
ECF คุกรุ่นการเงิน.!
ดูเหมือนธุรกิจพลังงานทดแทนจะไม่สมพงษ์กับบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ซึ่งมีรากเหง้ามาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เอาซะเลย...
ดูเหมือนธุรกิจพลังงานทดแทนจะไม่สมพงศ์กับบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) หรือ ECF ซึ่งมีรากเหง้ามาจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์เอาซะเลย…สะท้อนได้จากความเพียรพยายามในการขยายไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนในหลาย ๆ โครงการ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ซัคเซสสักโครงการ..!?
เริ่มจากเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว เคยมีดำริจะไปซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 7.5 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลพบุรี จากบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC…ตอนนั้นมีการจ่ายเงินมัดจำไปแล้วด้วยนะ แต่ไม่รู้อีท่าไหน สุดท้ายก็เงียบหายไป…
ดีลแรกไม่ซัคเซส…ดีลต่อมาราวปี 2560 ECF ควงแขนสองเกลออย่างบริษัท เมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ META และบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เมืองมินบู ประเทศเมียนมา กำลังการผลิตรวม 220 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 4 เฟสด้วยกัน
แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ โรงไฟฟ้ามินบูที่เป็นความหวังของ ECF เพิ่งเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ได้แค่เฟสแรก จำนวน 50 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนเฟสที่เหลือต้องหยุดชะงักไป ผลพวงมาจากสถานการณ์โควิด ผสมโรงกับสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา…ก็ไม่ซัคเซสอีกแล้วครับท่านนน
ไม่จบแค่นั้น…เพราะโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลที่จังหวัดซางะ ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตรวม 75 เมกะวัตต์ ซึ่ง ECF ได้เข้าไปศึกษาเพื่อจะเข้าลงทุนมาตั้งแต่ปีมะโว้ (2561) ก็ยังไม่แล้วเสร็จ…กระทั่งปลายปีที่แล้วบริษัทต้องตัดสินใจพับแผนการลงทุน
แต่ประเด็นสำคัญคือ ECF ได้จ่ายเงินค่ามัดจำก้อนโตจำนวน 100 ล้านบาท ไปแล้วนี่สิ…
เดิมทีเงินมัดจำก้อนนี้ ECF จ่ายให้กับ Nugen Power Company Limited ในฐานะผู้ขาย แต่ต่อมาถูกโอนสิทธิเงินมัดจำให้กับ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. ซึ่งถือหุ้นโดย “ศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์” เป็นผู้รับไปในปี 2562…ในขณะที่ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นผู้ขายหุ้นของบริษัท กรีนเอิร์ธพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด (GEP) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้ามินบูให้กับ ECF นั่นแหละ
ที่น่าตั้งข้อสังเกต แทนที่จะรีบทวงเงินค่ามัดจำคืนทั้งก้อนเพื่อนำไปแก้ปัญหาชีวิตของตัวเอง แต่ ECF กลับใจดี๊ใจดีให้ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. ทยอยผ่อนชำระคืนเงินภายใน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2568-2572 ในจำนวนปีละ 20 ล้านบาท…
แหม๊…ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่ดันทำตัวเป็นพ่อพระซะงั้น…
สะท้อนได้จากสถานะการเงินที่ง่อนแง่น ณ สิ้นปี 2567 มีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดติดกระเป๋าแค่ 5.76 ล้านบาท แต่มีส่วนของหนี้สินระยะยาวส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 918.86 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้หุ้นกู้ 879.41 ล้านบาท และหนี้อื่น ๆ อีก 39.45 ล้านบาท
เท่านั้นไม่พอ ยังมีประเด็นที่ถูกท้วงติงจากกรณีในปี 2564 ECF ได้ไปปล่อยกู้ให้กับ “ศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์” จำนวน 40 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 7.5% หรือดอกเบี้ยตกราวปีละ 3 ล้านบาท โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันซะด้วย…แต่ผ่านมาแล้ว 3 ปีกว่า “ศุภศิษฏ์” เพิ่งชำระดอกเบี้ยแค่ 3.50 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ วันที่ 31 มี.ค. 2568 มีมูลหนี้เงินต้นและภาระดอกเบี้ยรวมคงเหลือ 48.81 ล้านบาท
กลายเป็นว่า ECF เงินจมไปกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นและการปล่อยกู้ให้ “ศุภศิษฏ์” รวม 140 ล้านบาท…
ที่จริงภายใต้สถานการณ์การเงินคุกรุ่นอย่างนี้ หาก ECF ได้เงินคืนมาบางส่วนคงช่วยต่อลมหายใจได้เยอะเลย…แต่จากการประเมินสถานการณ์ยังไร้วี่แววจะได้เงินคืนในเร็ว ๆ นี้นะ..?? น่าหนักใจแทนจริง ๆ
ดีนะเนี่ยที่เพิ่งได้ไฟเขียวจากเจ้าหนี้หุ้นกู้ให้เลื่อนการชำระหุ้นกู้ 3 รุ่นออกไป ได้แก่ ECF246A, ECF256A และ ECF262A…ไม่งั้นคงดูไม่จืดกว่านี้
ก็หวัง ECF จะก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้…เอาใจช่วยละกัน
…อิ อิ อิ…