งาช้างในปากสุนัขพลวัต 2016

โจทย์ที่ตั้งขึ้นว่า ตลาดหุ้นจะวิ่งสวนทางเศรษฐกิจไปได้ไกลแค่ไหน เป็นคำถามที่คล้ายกันกับถามว่า งาช้างจะงอกจากปากสุนัขได้หรือไม่


วิษณุ โชลิตกุล

 

โจทย์ที่ตั้งขึ้นว่า ตลาดหุ้นจะวิ่งสวนทางเศรษฐกิจไปได้ไกลแค่ไหน เป็นคำถามที่คล้ายกันกับถามว่า งาช้างจะงอกจากปากสุนัขได้หรือไม่

นายอานาส อัล-ซาเลห์ รมว.น้ำมันของคูเวต ซึ่งผลิตน้ำมันได้วันละ 3 ล้านบาร์เรล ถือเป็นหนึ่งในพี่เบิ้มชาติหนึ่งของตะวันออกกลาง กล่าวเมื่อวานซืนว่า คูเวตจะเข้าร่วมการตรึงกำลังการผลิตน้ำมัน ก็ต่อเมื่อผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทุกชาติ ซึ่งรวมถึงอิหร่าน ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงคงกำลังการผลิตน้ำมัน

รมว.น้ำมันคูเวต ประกาศว่า คูเวตจะผลิตน้ำมันอย่างเต็มกำลัง หากไม่มีการบรรลุข้อตกลง และทุกๆ บาร์เรลที่คูเวตผลิตได้ ก็จะขายออกไป

แม้คูเวตจะไม่เอ่ยถึงชื่อของสหรัฐฯที่เป็นผู้นำในการผลิตน้ำมันของโลกยามนี้โดยตรง แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า หากสหรัฐฯไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำข้อตกลงน้ำมันร่วมกับรัสเซียและซาอุดีอาระเบีย ก็อย่าหวังเลยว่าจะมีข้อตกลงเกิดขึ้น

คำประกาศท่าทีของคูเวต สอดรับกับการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์เจ้าเดิมจากโกลด์แมน แซคส์ แห่งสหรัฐฯที่เคยระบุเมื่อหลายเดือนก่อนว่า ราคาน้ำมันอาจจะร่วงลงไปที่ระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ได้ออกมาระบุว่า การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในระยะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วเกินไป และจะไม่ยั่งยืนท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน

เหตุผลสำคัญคือ ราคาพลังงานจำเป็นต้องมีราคาต่ำลง เพื่อให้ภาวะตึงตัวทางการเงินสามารถปรับสู่สมดุล มิฉะนั้น การพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันก็จะกลับส่งผลทำให้ราคาร่วงลงแรงฉับพลันได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปีที่แล้ว

ไม่เพียงเท่านั้น นักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ยังระบุเพิ่มเติมว่าไม่เพียงแค่ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายชนิด (ไม่นับทองคำ) ที่วิ่งขึ้นมานั้น เป็นแค่ “แสงไม้ขีดไฟยามมืดมน” เท่านั้นเอง เพราะปริมาณสินค้าที่ท่วมตลาดพร้อมจะเป็นอุปทานที่ออกมาถล่มตลาดเมื่อราคาพุ่งขึ้นถึงระดับที่จูงใจให้กระทำ  ซึ่งระดับที่พุ่งขึ้นมามากกว่า 20% จากจุดต่ำสุด ถือว่า มากเกินเพียงพอแล้ว

โดยเฉพาะราคาน้ำมันนั้น โกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ราคาตลอดทั้งปีนี้ จะวิ่งไปมาในรอบ 20-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเท่านั้นเอง ตราบใดที่ความพยายามใดๆ ไม่สามารถลดอุปทานเข้าสู่ตลาดลงไปได้

ข้อสรุปดังกล่าว ตรงประเด็นมากที่สุด  เพราะว่า ในโลกที่สินค้าโภคภัณฑ์เผชิญกับภาวะล้นตลาด การแก้ปัญหาทำให้อุปทานลงไปเพื่อให้ตลาดปรับเข้าสู่ดุลยภาพระลอกใหม่ จึงเป็นภารกิจของคนที่เกี่ยวข้องกับตลาด 

ความรู้เช่นนี้คือเศรษฐศาสตร์อุปทานที่ เรแกนโนมิกส์”ทำไว้เป็นตัวอย่างในอดีตนั่นเอง แม้ว่าจะด้วยเป้าหมายต่างกัน

ทศวรรษที่ผ่านมา ราคาที่พุ่งขึ้นแรงต่อเนื่องของสินค้าโภคภัณฑ์เกือบทุกชนิด นำโดยราคาน้ำมันและทองคำ ได้ทำให้มีการเร่งผลิตสินค้าออกสู่ตลาดเพิ่มอุปทานอย่างมากมายให้เพียงพอกับอุปสงค์ที่พุ่งขึ้น จนกระทั่งถึงระดับหนึ่งเมื่อกลไกราคาของตลาดไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะอุปสงค์หดตัวลง การจะพิจารณาหาทางเพิ่มอุปสงค์ของตลาด จึงไม่มีประโยชน์อันใด

ตัวอย่างเช่น กรณียางพาราล้นตลาดโลกยามนี้ หลังจากที่เคยขาดแคลนอย่างหนักเมื่อ 10 ปีก่อน เมื่อสินค้าล้นตลาด ทางออกที่สำคัญคือลดการผลิตยางพาราลงไปเพื่อปรับดุลยภาพของตลาด แต่เนื่องจากไม่สามารถทำได้ เพราะยางพาราเป็นสินค้าการเมือง ทำให้มีความพยายามที่ล้มเหลวจากรัฐบาลชาติที่ผลิตยาง (รวมทั้งไทย) ในการหาทางสร้างอุปสงค์เทียมขึ้นมา) พร้อมกับคำชี้แนะให้เพิ่มการใช้ยางพาราด้วยการตั้งโรงงานหรือใช้ประโยชน์ผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่มียางพาราเป็นวัตถุดิบ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่มีทางเกิดขึ้นได้

การแก้ปัญหาอุปทานจึงเป็นภารกิจหลักของตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยามนี้ ความพยายามของชาติอย่างรัสเซียและซาอุดีอาระเบียในการตรึงกำลังการผลิตที่จุดสูงสุด โดยเลี่ยงจะพูดถึงการลดกำลังการผลิตลง แถมยังปฏิเสธที่จะชวนสหรัฐฯเข้ามาร่วมด้วย จึงเป็นปฏิบัติการที่ “กลัดกระดุมเม็ดแรก” และไม่มีโอกาสมองเห็นผลรูปธรรมแต่อย่างใด

เช่นเดียวกัน ตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของจีนที่เลวร้ายอย่างมากทั้งการส่งออกและนำเข้า กำลังบอกให้ชาวโลกรู้ว่า ความสามารถในการดูดซับสินค้าโภคภัณฑ์ของผู้ซื้อรายใหญ่สุดของโลกที่ดำเนินมานานกว่า 2 ทศวรรษนั้น ได้พบขีดจำกัดในตัวเองแล้ว มีแต่จะลดอุปสงค์ลงไป

การตัดลดอุปทาน แทนการสร้างอุปสงค์เทียม จึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง แต่เป็นทางเลือกที่ยากสุด เพราะจะไม่ถูกใจใครที่เกี่ยวข้องเลย เพราะมันหมายถึงการปิดโรงงาน การยกเลิกอุดหนุน การโค่นต้นยาง การปิดเหมือง และท้ายสุดคือปลดคนงานออกมาบางส่วน ซึ่งล้วนเป็นความเจ็บปวดและต้องผ่านความขัดแย้งสารพัด

ที่สำคัญ มันทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนปั่นป่วน ผลประกอบการของสถาบันการเงิน และความวุ่นวายในการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงตลาดหุ้นที่ผันผวนดังที่เผชิญอยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งยามนี้ ล้วนบ่งบอกสถานการณ์ที่ตอกย้ำอีกครั้งว่า ไม่อาจจะมีงาช้างออกออกจากปากสุนัขได้

กล่าวโดยนัยหมายถึง ตลาดหุ้นที่เป็นขาขึ้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงเศรษฐกิจผันผวน เพราะตลาดหุ้นที่มีลักษณะนั้น จะต้องเป็นตลาดหุ้นที่เต็มไปด้วยฟองสบู่เท่านั้นเอง 

Back to top button