
ซื้อหุ้นเพื่อชาติ (จีน)
นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับขึ้น 1.04%, ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ปรับลดลง 1.51% และดัชนีหุ้น China A50 ปรับเพิ่มขึ้น 0.32%
นับตั้งแต่ต้นปี 2568 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ปรับขึ้น 1.04%, ตลาดหุ้นเซินเจิ้น ปรับลดลง 1.51% และดัชนีหุ้น China A50 (ตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่) หรือ A-share ปรับเพิ่มขึ้น 0.32% นั่นบ่งชี้ให้เห็นว่าตลาดหุ้นจีน มีเสถียรภาพค่อนข้างมาก แม้ถูกกดดันอย่างหนัก ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่เข้มข้น..!!
ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์และโบรกเกอร์จีนว่า ความสนใจของนักลงทุนรายย่อย กำลังมุ่งเป้าไปสู่หุ้นกลุ่มยุทธศาสตร์ของชาติอาทิ กลุ่มป้องกันประเทศ สินค้าอุปโภคบริโภคและเซมิคอนดักเตอร์ โดยพบว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าหุ้นกลุ่มนี้จำนวนมากช่วยบรรเทาความกังวลของรัฐบาลจีน ที่อยู่ระหว่างพยายามควบคุมผลกระทบ จากสงครามการค้ารอบใหม่ และรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงินภายในประเทศ
โดย Datayes ผู้ให้บริการข้อมูลการเงิน รายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 68 เป็นวันที่ตลาดหุ้นจีนร่วงลงหนัก ล่าสุดพบว่ามีเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนรายย่อยกว่า 45,000 ล้านหยวน เป็นการพลิกกลับจากช่วงก่อนหน้าที่มีการไหลออกต่อเนื่อง รวม 91,800 ล้านหยวน ก่อนถึงวันที่ 2 เม.ย. 68 ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศมาตรการ Reciprocal Tariffs ที่จีนเรียกว่า “การกลั่นแกล้ง”
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า “นักลงทุนจีนจำนวนหนึ่ง” เริ่มปรับแนวทางการลงทุนให้สอดรับมาตรการเด็ดขาดของภาครัฐ แม้บางรายอาจเพียงมองว่าเป็นโอกาสทางการเงินท่ามกลางความผันผวน
ขณะเดียวกันนักลงทุนสถาบันที่มีรัฐหนุนหลัง แสดงความมุ่งมั่นในการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติม โบรกเกอร์จีนรายใหญ่ให้คำมั่นว่าจะรักษาเสถียรภาพของตลาด ขณะที่บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ประกาศแผนซื้อหุ้นคืน ส่งผลให้ดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิต ฟื้นตัวจากระดับต่ำสุดรอบ 7 เดือน โดยเดือนเมษายนนี้ลดลงเพียง 0.83% เมื่อเทียบดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ร่วงลงประมาณ 8% ช่วงเวลาเดียวกัน
นอกจากนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น JD.com, Freshippo ของ Alibaba และเครือซูเปอร์มาร์เก็ต อย่าง CR Vanguard และ Yonghui Superstores ต่างเปิดโครงการสนับสนุนผู้ส่งออกในการปรับเป้าสู่ตลาดภายในประเทศเพื่อลดผลกระทบจากภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอีกว่า นักลงทุนจีนจำนวนหนึ่งประกาศถือหุ้นระยะยาว แม้เผชิญขาดทุน โดยบางรายไม่เคยลงทุนมาก่อนวันที่ 2 เม.ย. และบางรายถึงกับงดใช้สินค้าแบรนด์ตะวันตก อย่างเช่น Starbucks และ Nike
ส่วนตลาดตราสารหนี้มีความเคลื่อนไหวทิศทางเดียวกันโดยจีนสร้างสถิติใหม่ในตลาดพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจ เกิดใหม่ (EM) ช่วงเดือนเมษายน 2568 ด้วยการออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐและยูโร คิดเป็นสัดส่วน 49% ของการออกพันธบัตร EM ทั้งหมด