
เก่าไป…ใหม่มา ณ ทอท.
ช่วงนี้สปอตไลต์น่าจะสาดไปที่ AOT เนื่องจากมีกระแสข่าว “กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ชิงลาออกก่อนโดนปลดออกจากตำแหน่ง
เส้นทางนักลงทุน
ในช่วงนี้สปอตไลต์น่าจะสาดไปที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หรือ AOT เนื่องจากมีกระแสข่าว “กีรติ กิจมานะวัฒน์” กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ ชิงลาออกก่อนโดนปลดออกจากตำแหน่งด้วยสาเหตุทำงานไม่เข้าตาฝ่ายการเมือง
เรื่องนี้จะจริงเท็จอย่างไรยังไม่เป็นที่ประจักษ์ แต่หากเป็นจริงก็ถือว่า “กีรติ กิจมานะวัฒน์” มาเร็ว เคลมเร็ว เพราะเพิ่งจะเข้ามารับต่ำแหน่งได้ไม่นานมานี้ คือเมื่อวันที่ 23 เดือนเมษายน พ.ศ. 2566 ขณะที่ยังเหลือระยะเวลาอีกนานกว่าจะครบวาระในวันที่ 23 เดือนเมษายน พ.ศ. 2570
การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2568 นี้ หากกระแสข่าวดังกล่าวเป็นจริงก็น่าจะมีการยื่นหนังสือลาออกของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. เพื่อให้บอร์ดรับทราบ
ทางด้านการศึกษานั้น “กีรติ กิจมานะวัฒน์” จบวิศวกรรมศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต (การวางแผนระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่งมวลชน และการวางผังเมือง) มหาวิทยาลัยโตเกียว วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต (การวางแผนระบบโลจิสติกส์ ระบบขนส่งมวลชน และการวางผังเมือง) มหาวิทยาลัยโตเกียว วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต (โยธา) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะที่ ประวัติการทำงานเคยเป็นที่ปรึกษาสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน), ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท อินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จํากัด (มหาชน), ที่ปรึกษาประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จํากัด
ทอท. หรือ AOT ถือเป็นหนึ่งในหุ้น Top Pick ที่โบรกเกอร์ต่างแนะนำท่ามกลางสถานการณ์ที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัว แต่ราคาหุ้นบนกระดานกลับทรุดตัวลงอย่างมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะตลาดซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า สงครามภาษี ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกอยู่ระหว่างเร่งดำเนินเจรจากับสหรัฐฯ
ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT เคยปรับตัวขึ้นไปสูงสุดอยู่ที่ 67.50 บาท ต่ำสุดที่ 34 บาท และนับตั้งแต่ต้นปี 2568 ราคาหุ้นตัวนี้ติดลบไปแล้ว 36% ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ลดลงอย่างน่าใจหาย เพราะสูญไป 307,142.55 ล้านบาท จากสิ้นปี 2567 ที่ 849,999.15 ล้านบาท เหลือ 542,856.60 ล้านบาท
มีการประเมินกันว่าสาเหตุที่ทำให้ “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ไม่ได้ไปต่อในตำแหน่งกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ของทอท. หรือ AOT เนื่องจากปัญหา King Power ขาดสภาพคล่องและขอเลื่อนระยะเวลาการชำระออกไป
บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า มีสัญญาณดีขึ้นในส่วนการชำระค่าสัมปทานของ King Power ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาสภาพคล่องของกลุ่ม King Power ทำให้ต้องขอเลื่อนการชำระ Minimum Guarantee ให้กับ AOT แต่ไม่กระทบกับผลการดำเนินงานทางการเงินของ AOT โดย AOT ยังคงรับรู้รายได้จาก King Power เป็นลูกหนี้ค้างรับ (receivables) ซึ่ง AOT มีสิทธิ์เรียก bank guarantees และสามารถคิดค่าปรับ 9% ต่อปีจาก Minimum Guarantee ได้
ทั้งนี้ King Power Duty-Free Co., Ltd. หรือ KPD ได้รับการผ่อนผันให้เลื่อนการจ่าย Minimum Guarantee จากเดือนกันยายน 2567 ถึงเมษายน 2568 ในช่วงเวลา 18 เดือน แต่อย่างไรก็ตาม KPD จะต้องจ่าย AOT ตามสัญญาจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ในขณะที่จะมีการคิดดอกเบี้ยกับการชำระส่วนที่ล่าช้าด้วย
ในทำนองเดียวกัน King Power Suvarnabhumi Co., Ltd. หรือ KPS ก็ขอเลื่อนชำระเงิน จากเดือนกันยายน 2567 ถึงกุมภาพันธ์ 2568 ด้วยเช่นกัน แต่จากเดือนมีนาคมเป็นต้นมา KPS ต้องชำระตามกำหนด รวมดอกเบี้ยของส่วนที่ล่าช้าด้วย ซึ่งประเมินว่า KPS สามารถกลับมาจ่ายหนี้ในเดือนมีนาคมแล้วจากปัจจัยฤดูกาล จึงถือเป็นความคืบหน้าในเชิงบวกสำหรับประเด็นสภาพคล่อง
รวมทั้งยังคาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 2/2568 ของ AOT จะเพิ่มขึ้นทั้งในงวดเดียวกันปีก่อนและในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 5.94 พันล้านบาท เติบโต 2.7% และ 11.1% ตามลำดับ ขณะที่คาดประมาณการกำไรเต็มปีอยู่ที่ 2.08 หมื่นล้านบาท เติบโต 8.5% จากปีก่อน
โดยมีจำนวนผู้โดยสารที่ 34.79 ล้านคน ซึ่งโตขึ้น 7.6% และ 3.5% จากงวดปีก่อนและไตรมาสก่อน แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 21.48 ล้านคน และผู้โดยสารในประเทศ 13.31 ล้านคน ในขณะที่จำนวนเที่ยวบินจะอยู่ที่ 209,845 เที่ยว โต 11.1% และ 2.6% ตามลำดับ
ส่วนรายได้ของ AOT ทั้งปีน่าจะจบอยู่ที่ 1.88 หมื่นล้านบาท โต 2.8% และ 6.2% จากงวดปีก่อนและไตรมาสก่อน โดย EBIT margin จะอยู่ที่ 43.0% ลดลงจาก 44.0% ในงวดไตรมาส 2/2567 และ 41.4% ในไตรมาส 1/2568
ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานโดยรวมเติบโต เนื่องมาจากจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งคู่ในช่วงพีกของฤดูท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากอัตรากำไรเพิ่มขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด และไม่มีการบันทึกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในไตรมาสนี้
แม้จะมีการขอคืนพื้นที่เชิงพาณิชย์บางส่วนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 แต่จำนวนผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจะช่วยหนุนผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่การท่องเที่ยวแข็งแกร่งตามฤดูกาล
กระแสข่าวลือเรื่อง “กีรติ กิจมานะวัฒน์” ลาออก จะเป็นจริงหรือไม่???? ในวันที่ 23 เมษายน 2568 นี้ น่าจะได้รู้กัน แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ใคร???? จะเป็นคนที่เข้ามานั่งเก้าอี้กรรมการผู้อํานวยการใหญ่ของ AOT แทน
เนื่องจาก AOT มีโจทย์ที่ท้าทายสำหรับเป้าหมายใหญ่รออยู่ นั่นคือการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันรวมอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT-1) จะอยู่ที่ 60 ล้านคน เพื่อผลักดันให้เป็นสนามบิน Top 10 ของโลก ในด้านขนาดการรองรับของสนามบิน จากปัจจุบันอยู่ใน Top 30 ของโลก รวมถึงการผลักดันให้สนามบินสุวรรณภูมิติดอันดับ 1 ใน 20 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ภายใน 5 ปี คือปี 2572 จากอันดับที่ 58 ในปัจจุบัน
ทุกสิ่งย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นหาก “คนเก่า” ไป ก็จะต้องจับตาด้วยว่า…แล้วคนใหม่จะ “ว้าววว” หรือไม่