พาราสาวะถี อรชุน

ถอดรหัสการเมืองว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ผนวกเข้าไปด้วย 16 ข้อเสนอของครม.และคำอธิบายงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะสะท้อนแนวคิดและมุมมองของคณะรัฐประหารและบรรดาเนติบริกรได้เป็นอย่างดีว่า กองทัพคือผู้เสียสละและความเห็นแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยเป็นความไม่สงบ จึงต้องเปลี่ยนให้ทุกอย่างเรียบร้อยราบคาบ


ถอดรหัสการเมืองว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ผนวกเข้าไปด้วย 16 ข้อเสนอของครม.และคำอธิบายงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราในระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าจะสะท้อนแนวคิดและมุมมองของคณะรัฐประหารและบรรดาเนติบริกรได้เป็นอย่างดีว่า กองทัพคือผู้เสียสละและความเห็นแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยเป็นความไม่สงบ จึงต้องเปลี่ยนให้ทุกอย่างเรียบร้อยราบคาบ

การยึดอำนาจไม่ว่าจะคณะใดสมัยใด ล้วนอ้างการแสดงความรัก ความห่วงใยต่อประชาชน มีอคติกับนักการเมืองด้วยข้อกล่าวหาเป็นพวกไม่เอาอ่าว ไร้ความสุจริตชอบธรรม เป็นพวกแสวงหาแต่ประโยชน์ ซ่อนกลโกง คงมีแต่นักยึดอำนาจเท่านั้นที่สะอาดสุจริต เป็นผู้นำพาประเทศไปสู่อนาคตที่จะเต็มไปด้วยความมั่นคง เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 

ประการต่อมาในระยะสุดท้ายของคณะยึดอำนาจมักจะปรากฏวาทกรรมสังคมเปลี่ยนผ่าน เพื่อนำมาสร้างความชอบธรรมให้กับการไม่ยอมปล่อยวางอำนาจ ดังนั้น การประกาศของดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเต็มไปด้วยคำถาม ปุจฉาที่สำคัญคือ ห้วงระยะเวลาที่ประกาศมานั้น มันสวนทางกับสัญญาขอเวลาอีกไม่นานหรือเปล่า

จากท่วงทำนองดังกล่าว การตั้งข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญของ ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น่าจะพอช่วยอธิบายภาพบางสิ่งบางอย่างได้ชัดเจนในระดับหนึ่ง เริ่มต้นที่กระบวนการซึ่งมองว่า การมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยมากและผู้ร่วมร่างก็ไม่ได้เป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่

เมื่อเป็นเช่นนั้นผลลัพธ์ที่ได้ชี้ว่า ตามหลักรัฐศาสตร์ รัฐธรรมนูญมีขึ้นเพื่อกำหนดกรอบความสัมพันธ์เชิงอำนาจของคนในสังคม เมื่อร่างรัฐธรรมนูญออกมามีรายละเอียดซับซ้อน จึงมีการตั้งคำถามว่า จะเปิดโอกาสให้มีการต่อรองในทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน เพราะเหมือนว่าจะเขียนไว้เรียบร้อย ไม่มีพื้นที่ให้ตีความได้อีก

นอกจากนี้ ในหมวดหน้าที่ของรัฐ พบว่าทำให้รัฐมีขนาดใหญ่ อำนาจถูกถ่ายเทจากประชาชนสู่ตัวของรัฐ และมีความย้อนแย้ง อาทิ การกำหนดให้หน้าที่รัฐคือการรักษาวินัยทางการเงินการคลัง ซึ่งเรื่องนี้คลุมเครือในตัวเอง ถามว่าเท่ากับห้ามรัฐขาดดุลหรือไม่ ขณะที่รัฐต้องทำหน้าที่จำนวนมาก อาจทำให้ต้องขาดดุลทางการคลัง ถามว่าแล้วรัฐจะต้องเลือกแบบไหน

อีกประเด็นที่พบซ้ำๆ ในหลายจุดคือ การใช้ถ้อยคำอย่าง “ความมั่นคงของรัฐ” “ความสงบเรียบร้อย” “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” กรณีความมั่นคงของรัฐอาจพอเข้าใจได้เพราะเป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญหลายประเทศก็ระบุไว้ แต่ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี นั้นมีความเป็นอัตวิสัยพอสมควร เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความไม่ไว้วางใจที่เกิดขึ้นสูงระหว่างผู้ร่างรัฐธรรมนูญกับประชาชน และประชาชนกับนักการเมือง เป็นเพราะมีความไม่สมดุลของอำนาจอย่างมาก ประชาชนถูกควบคุม เสียงผู้มีอำนาจดังกว่า ฝ่ายร่างได้เวลาออนแอร์มากกว่าฝ่ายวิพากษ์ ทั้งยังมีเสียงขู่ว่าไม่รับร่างจะไม่ได้เลือกตั้ง และบอกว่านักวิชาการไม่ควรวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะเกิดความวุ่นวาย ภาวะเช่นนี้ไม่เอื้อให้เกิดการประชามติที่มีคุณภาพได้

ทั้งที่ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับกันก็คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองจะแก้ได้ดีที่สุดด้วยการใช้การเมืองในการแก้ไข ต่อรองผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่กลับมีกลุ่มกลุ่มหนึ่งขึ้นมาออกกฎเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้ ความเห็นต่างไม่ถูกปะทะสังสรรค์ สิ่งที่ควรทำขณะนี้คือ ควรมีพื้นที่ให้พูดและเห็นต่างได้มากขึ้น แต่หากถามว่าทำได้แค่ไหน สภาพวันนี้ทำให้เห็นแล้วว่าเราทำไม่ได้

ขณะที่ ยุทธพร อิสรชัย จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ชี้ว่า หลักการร่างรัฐธรรมนูญในระดับสากล ประกอบด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ และของรัฐสภาจากการเลือกตั้ง แต่ฉบับมีชัยข้อสุดท้ายทำไม่ได้ เพราะแม้จะมีการให้สปท.และสนช.ให้ความเห็น แต่องค์กรเหล่านี้ก็ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง

ดังนั้น ก่อนการประชามติ สิ่งที่จะทำได้คือ การทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญนี้และปรับแก้ในส่วนที่เป็นปัญหา เพื่อไม่ให้ประชามติที่จะเกิดขึ้นเป็นประชามติบนความว่างเปล่า สอดรับกับความเห็นของ โคทม อารียา อดีตกกต.ที่ย้ำว่า ก่อนประชามติ รัฐบาลควรดำเนินการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างเพียงพอและเปิดให้ฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วยเข้าถึงระบบสื่อสารของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมเปิดเวทีให้ทุกภาคส่วนได้ถกแถลง

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเสนอให้ถามประชาชนในการลงประชามติสองประเด็นคือ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และหากไม่รับควรทำอย่างไร เช่น จะนำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาทำให้เป็นปัจจุบันและประกาศใช้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เป็นต้น แต่คงเป็นเช่นนั้นยาก เพราะมองจากเจตนารมณ์ของกรธ.แล้วจะพบว่า ไม่ได้เชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนแม้แต่น้อย

โดย ปกรณ์ อารีกุล นักกิจกรรม มองว่า นอกจากไม่เชื่อมั่นแล้ว ยังได้ทำลายความตื่นตัวด้านประชาธิปไตยของประชาชนที่ทุกฝ่ายออกมาตรวจสอบ โดยให้มีองค์กรต่างๆ มาควบคุมดูแลซ้อนรัฐอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งต้องทบทวนว่าสุดท้ายแล้วกรธ.อยากให้มีการปกครองแบบตัวแทนหรือไม่ แต่เหนือสิ่งอื่นใดตราบใดที่มียังมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว บรรยากาศการแลกเปลี่ยนจะไม่มีทางเกิดขึ้น

ข้อเสนอของปกรณ์นั้นเป็นสิ่งที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้นแต่คงเป็นไปได้ยาก นั่นก็คือ หากจะทำให้การลงประชามติในเดือนกรกฎาคมนี้ไม่ว่างเปล่าต้องยกเลิกมาตรา 44 เพราะนอกจากไม่เลิกแล้วยังบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาลให้อำนาจดังกล่าวมีผลไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ มิหนำซ้ำ ข้อเสนอของครม.และบทสัมภาษณ์ของท่านผู้นำน่าจะเป็นการตอกย้ำได้อย่างดีว่า ผู้มีอำนาจต้องการจะลงจากอำนาจเพื่อแตะมือให้กับผู้ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า

Back to top button