
‘ทรัมป์’ เสียงอ่อนลดภาษีจีน.!
ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากสหรัฐฯ” ประกาศจะทำตัวเป็นมิตรกับจีนระหว่างการเจรจาทางการค้าและสัญญาว่าจะลดภาษี
ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จากสหรัฐฯ” ประกาศจะทำตัวเป็นมิตรกับจีนระหว่างการเจรจาทางการค้าและสัญญาว่าจะลดภาษี บนเงื่อนไขว่าทั้ง 2 ฝ่าย สามารถหาข้อตกลงร่วมกัน ถือเป็นสัญญาณแสดงถึงการอ่อนข้อที่มีต่อจีน ท่ามกลางความปั่นป่วนทั้งตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ ตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลก
“ทรัมป์” ระบุว่า จะทำการลดภาษีที่เก็บกับจีนอย่างมาก แต่จะไม่ลดลงถึงศูนย์ และทั้งอเมริกา และจีนจะทำตัวเป็นมิตรต่อกันและกัน เพื่อดูว่าจะเกิดพัฒนาการอะไรบ้างจากการพบปะที่จะเกิดขึ้น โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเล่นไม้แข็งและสัญญาว่าจะไม่พูดถึงเรื่องโควิด-19 ระหว่างการเจรจา
ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลสหรัฐฯ เผยแพร่เว็บไซต์ระบุว่าโรคโควิด-19 มีแหล่งกำเนิดมาจากห้องวิจัยในจีน ส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการฑูตทั้ง 2 ประเทศ
แถลงการณ์ดังกล่าว มีขึ้นหลังรัฐมนตรีการคลัง “สก็อตต์ เบสเซนต์” แสดงความเห็นว่า การยืนกรานทั้งสองฝ่ายนั้น ไม่ยั่งยืนและเกิดขึ้นช่วงระหว่างที่หุ้นและพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความผันผวน อันเกิดหลังจากการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์กับเหล่าคู่ค้าของประเทศ โดย “จีน” ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าอัตรา 145% ยกเว้นแต่ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีความนิยมสูง
“อลิเซีย การ์เซีย-เอร์เรโร” นักเศรษฐศาสตร์ด้านเอเชียแปซิฟิกสถาบันการเงิน Natixis ระบุว่า ทรัมป์ กำลังกังวลเนื่องจากตลาดหุ้นปรับลงอย่างหนักและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังสูง ทำให้ต้องรีบหาข้อตกลงโดยเร็ว ส่วนทางจีนนั้น ไม่จำเป็นต้องให้ข้อเสนอใหญ่ ๆ ในช่วงสถานการณ์นี้
หลังการประกาศอย่างเป็นมิตรของทรัมป์ ทางจีนยังไม่มีท่าทีตอบกลับใด ๆ แต่สำนักงานข่าว Cailian ของจีน รายงานว่า นี่เป็นสัญญาณการอ่อนข้อลงของทรัมป์ ที่มีต่อนโยบายภาษีและหุ้นของจีนปรับตัวขึ้น เนื่องจากมีสัญญาณการอ่อนตัวลงของความตึงเครียด
“เบสเซนต์” ระบุว่าทั้ง 2 ประเทศ จะหาวิธีลดความขัดแย้งเร็ว ๆ นี้ และสหรัฐฯ ไม่มีแผนจะตัดความสัมพันธ์กับจีน อย่างไรก็ตาม การที่สองประเทศจะหาข้อตกลงที่ครอบคลุมอาจใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี
“จีนบีบเหล่าผู้บริโภคตัวเองและหันไปเน้นการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยใช้ผลประโยชน์จากสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นข้อตกลงใด ๆ ที่จะมีขึ้นจะต้องสร้างสมดุลการค้า โดยให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น”
ข้อมูลจากสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (BEA) ปี 2567 ระบุว่า 10 ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ ประกอบด้วย 1)จีน 295,400 ล้านดอลลาร์ 2)สหภาพยุโรป (EU-27) 235.6 พันล้านดอลลาร์ 3)เม็กซิโก 171,800 ล้านดอลลาร์
4)เวียดนาม 123,500 ล้านดอลลาร์ 5)ไอร์แลนด์ 86,700 ล้านดอลลาร์ 6)เยอรมนี 84,800 ล้านดอลลาร์ 7)ไต้หวัน 73,900 ล้านดอลลาร์ 8)ญี่ปุ่น 68,500 ล้านดอลลาร์ 9)เกาหลีใต้ 66,000 ล้านดอลลาร์ 10)แคนาดา 63,300 ล้านดอลลาร์
ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการเจรจาหารือกันอย่างเป็นทางการอะไรก็เกิดขึ้นได้ ว่าแต่ท่าที “ทรัมป์” ลดความแข็งกร้าวไม่น้อยเลยทีเดียว..!??