พาราสาวะถี อรชุน

สองเนติบริกรจากฝ่ายรัฐบาลและกรธ.คุยกัน (ความจริงแล้วควรเรียกว่ามือกฎหมายประจำคสช.ทั้งคู่) สาระสำคัญคือข้อเสนอ 16 ข้อโดยเฉพาะข้อ 16 ของครม. วิษณุ เครืองาม ยืนยันไม่ใช่ข้อบังคับที่จะต้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำตาม ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ย้ำอะไรที่บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ก็จะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล


สองเนติบริกรจากฝ่ายรัฐบาลและกรธ.คุยกัน (ความจริงแล้วควรเรียกว่ามือกฎหมายประจำคสช.ทั้งคู่)  สาระสำคัญคือข้อเสนอ 16 ข้อโดยเฉพาะข้อ 16 ของครม. วิษณุ เครืองาม ยืนยันไม่ใช่ข้อบังคับที่จะต้องให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำตาม ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็ย้ำอะไรที่บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ก็จะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล

สรุปแล้วที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการเขียนเพื่อให้คสช.มีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ฟังจากการยืนยันของมีชัยไม่รู้ว่าจะเชื่อได้ขนาดไหน เพราะประธานกรธ.ระบุ ไม่มี ทุกคนต้องไปหมด แต่พอถามว่าในบทเฉพาะกาลจะไม่มีการบัญญัติให้คสช.แปลงร่างมาในรูปแบบองค์กรพิเศษหรือรูปแบบคณะกรรมการ คำตอบที่ได้ไม่หนักแน่นบอกเพียงแค่ว่า ไม่น่าจะมี

ยังคงต้องตีความและเฝ้ารอดูหน้าตาร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์กันต่อไป แต่ถ้าให้ถอดรหัสจากข้อเสนอของครม.ตามมาด้วยคำอธิบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าด้วยเงื่อนเวลาเปลี่ยนผ่าน 5 ปี คำถามที่ตามมาก่อนอย่างแรกคงหนีไม่พ้น ช่วง 5 ปีดังว่านั้น จะเริ่มต้นในห้วงเวลาใด ตรงไหน แล้วจะไปสิ้นสุดการบรรลุเป้าหมายอย่างไร

หากพิจารณาจากช่วงการเปลี่ยนผ่านตามเนื้อหาสาระของข้อ 16 ซึ่งมีการระบุขอบเขตความจำเป็นตั้งแต่ภายหลังใช้รัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งไปจนถึงเงื่อนเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมื่อนำเงื่อนเวลา 5 ปีของ พลเอกประยุทธ์ไปเชื่อมต่อ จึงปรากฏสถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่านได้ครอบคลุมไปถึงรัฐบาลใหม่ที่มีวาระ 4 ปีด้วย

นั่นหมายความว่า เมื่อนับรวมช่วงเวลาของการอยู่ในอำนาจนับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 บวกเข้าไปกับห้วงระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเริ่มมีผลบังคับใช้ จะส่งผลให้คสช.พร้อมองคาพยพทั้งหลายทั้งปวง นั่งอยู่ในอำนาจเกือบ 8 ปี นี่หรือเปล่าที่ทำให้โหรคมช.กล้าฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแหกว่าบิ๊กตู่จะนั่งบริหารประเทศไปอีกยาวนาน

ถอดรหัสมาถึงตรงนี้ จึงพบว่า ท่วงทำนองของบิ๊กตู่และข้อเสนอของครม.ต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีนัยสำคัญว่า มีความเชื่อมั่นกันอย่างเต็มที่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ โดยที่อำนาจของคสช.ก็จะปรับตัวไปสู่รูปแบบของการเป็นรัฐบาลใหม่ที่มีส่วนผสมของพรรคการเมืองจากการเลือกตั้งด้วย โดยคนนอกจะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจหมายถึงพลเอกประยุทธ์หรือไม่ก็เป็นคนในคสช.นั่นแหละ ซึ่งแทบจะไม่ต้องคาดเดาว่าหมายถึงใคร

หากข้อเสนอดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย นี่ก็จะเป็นบทพิสูจน์ของการประกาศความเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ม็อบกปปส.เคยใช้เป็นเครื่องมือปลุกระดมก่อนหน้ารัฐประหาร แน่นอนว่า ถ้าเป็นสูตรนี้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่จะเข้ามาร่วมสังฆกรรมกับเผด็จการแปรสภาพ ย่อมหนีไม่พ้นพรรคที่ผูกพันและร่วมกันกับม็อบล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อนหน้านั้น

สิ่งสำคัญมากไปกว่านั้น การแปรสภาพของอำนาจคสช.เพื่อเข้าสมสู่กับรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง เมื่อมีการละเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา มีการจับตาว่าน่าจะมีการเว้นมาตราที่ว่าด้วยที่มาและบทบาทของวุฒิสภาด้วย เพราะเงื่อนเวลา 5 ปีนั้นมันสอดรับกับข้อเรียกร้องของสนช.บางกลุ่มบางรายก่อนหน้าที่เสนอให้กรธ.บัญญัติให้ส.ว.มาจากการลากตั้งอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลา 5 ปี

เหตุที่จะต้องให้มีส.ว.ลากตั้ง ก็เพื่อให้มาเป็นหลักประกันทางอำนาจและฐานเสียงคอยปกป้องรัฐบาล แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นภารกิจหลักที่จะต้องให้ส.ว.ลากตั้งทำหน้าที่คือ การออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการกำหนดบทบาทหน้าที่สำคัญเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้คือ ให้ส.ว.มีสิทธิ์ที่จะอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีได้ด้วย

สูตรสำเร็จทางการเมืองในลักษณะนี้ หนีไม่พ้นแนวทางประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคปี 2521-2531 ซึ่งมีชัยก็ร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย สรุปรวมความก็คือไม่ว่าจะปรับแก้อย่างไร เป้าหมายสุดท้ายก็หนีไม่พ้นที่การปกครองยังจะเป็นของกลุ่มอำนาจสืบทอดที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยอยู่ดี ส่วนที่มองว่าได้จัดให้มีการเลือกตั้งแล้วนั้น ก็เป็นเพียงแค่ส่วนประกอบหนึ่งเพื่อไว้อ้างอิงกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยสากลที่จะตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น

ปัญหาสารพัดสารพันที่ทับถมรัฐบาลเวลานี้ ยุทธวิธีที่ท่านผู้นำงัดมาใช้คืองดจ้อและตอบโต้แบบดุเด็ดเผ็ดมันเหมือนที่ผ่านมา พอจะช่วยประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้ย่ำแย่หรือเลวร้ายลงไปได้บ้าง ที่ยังหาทางออกไม่ได้และไม่รู้จะปีนบันไดลงทางไหน คงเป็นกรณีการแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ ที่ยังคาราคาซังอยู่เวลานี้

เมื่อมติของมหาเถรสมาคมเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์หรือสมเด็จช่วง วรปุญโญ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ แต่คนในรัฐบาลเห็นว่ามีปัญหาขัดแย้งอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของพุทธะอิสระ พร้อมจี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสะสางคดีความที่มีชื่อของสมเด็จช่วงเข้าไปเกี่ยวข้อง ชนิดเร็วจี๋ทั้งที่ปล่อยให้ค้างเติ่งกันมานาน

เป็นการดีที่จะสังคายนากันให้เรียบร้อย แต่หลายคนก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่ามันจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวแล้วขยายวงบานปลายหรือเปล่า เพราะพระรูปหนึ่งเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระแต่พระอีกกลุ่มถูกดำเนินคดี นี่แหละคือบรรทัดฐานการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจ จะอ้างอย่างไรก็หนีไม่พ้นเพราะพระรูปหนึ่งดันมีรูปเจิมหน้าผากให้ผู้ยิ่งใหญ่ในเวลานี้อย่างสนิทสนมทั้ง 3 คน

หากยึดทางโลกก็คงจะคิดกันหนัก ถ้าเช่นนั้นคงต้องอาศัยข้อคิดทางธรรมมาข่มความไม่เข้าใจเอาไว้ มองไปยังความเคลื่อนไหวของพระแล้วก็คิดเสียว่า ใครใฝ่สูงก็ได้อยู่ที่สูง ตำแหน่งสูง แต่ถ้าใฝ่ต่ำก็ต้องอยู่ที่ต่ำๆ ไม่สามารถดำรงตนอยู่สูงได้ เหมือนอย่างที่พระพยอมเทศนาสอนลูกศิษย์ลูกหาเรื่องของพระไว้ว่า เราต้องอยู่อย่างสูง จิตใจต้องสูงถึงจะภูมิใจในความเป็นนักบวชผู้สืบทอดศาสนา ส่วนใครที่ไม่ได้ปฏิบัติกิจของสงฆ์จะเรียกตนว่าเป็นอะไรมันก็เป็นได้แค่พวกโล้นห่มผ้าเหลืองเท่านั้น

Back to top button