กรณีเนสท์เล่ : ใครฆ่าใคร

คุณประยุทธ มหากิจศิริ ไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของบริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) แม้สักหุ้นเดียว แต่เป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 50% ในบริษัท คิวซีพี ร่วมกับ เนสท์เล่ (ประเทศไทย) คนละครึ่ง


คุณประยุทธ มหากิจศิริ ไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของบริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) แม้สักหุ้นเดียว แต่เป็นผู้ถือหุ้นสัดส่วน 50% ในบริษัท คิวซีพี ร่วมกับ เนสท์เล่ (ประเทศไทย) คนละครึ่ง เพื่อผลิตกาแฟสำเร็จรูปแบรนด์ NESCAFE

ต้องขอทำความเข้าใจมา ณ ที่นี่ก่อนเลยนะครับว่า ฐานะของบ.คิวซีพีเป็นแค่ “บริษัทรับจ้างทำของ” หรือ “OEM” ที่เจ้าของแบรนด์เป็นผู้ว่าจ้างตามสัญญาที่ตกลงกัน จะกี่เดือนกี่ปีหรือสัญญาจบ จะต่อสัญญาใหม่ ก็แล้วแต่ความตกลงของคู่กรณี

ฉะนั้นคุณประยุทธไม่ใช่ “เจ้าพ่อเนสกาแฟ” ดั่งที่สังคมเข้าใจมาช้านานแน่นอน คิวซีพีก็คือบริษัท OEM รับจ้างทำของ ย่อมสิ้นสุดพันธกิจกับเจ้าของแบรนด์ไปตามสัญญา หากสัญญาว่าจ้างสิ้นสุดแล้ว เจ้าของแบรนด์ไม่ต่อสัญญา ก็เท่ากับเลิกแล้วต่อกัน

OEM จะไปบังคับเจ้าของแบรนด์ให้ต่อสัญญาฝ่ายเดียว ย่อมมิอาจกระทำได้

แต่นี่ในห้วงเวลา 30 กว่าปี นับแต่เนสท์เล่ฯ เข้าร่วมทุนในคิวซีพีตั้งแต่ปี 2533 มีการต่อสัญญาว่าจ้างผลิตฉบับแรกอายุ 22 ปี ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อ 31 ธ.ค. 55 มาแล้ว ประยุทธขอต่อสัญญาโดยอ้างบุญคุณที่ได้ชักนำเนสท์เล่ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และทำให้แบรนด์เนสกาแฟ ครองตลาดอันดับ 1

เนสท์เล่ฯ ยอมตามคำขอประยุทธ สัญญาว่าจ้างผลิตฉบับที่ 2 ขยายเวลาออกไปอีก 12 ปี สิ้นสุด 31 ธ.ค. 67 เนสท์เล่แจ้งบอกเลิกสัญญาปลายปี 65 ก่อนสัญญาสิ้นสุดเป็นเวลา 2 ปีตามข้อสัญญา

เนสท์เล่ฯ เปิดโอกาสเจรจาหลังจากนั้น หากประยุทธต้องการขายหุ้นคิวซีพีในราคาที่เหมาะสม หรือต้องการความช่วยเหลือใด ๆ จากเนสท์เล่ ก็ขอให้เจรจาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและรับกันได้ทั้งสองฝ่าย

เพื่อการจากกันด้วยดี!

เข้าใจว่าการเจรจาคงตกลงกันไม่ได้ในเรื่องของราคา ในที่สุดครอบครัวมหากิจศิริเปิดฉากยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ช่วงปลายปี 2566 แต่ต่อมาไม่นานนัก ได้ถอนคำฟ้องด้วยสาเหตุใดไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งอาจจะเกี่ยวกับหลักประกันที่นำไปวางต่อศาลในมูลค่าสูง

แต่ต่อมาก็ย้ายศาลมาฟ้องที่ศาลแพ่งมีนบุรี เมื่อมี.ค. 2568  ศาลแพ่งมีนบุรี ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามมิให้เนสท์เล่ ดำเนินการผลิต ว่าจ้างผลิตจำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปโดยใช้เครื่องหมาย Nescafe ในประเทศไทย

ซึ่งคำแถลงการณ์เนสท์เล่ต่อมา ระบุว่าศาลฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยมิทันไต่สวนทางฝ่ายเนสท์เล่ และก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ศาลฯ ยังมิได้รับฟังคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทางการค้าระหว่างประเทศที่อังกฤษว่า ฝ่ายเนสท์เล่กระทำการบอกเลิกสัญญาตามเงื่อนไขต่าง ๆ ครบถ้วนทุกประการ

การบอกเลิกสัญญาร่วมทุน กระทำการโดยถูกต้อง คำฟ้องของประยุทธถูกตีตกในทุกประเด็น

ในช่วงระหว่างอลวนห้ามเนสท์เล่ ผลิตและจำหน่ายหรือการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนสกาแฟอยู่นี้ ก็ยังมีศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งยืนยันว่าบ.เนสท์เล่ ไทย เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า “เนสกาแฟ” โดยให้มีผลตั้งแต่ 11 เม.ย. 68

อลเวงทางศาลอีกโสตหนึ่ง!

อย่างไรก็ดี ศาลแพ่งมีนบุรีมีนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของฝั่งเนสท์เล่ฯ ในวันที่ 17 เม.ย.นี้ ไม่ทราบจะมีคำวินิจฉัยออกมาเป็นประการใดและเมื่อไหร่

แต่ที่แน่ ๆ หากเรื่องนี้ยืดเยื้อออกไป คนเสียประโยชน์มหาศาล คงไม่ใช่คุณประยุทธหรือเนสท์เล่ แต่เป็นคนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตกาแฟสำเร็จรูปที่มียอดขายปีละ 5.7 หมื่นล้านบาท ทั้งผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีก ร้านค้าใหญ่-ย่อย และผู้บริโภคกาแฟ

แต่ที่สำคัญยิ่งยวดที่สุด คือ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพราะผลผลิตกาแฟโรบัสต้ากว่าครึ่งของประเทศ ที่เนสท์เล่รับซื้อ จะได้รับการระบายไปที่ไหน?

ศึกเนสท์เล่หนนี้ ฝรั่งจะฆ่าคนไทยนามประยุทธ หรือจะเป็นคนไทยฆ่าคนไทยที่เป็นเกษตรกร ผู้ค้าปลีก-ค้าส่งทั่วราชอาณาจักรกันแน่ (สัปดาห์หน้าแฉต่อ)

ชาญชัย สงวนวงศ์

Back to top button