ทิ้ง …ก่อนถูกทิ้งแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY เคยได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดในธุรกิจบันเทิงเมื่อทศวรรษก่อน แต่ยามนี้ สัมผัสมหัศจรรย์ของอากู๋ที่เคยแตะอะไรก็เป็นกำไรไปหมด ลดความขลังไปกว่าเดิมมาก ถึงขั้นต้องปรับกลยุทธ์และยุทธศาสตร์กันอุตลุด
อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม แห่งบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GRAMMY เคยได้ชื่อว่าเป็นพ่อมดในธุรกิจบันเทิงเมื่อทศวรรษก่อน แต่ยามนี้ สัมผัสมหัศจรรย์ของอากู๋ที่เคยแตะอะไรก็เป็นกำไรไปหมด ลดความขลังไปกว่าเดิมมาก ถึงขั้นต้องปรับกลยุทธ์และยุทธศาสตร์กันอุตลุด
การถดถอยของกำไร ทำให้มีข่าวลือปนตลกที่ว่า ยามนี้ พนักงานระดับบริหารของค่ายนี้ หลบลี้หนีหน้าอากู๋ จ้าละหวั่น เพราะเกรงว่า จะถูกอากู๋ชักชวนซื้อหุ้นเพิ่มทุน GRAMMY ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ระดับใต้ 8.00 บาท…ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน…แม้จะสะท้อนอารมณ์ของบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่องได้ดีก็ตาม
จากความมั่นใจเกินร้อย เมื่อ 3 ปีก่อนที่กระโดดเข้าสู่ธุรกิจทีวีดาวเทียม และตามมาด้วยสื่อดิจิตอล ผลประกอบการของ GRAMMY ปรากฏตัวเลขขาดทุนสุทธิต่อเนื่อง จนกระทั่งต้องเพิ่มเพิ่มทุนตั้งแต่ ปี 2556 จนถึงปีล่าสุด ปีละครั้ง จนกระทั่งทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจาก 530.26 ล้านบาทในปี 2555 มาเป็น 819.95 ล้านบาท ในปี 2558
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 GRAMMY มีรายงานตัวเลขกำไรสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปีที่ระดับ 143.05 ล้านบาท แม้เป็นกำไรพิเศษมากกว่ากำไรจากการดำเนินงานที่ยังย่ำแย่ต่อไป แต่ยังดีที่มีกำไร แต่เมื่องบการเงินงวดสิ้นปีมีตัวเลขออกมาเหมือนเดิมคือขาดทุน 1,135.23 ล้านบาท แม้จะขาดทุนลดลงจากเดิมที่ระดับ 2,345.37 ล้านบาท แต่รายละเอียดของงบการเงินมีเรื่องราวน่าสนใจไม่น้อย
ในเชิงรายได้ GRAMMY มีรายได้จากการดำเนินงานปกติลดลง (ยกเว้นรายได้จากบริษัทในเครืออย่าง O Shopping และรายได้จากค่าลิขสิทธิ์เพลงจากการที่มีคนนำเพลงไปร้องหรือเปิด ที่โดดเด่น) แต่กลับมีรายได้หลักจากกำไรพิเศษ 4 ทางคือ กำไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยขายเงินลงทุนในบริษัทร่วมค้า ขายเงินลงทุนระยะยาว และการสูญเสียการควบคุมในบริษัทย่อย (ทั้ง 4 รายการพิเศษนี้ มีรายได้เข้ามามากถึง 959.40 ล้านบาท)
อีกด้านหนึ่ง รายจ่ายของบริษัทโดยรวมก็ลดลง แต่รายจ่ายจากการขายทุนจากการด้อยค่าของเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ที่มากถึง 1,030.34 ล้านบาท ก็เป็นแรงกดดันเช่นกัน
ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนถึงการลงทุนกระจายธุรกิจที่ผ่านมาล้มเหลว และผู้บริหารกำลังพยายามปรับกระบวนใหม่อย่างจริงจังในลักษณะ “เสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต” ซึ่งการปรับกระบวนนี้ ต้องผ่านความเจ็บปวดที่เลี่ยงไม่พ้น
หนึ่งในความเจ็บปวดคือ การปลดพนักงานในแผนกงานที่ขาดทุนออกเพื่อลดต้นทุน เพราะหลักการนี้ สอดรับกับแนวทาง creative destruction อย่างเหมาะเจาะ..ชอบไม่ชอบก็ต้องทำ
การปรับลดพนักงานล่าสุด ที่เคยทำงานในธุรกิจเพลง ซึ่งบางแผนกไม่มีฟังก์ชั่นงานในปัจจุบัน เช่น งานโปรโมตเพลง, กลุ่มงานแต่งเพลง ให้เหมาะสมกับการทำงานลง 80 คน คิดเป็น 10% จากทั้งหมด 800 คน รวมถึงพนักงานที่เกษียณอายุ และบางแผนกที่ไม่มีการปฏิบัติงานในธุรกิจเพลงปัจจุบัน โดยบริษัทจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามอายุการทำงาน บวกค่าเลิกจ้างอีก 3 เดือน ก็เป็นการลาจากอย่างธรรมาภิบาล
การลดจำนวน พนักงานที่แผนกไม่จำเป็น แล้วไปเพิ่มแผนกที่จำเป็นใหม่ตามยุทธศาสตร์ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีธุรกิจทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่อง ที่รายได้เติบโตเท่าตัวในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ต้องมุ่งใช้เงินลงทุนด้านนี้อีกกว่า 3,000 ล้านบาท ตามที่เคยประเมินว่า จะคุ้มทุนภายใน 5 ปี และเริ่มเห็นกำไรในปีที่ 6 จากระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี
เดิมพันครั้งใหม่นี้ ทำให้การทิ้งพนักงาน รวมทั้งทิ้งมิตรรักแฟนเพลงรุ่นเก่า กลายเป็นทิศทางที่ต้องผ่านไปให้ได้
ทิ้ง ก่อนที่จะถูกทิ้ง เป็นกติกาของ GRAMMY วันนี้
ยามนี้ คนอย่างอากู๋ แห่ง GRAMMY ที่เคยยิ่งใหญ่คับวงการเพลงและบันเทิง คงได้ตระหนักคำพูดเก่าแก่ที่ว่า “ยามสุข จะทยอยเข้ามา แต่ยามทุกข์ มันจะถาโถมเข้ามาเป็นชุดใหญ่”…ชัดเจนยิ่งขึ้น…