ก้าวย่างที่สวนทางกันพลวัต 2016

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยคึกคักมากเป็นพิเศษ มูลค่าซื้อขายประจำวันมากถึง 6.88 หมื่นล้านบาท แต่หุ้นที่วิ่งขึ้นดันดัชนีบวกแรงเกือบ 20 จุด เป็นหุ้นใหญ่เกือบทั้งหมด หุ้นกลางและเล็กขึ้นประปราย บางรายปักหัวดิ่งลงโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานอะไรเลย


วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นไทยคึกคักมากเป็นพิเศษ มูลค่าซื้อขายประจำวันมากถึง 6.88 หมื่นล้านบาท แต่หุ้นที่วิ่งขึ้นดันดัชนีบวกแรงเกือบ 20 จุด เป็นหุ้นใหญ่เกือบทั้งหมด หุ้นกลางและเล็กขึ้นประปราย บางรายปักหัวดิ่งลงโดยไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยพื้นฐานอะไรเลย

ต่างชาติ กองทุน และพอร์ตโบรกเกอร์ เป็นผู้ซื้อสุทธิทั้งหมด มีรายย่อยกลุ่มเดียวที่ขายสุทธิ แต่ในตลาดอนุพันธ์ล่วงหน้า กองทุนกลายเป็นนกรู้ที่ระวังตัวเพราะสัญญาณดัชนีเข้าเขตซื้อมากเกินชัดเจน ทำการเปิดสถานะชอร์ตสุทธิ มากกว่า 4.6 พันสัญญา ส่วนหนึ่งเพราะดัชนีเศรษฐกิจไทยและเอเชียไม่สวยเลย

ในกรณีของไทย กระทรวงพาณิชย์ประกาศตัวเลขเงินเฟ้อติดลบอีกครั้งเป็นเดือนที่ 14 ต่อเนื่องกัน แม้จะยังไม่เข้าเขตเงินฝืด แต่ก็ใกล้เต็มทีเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาของภัยแล้งตั้งแต่เดือนนี้ไป ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อผู้บริโภคในเขตภัยแล้ง

ที่จีน และญี่ปุ่นก็มีข่าวร้ายไม่แพ้กัน แม้ว่าอาจจะดูไกลตัว แต่ก็มีผลรุนแรงได้หากเมินเฉยเพราะประมาท

เช้าวานนี้ ขณะที่ตลาดหุ้นจีนกำลังวิ่งบวกแรงเพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน แต่กลับมีรายงานจาก บริษัทเรตติ้งระดับโลกอย่าง มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของจีน ลงสู่ “เชิงลบ” จากเดิม “มีเสถียรภาพ

มูดี้ส์ระบุถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับศักยภาพของทางการจีนในการปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมทั้งหนี้สินของรัฐบาลที่สูงขึ้น และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลง

มูดี้ส์ระบุว่า หากจีนไม่ดำเนินการปฏิรูปอย่างน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนชะลอตัวลงอีก ขณะที่ภาระหนี้สินที่สูงขึ้นสู่ระดับที่มากถึง 247% ของจีดีพีได้บั่นทอนการลงทุนในภาคธุรกิจ สถานการณ์เหล่านี้อาจส่งผลให้หนี้สินของรัฐบาลปรับตัวขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน

มูดี้ส์คาดว่าความแข็งแกร่งด้านการคลังของจีนจะอ่อนแรงลง และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศร่อยหรอลงรุนแรงมากถึง 7.62 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เกิดจากความล่าช้าในการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ และ การไหลออกของทุนในประเทศผ่านหลายช่องทางในลักษณะ แครี่เทรดย้อนศร แม้ว่าทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่จำนวนมาก จะยังช่วยให้จีนมีเวลาดำเนินการปฏิรูป และปรับสมดุลทางเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป

มูดี้ส์ เตือนว่า การที่จีนไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่จีนมีความเสี่ยงถูกสั่นคลอน ซึงต้องการส่งสัญญาณเตือนไปยังผู้นำจีนที่กำลังจะประชุมในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ 5 ปีข้างหน้า

การปรับลดอันดับเครดิตโดยมูดี้ส์ สอดรับในทางเดียวกับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือIระดับโลกอีกรายคือ S&P ที่ระบุเช่นกันว่า การลดข้อกำหนด RRR หรือ สัดส่วนสำรองของธนาคารพาณิชย์จีนในการปล่อยกู้ คือการเปิด”กล่องแพนโดร่า” เพราะว่า ปัญหานี้สินใหม่ (เฉพาะในเดือนมกราคม) ที่พุ่งขึ้นมากถึง 5.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 3.42 ล้านล้านหยวน จะถูกเพิ่มขึ้นอีกจากนี้ไป ด้วยสินเชื่อระลอกใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 283% ของจีดีพี.เมื่อสิ้นปีนี้ เพิ่มความเสี่ยงจนกลายเป็นวิกฤตหนี้ในอนาคตอันใกล้ได้

ส่วนญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ ดัชนีนิกเกอิ ของตลาดหุ้นโตเกียว พุ่งแรงกว่า 660 จุด ก็มีข่าวร้ายแทรกเข้ามารออยู่ข้างหน้าเช่นกัน โดย S&P เปิดเผยว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มน่าวิตก แม้ในอนาคตรัฐบาลญี่ปุ่นอาจมีการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติม เนื่องจากแต่มีปัญหาด้านหน้าสาธารณะที่อาจะโผล่กลับมารุนแรงได้อยู่แล้ว

S&P ระบุว่า ความพยายามของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยุติภาวะเงินฝืด ไม่มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เหตุผลก็เพราะ สถานการณ์คลังของญี่ปุ่น (ที่ล้มเหลวในการเพิ่มภาษีมากขึ้นตามแผนการเมื่อปลายปี 2557) ถือว่าย่ำแย่ที่สุดในชาติอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีหนี้สาธารณะสูงกว่า 200% ของตัวเลขจีดีพี

S&P เตือนว่า หากสัญญาณว่าภาระหนี้ของรัฐบาลญี่ปุ่น จะพุ่งขึ้นมากกว่าที่คาดไว้ โดยที่เป็นผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และแนวโน้มของราคาที่ย่ำแย่ลง ก็อาจจะมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นอีก โดยเฉพากรณีที่จะล้มเหลวในการขับเคลื่อนมาตรการปรับเพิ่มภาษีบริโภคเป็น 10% ในเดือนเมษายนปีหน้า ซึ่งคาดว่าอาจช่วยเพิ่มรายได้พร้อมลดภาระหนี้สินของประเทศ หลังจากที่เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา S&P ได้ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของญี่ปุ่นลง 1 ขั้น สู่ระดับ A+ จาก AA- โดยแนวโน้มมีเสถียรภาพ หลังจากที่ปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจสำหรับอันดับความน่าเชื่อถือของญี่ปุ่นได้อ่อนแอลง

 

คำเตือนดังกล่าวเกิดขึ้นพร้อมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุสถิติล่าสุดในปี 2558 ว่า มูลค่าการค้าโลกได้ชะลอตัวลงอย่างหนักในกลุ่ม G20 ทุกประเทศ โดยมีการส่งออกลดลง 11.3% ขณะที่นำเข้าลดลง 13.0% โดยซาอุดิอาระเบียมียอดส่งออกร่วงลงหนักสุด ขณะที่รัสเซียมียอดนำเข้าลดลงมากสุด เมื่อรวมกันแล้วลดลงรวมกันกว่า 35%

ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ทำให้อนาคตค่อนข้างมัวหม่น สวนทางกับทิศทางขาขึ้นชั่วคราวยามนี้ของตลาดหุ้นทั่วโลกยิ่งนัก คำถามคือ ตลาดหุ้นจะฝืนธรรมชาติไปได้ยาวนานแค่ไหน และหากปรับตัวลง จะรุนแรงแค่ไหน เป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่ง 

Back to top button