
‘ภาษีทรัมป์’ ทำส่งออกเวียดนามป่วน.!
บรรดาคนงานโรงงานบางแห่งเวียดนาม ได้รับแจ้งให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าสำหรับตลาดสหรัฐฯ ขณะที่คนงานบางส่วนลดกะทำงานเหลือ 3 กะต่อสัปดาห์
บรรดาคนงานโรงงานบางแห่งในเวียดนาม ได้รับแจ้งให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าสำหรับตลาดสหรัฐฯ ขณะที่คนงานบางส่วนลดกะทำงานเหลือ 3 กะต่อสัปดาห์ เนื่องจากคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ได้เลื่อนออกไป หรือบางรายมีการยกเลิกกันไปเลย
ผู้ส่งออกเวียดนาม มีการใช้กลยุทธ์หลากหลายที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ แสดงให้เห็นความวุ่นวายของผู้ส่งออกหลายรายในเวียดนามซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่รัฐบาลทรัมป์ลงโทษด้วยการเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้อัตรา 46% ก่อนที่จะระงับการเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ไว้ก่อนจนถึงเดือนก.ค. 68
Calvin Nguyen หัวหน้าบริษัทโลจิสติกส์ WeDo Forwarding ของเวียดนาม ระบุว่า โรงงานหลายแห่งมีการปรับเปลี่ยนแผนการผลิตและการดำเนินงานของแรงงานคน ด้วยวิธีการแบ่งกะงานเป็น 3 กะต่อสัปดาห์ ได้แก่ จันทร์-พุธ-ศุกร์และอังคาร-พฤหัสบดี-เสาร์ แทนที่จะทำงานเต็มเวลา เนื่องจากมีการระงับคำสั่งซื้อจำนวนมาก
โดยเฉพาะบริษัท 3 แห่ง ที่ผลิตเสื้อผ้า, รองเท้าและสินค้าเกษตร ที่เปลี่ยนแผนการทำงาน เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เลื่อนออกไป แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ จะระงับภาษีศุลกากรตอบโต้ 90 วันก็ตาม
จากการสำรวจภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม สามารถยืนยันข้อมูลชัดเจนถึงมาตรการลดต้นทุนบริษัทหลายแห่งในเวียดนาม และการระงับการลงทุนของบริษัทต่างชาติหลายแห่งอีกด้วย
ทั้งนี้เวียดนาม ถือเป็นผู้ส่งออก “รองเท้าและเครื่องแต่งกาย” รายใหญ่ที่สำคัญไปยังสหรัฐฯ มีซัพพลายเออร์หลายสิบรายผลิตสินค้าให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เช่น ไนกี้ (Nike), อาดิดาส (Adidas) และแก๊ป (Gap)
การสำรวจภาคธุรกิจยุโรปจำนวน 183 แห่งในเวียดนาม ที่จัดทำโดยหอการค้ายุโรป ระหว่างวันที่ 4-9 เม.ย. 68 พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่กำลังพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อตอบสนองต่อภาษีศุลกากร รวมถึงการลดจำนวนพนักงาน และลดขนาดการดำเนินงานหรือองค์กร
ภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คิดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่สุดของการส่งออก มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐของเวียดนามไปยังสหรัฐฯ โดยนักลงทุนรายใหญ่อย่าง ซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ (Samsung Electronics) ได้เร่งการผลิตช่วงสั้น ๆ ก่อนที่ภาษีศุลกากรจะมีผลบังคับใช้และกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนกำลังการผลิต
ขณะที่บริษัท แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ (LG Electronics) ของเกาหลีใต้ ที่เป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ภายในบ้าน ได้ระงับการผลิตตู้เย็นที่โรงงานของบริษัทในเมืองไฮฟงทางตอนเหนือ จากผลสำรวจที่จัดทำโดยหน่วยงานท้องถิ่นหลายแห่ง
ส่วนไนกี้ (Nike) อาจต้องเผชิญกับอุปสรรคอีกครั้ง กล่าวคือ ภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บต่อสินค้าจากเวียดนาม หลังจากความพยายามของบริษัท ที่จะฟื้นฟูแบรนด์ และพลิกฟื้นยอดขายที่ลดลงมายาวนาน
สำหรับ “ไนกี้” ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์เครื่องกีฬาหลายแบรนด์ ที่ต้องพึ่งพาเวียดนามอย่างมาก กับการเป็นฐานการผลิตและภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นจะบีบบังคับให้บริษัทต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น หรือปรับขึ้นราคาในช่วงที่ลดราคาสินค้าบางรายการเพื่อล้างสต๊อก
โดย “ไนกี้” ผลิตรองเท้า 50% และเครื่องแต่งกาย 28% ในเวียดนามตามปีงบประมาณ 2567 ขณะที่ “อาดิดาส” บริษัทคู่แข่ง มีความเสี่ยงต่ำกว่าเล็กน้อย ด้วยการพึ่งพาเวียดนาม สำหรับรองเท้า 39% และเครื่องแต่งกาย 18%
จากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเรียกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ ต่อหลายประเทศเป้าหมายและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นการผลิตในประเทศ และพยายามโน้มน้าวประเทศอื่น ๆ ให้ซื้อสินค้าของสหรัฐฯ มากขึ้น และเวียดนามเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มูลค่า 123,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นั่นจึงกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของสหรัฐฯ..!!