พาราสาวะถี อรชุน
ตั้งใจว่าจะไม่เขียนถึงกรณีสมาคมวิชาชีพเรียกร้องความรับผิดชอบจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา อีกแล้ว หลังเจ้าตัวโบกมืออำลาหน้าจอชั่วคราว แต่บังเอิญช่วงสุดสัปดาห์มีความเห็นของผู้คนหลากหลายโดยเฉพาะ 2 รายที่ถือว่าเป็นระดับดอกเตอร์ที่คนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากนั่นก็คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตคนทำสื่อ
ตั้งใจว่าจะไม่เขียนถึงกรณีสมาคมวิชาชีพเรียกร้องความรับผิดชอบจาก สรยุทธ สุทัศนะจินดา อีกแล้ว หลังเจ้าตัวโบกมืออำลาหน้าจอชั่วคราว แต่บังเอิญช่วงสุดสัปดาห์มีความเห็นของผู้คนหลากหลายโดยเฉพาะ 2 รายที่ถือว่าเป็นระดับดอกเตอร์ที่คนให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมากนั่นก็คือ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตคนทำสื่อ
โดยอาจารย์ชาญวิทย์มองว่า เรื่องนี้มันมีความเป็นสองมาตรฐานอยู่ และมักให้ค่าของคนว่าเป็นคนของใคร มีลักษณะเป็นศรีธนญชัย โดยมักจะหยิบยกเรื่องราวมาตีความตามแต่สถานการณ์คือ ถ้าตัวเองได้ประโยชน์ก็เอา ไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่เอา จึงสามารถหลับตาข้างหนึ่ง แล้วมองด้านเดียว เหมือนเป็นเหรียญด้านเดียวตลอด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบการศึกษา ประวัติศาสตร์หรือการมองสังคม กรณีของสรยุทธก็เช่นเดียวกัน ในแง่หนึ่งสรยุทธก็ฉลาดที่จะถอยออกจากเกมนี้และรอคอยเวลากลับมาใหม่ เหมือนกับทันกันในวงการ เรื่องจริยธรรม มาในรูปแบบกระบวนการเดียวกันกับคำว่าคนดี คงต้องถามว่าจริยธรรมที่ว่าคือของใคร ของคนดีหรือเปล่า เมื่อคนดีได้ประโยชน์ ก็ยกคำว่าจริยธรรมขึ้นมา
ก่อนที่จะตอกย้ำว่า “ผมไม่เชื่อว่าคนเหล่านี้มีความกล้าหาญทางจริยธรรม เป็นพวกฉวยโอกาสมากกว่า มันเป็นอย่างนี้มามากกว่า 10 ปีแล้ว ยิ่งกรณีเรื่องจริยธรรมสรยุทธเหมือนเป็นเหยื่อมากกว่า” ทางด้านสมเกียรติ ก็เห็นในมุมที่ไม่ต่างกันโดยชี้ว่าสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน เริ่มต้นก็ละเมิดจรรยาบรรณวิชาชีพตนเองโดยละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลยเสียแล้ว
ความน่าเคารพเชื่อถือของสื่อมวลชนและองค์กรวิชาชีพของตนก็หมดไป การอ้างมาตรฐานจริยธรรมและจรรยาบรรณอันสูงส่งขององค์กรวิชาชีพสื่อสารมวลชน องค์กรต่อต้านการทุจริตและองค์กรกำกับดูและการสื่อสารแพร่ภาพกระจายเสียง เป็นอาวุธร้ายแรง พิฆาตฟาดฟันห้ำหั่นทำลายอย่างโหดเหี้ยม ซึ่งสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาและจำเลย ซึ่งศาลยังมิได้ตัดสินคดีถึงที่สุด
เมื่อทำกันมาแรงเต็มที่แล้ว ก็เชิญท่านผู้ทรงจริยธรรมทั้งหลายจงได้ปฏิเสธไม่รับโฆษณาจากสินค้าและกิจการที่เคยสนับสนุนช่อง 3 และสรยุทธกันทั้งหมด จะได้เป็นผู้ทรงจรรยาบรรณกันอย่างหาที่เปรียบมิได้ มุมที่น่าสนใจอีกประการของสมเกียรติก็คือ สื่อมวลชนต้องยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัดแน่นเหนียว โดยต้องเริ่มที่การไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญและเคารพในสิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องหาหรือจำเลย
ในกรณีนี้คือต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของสรยุทธ สื่อมวลชนจะมาขอสิทธิพิเศษละเมิดสิทธิมนุษชนของสรยุทธและขอละเลยจรรยาบรรณวิชาชีพของตนเองก่อน เพื่อไปบังคับกดดันผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างสรยุทธ ซึ่งบังเอิญเป็นสื่อมวลชนด้วยกันให้เคารพจรรยาบรรณสื่อมวลชนก่อนมิได้ ซึ่งคงเหมือนที่ สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้
ข้อเรียกร้องของสื่อทั้งในฐานะปัจเจกบุคคล ค่ายสื่อ องค์กรสื่อ บุคคลที่มีชื่อเสียงและเครือข่ายเคลื่อนไหวต่างๆ รวมทั้งท่าทีของภาครัฐ คือข้อเรียกร้องความรับผิดชอบต่อจริยธรรมสื่อ แต่อะไรคือมาตรฐานจริยธรรมสื่อไทย ทำไมฝ่ายที่เรียกร้องความรับผิดชอบทางจริยธรรมกับสรยุทธ จึงไม่เรียกร้องความรับผิดชอบกับสื่อในฝ่ายตัวเองที่มีปัญหาในทำนองเดียวกัน นี่เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมาก
สุรพศมองต่อไปว่าคนดังบางคนอ้างไปถึงว่าคนเราควรจะมีธรรมะในใจ ทำให้เกิดคำถามว่าเราเข้าใจจริยธรรมสื่อซึ่งเป็นจริยธรรมสาธารณะกันอย่างไร หากใช้กรอบคิดจริยธรรมสาธารณะตามแนวคิดเสรีนิยมมาประเมินจริยธรรมสื่อไทย อาจจะเห็นปัญหาพื้นฐานชัดเจนขึ้น เพราะการใช้กรอบคิดเสรีนิยมมาประเมินวางอยู่บนการยืนยันสมมติฐานที่ว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพประชาชน”
หมายความว่า สื่อคือผู้ใช้เสรีภาพและมีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพ เนื่องจากเสรีภาพเป็นหลักการสากลหรือหลักการทั่วไปที่ใช้กับทุกคนเท่าเทียมกัน การใช้เสรีภาพและการปกป้องเสรีภาพของสื่อจึงหมายถึงการรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของประชาชนทุกคนด้วย ดังนั้น การรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพจึงเป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมขั้นพื้นฐานที่สุดที่สื่อจำเป็นต้องมี
ทั้งนี้แนวคิดเสรีนิยม หรือ liberalism มีพัฒนาการที่ซับซ้อน แต่โดยพื้นฐานที่มาแล้วมีสองสายหลักๆ คือ เสรีนิยมสายอรรถประโยชน์นิยม หรือ utilitarianism กับเสรีนิยมสายค้านท์ หรือ Immanuel Kant โดยเสรีภาพทั้งสองสายนั้นคงขออนุญาตไม่อธิบายขยายความอะไรมาก แต่อยากให้มองไปยังปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการสื่อบ้านเราในเวลานี้
ปัญหาก็คือ ขณะที่สื่อหลายคน หลายค่าย หลายสำนักใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็น การแสดงออกในเชิงตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ เสียดสี เย้ยหยัน กระทั่งสนับสนุนการล่าแม่มดนักศึกษา ประชาชน และนักการเมืองที่ถูกอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยละเมิดเสรีภาพ พวกคุณกลับอ้างจริยธรรม ในการตรวจสอบและเรียกร้องความรับผิดชอบกับฝ่ายอื่นๆ ตลอดเวลา
แต่มาตรฐานจริยธรรมสาธารณะตามกรอบคิดเสรีนิยมสายค้านท์คือ การทำหน้าที่ปกป้องเสรีภาพ แต่สื่อไทยบางคน บางค่าย บางสำนักที่ใช้เสรีภาพซ้ำเติมฝ่ายที่ถูกละเมิดเสรีภาพและสนับสนุน เชียร์อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งละเมิดเสรีภาพ กลับเป็นฝ่ายที่สร้างภาพว่าพวกตนมีจริยธรรมและขยันตรวจสอบจริยธรรมของคนอื่นๆ ตลอดเวลา
ฉะนั้น ไม่ว่าจะประเมินจากกรอบคิดเสรีนิยมสายอรรถประโยชน์และสายค้านท์ สื่อไทยหลายคน หลายค่าย หลายสำนักล้วน “สอบตก” อย่างไม่เป็นท่า แต่น่าเศร้าตรงที่เขาเหล่านั้นต่างแสดงออกว่าพวกตนมีและปกป้องจริยธรรมสื่ออย่างเอาจริงเอาจัง ซึ่งการที่คนเหล่านี้เรียกร้องให้คนอื่นๆ มีจริยธรรมก็ไม่ต่างอะไรกับอำนาจเผด็จการเรียกร้องให้คนอื่นๆ เคารพกฎหมายนั่นเอง บทสรุปเช่นนี้คงเห็นภาพอะไรต่อมิอะไรที่เกิดขึ้นในทุกมิติอย่างถ่องแท้แน่นอน