่วมกับผู้บริหารของบริษัทเอกชนชั้นนำหลายแห่ง (8 เม.ย. 68) อาทิ ทรินา โซลาร์ (Trina Solar), ตีตี (Didi) และโกเออร์เทก (GoerTek) เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางรับมือกับมาตรการขึ้นภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯ

การประชุมดังกล่าว นำโดย เจิ้ง ซานเจี๋ย ประธาน NDRC มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงกว่า 100% จะมีผลบังคับใช้วันพุธนี้ (9 เม.ย.) โดยอ้างว่าเป็นมาตรการตอบโต้ที่จีนประกาศใช้มาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯ

โดย NDRC ระบุว่าบริษัทต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางการรักษาเสถียรภาพด้านการจ้างงานภายในประเทศ รวมถึงการรับมือกับความเสี่ยงและความท้าทายจากภายนอก

พร้อมเน้นย้ำว่า ภาคธุรกิจยังเชื่อมั่นว่า จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลายากลำบากนี้ไปได้ เนื่องจากสภาพแวดล้อมในประเทศยังคงมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ NDRC ตอกย้ำอีกว่า เมื่อเผชิญกับแรงกดดันจากภายนอก เช่น มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ภาคส่วนต่าง ๆ ควรมีทิศทางและการดำเนินงานที่สอดคล้องกับการตัดสินใจของส่วนกลาง

ยิ่งกว่านั้นมีการให้คำมั่นจะให้การสนับสนุนภาคเอกชนอย่างเต็มที่ทั้งด้านการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ

การทำ ‘ยุทธหัตถีทางการค้า’ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนครั้งนี้ แน่นอนว่าประเทศในบริวารหรือเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจหรือพึ่งพิงทางการค้าทั้ง 2 ประเทศ..อาจถึงคราวแหลกลาญตามกันไปเป็นแน่..!!??

เล็กเซียวหงส์

Back to top button