พาราสาวะถี อรชุน

ร่ายยาวบนเวทีสนทนาเป็นการส่วนตัวกับ ทักษิณ ชินวัตร หรือ Thaksin Shinawatra in Private Discussion ณ สถาบันนโยบายโลก หรือ World Policy Institute ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เวทีที่กองเชียร์รัฐบาลคสช.บอกว่าเป็นเวทีเล็กๆ หากไม่เห็นค่าหรือให้ความสำคัญ กระบอกเสียงของรัฐบาลและคสช.คงไม่ต้องออกมาโต้ตอบการสนทนาดังกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีให้เมื่อยตุ้ม


ร่ายยาวบนเวทีสนทนาเป็นการส่วนตัวกับ ทักษิณ ชินวัตร หรือ Thaksin Shinawatra in Private Discussion ณ สถาบันนโยบายโลก หรือ World Policy Institute ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เวทีที่กองเชียร์รัฐบาลคสช.บอกว่าเป็นเวทีเล็กๆ หากไม่เห็นค่าหรือให้ความสำคัญ กระบอกเสียงของรัฐบาลและคสช.คงไม่ต้องออกมาโต้ตอบการสนทนาดังกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีให้เมื่อยตุ้ม

แต่เชื่อได้ว่าทั้ง ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลและน่าจะรวมไปถึงบรรดากรธ.ที่ไม่แน่ว่าจะมี มีชัย ฤชุพันธุ์ รวมอยู่ด้วยหรือไม่ และอาจจะรวมไปถึงแกนนำของกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ จะต้องออกมาตอบโต้การพูดบนเวทีดังกล่าวของทักษิณอย่างแน่นอน เพราะประเด็นเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญที่บิ๊กแม้วพูดไปนั้น น่าจะเป็นการทิ่มแทงใจดำผู้มีอำนาจ และคนเกี่ยวข้องไม่ใช่น้อย

ในมุมของทักษิณมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศสามารถเติบโตและแข็งแกร่งได้มากยิ่งขึ้นในภาวะโลกปัจจุบันหรือไม่ หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบันที่เพียงพอเพื่อการลงทุน การผลิต การสร้างความร่วมมือ และธุรกิจให้แก่ประเทศไทยได้หรือไม่

เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คนซึ่งจะถูกแต่งตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญ วุฒิสภาจะมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้งการออกพระราชบัญญัติต่างๆ

ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดำเนินการร้องเรียน โดยไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นข้อพิพาทจริงที่องค์กรทางการเมืองหรือศาลอื่นได้ดำเนินการยื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยคือรากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ

หัวข้อสำคัญที่พวกเราต้องพิจารณาคงเป็นเรื่องที่ว่า อำนาจตุลาการจะล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ตนหวังว่า คงจะไม่มีการใช้อำนาจตุลาการที่เกินกว่าความจำเป็นอีกในอนาคต กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อำนาจพิจารณาทบทวนโดยศาลหรือ Judicial Review โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมและเป็นยุทธวิธีเตะถ่วงงาน

เมื่อเป็นเช่นนั้น สุดท้ายก็จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ตนเชื่อว่ารากฐานของประเทศในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง คือการสร้างความเชื่อถือในประชาคมโลก รัฐธรรมนูญควรยึดหลักนิติธรรมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกและเกื้อหนุนให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนในประเทศกับประชาคมโลก

การค้าและการลงทุนจะไม่สามารถเจริญงอกงามได้ หากไม่มีหลักนิติธรรม เพราะหลักนิติธรรมคือรากฐานของการสร้างความเชื่อมั่น ในช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงและระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ประเทศไทยต้องประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองเสียใหม่ และสรรหาวิถีทางที่สมเหตุสมผลเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและพลวัตทางเศรษฐกิจ ตนเพียงแค่นำเสนอถึงวิธีคิดและพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันเท่านั้น

ต้องดูกันว่าเสียงสะท้อนโจมตีเพื่อดิสเครดิตทักษิณนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ว่าอีกหนึ่งเวทีการเสวนาทิศทางรัฐธรรมนูญไทยในยุคการปฏิรูป เนื่องในโอกาครบรอบ 40 ปีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จาตุรนต์ ฉายแสง ที่รับเชิญไปพูดด้วยมองในมุมของการปฏิรูปได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย

โดยเดอะอ๋อยเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยโตช้าและมีแนวโน้มว่าจะโตช้าไปอีกหลายปี การปฏิรูปตามที่สังคมเรียกร้องเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจน แม้จะตั้งคณะทำงานเพื่อเสนอเรื่องปฏิรูป แต่รัฐบาลกลับชี้แจงต่อกระทรวงในข้อเสนอปฏิรูปว่าทำไม่ได้ เช่น เรื่องพลังงาน ส่วนการใช้อำนาจพิเศษเพื่อโยกย้ายข้าราชการรวมถึงการตรวจสอบที่ผ่านมา มีคำถามว่าจะสร้างทิศทางที่ดีในอนาคตได้อย่างไร ไม่ใช่ทำในสิ่งที่ตรงข้ามด้วยการใช้อำนาจพิเศษ ใช้อำนาจทหารหรือระบบของคสช.

จาตุรนต์มองว่าการปฏิรูปปัจจุบันไม่สำเร็จ เพราะขาดการแลกเปลี่ยนความเห็นที่หลากหลาย มีการทำกระบวนการเหล่านี้โดยคนส่วนน้อยที่ไม่มีความชอบธรรม รวมถึงไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นการปฏิรูปจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปี เป็นสิ่งที่อันตรายเพราะการวางแผนระยะยาวแต่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ และไม่ได้คิดถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก

สิ่งซึ่งจาตุรนต์ได้ย้ำมาตลอดและยังคงยืนยันเช่นนั้นก็คือ เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของกรธ. จะนำประเทศไทยไปสู่การรัฐประหารอีกรอบ ทั้งประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยาก เหมือนกับบังคับให้ฉีกรัฐธรรมนูญ รวมถึงการลดบทบาทของประชาชนในการตรวจสอบการบริหารราชการด้านต่างๆ จนสร้างความไม่พอใจให้กับภาคประชาชนและประชาสังคม

แต่สิ่งที่จะวัดใจกรธ.ในเวลานี้กลับเป็นเรื่องข้อเสนอส.ว.สรรหา ที่ต้องดูว่ามีชัยและชาวคณะที่ไม่ร่วมประชุมแม่น้ำ 5 สายโดยอ้างว่าไม่ต้องการถูกผูกมัดนั้น จะกล้าไม่ทำตามคสช.ในเรื่องที่เห็นว่าควรทำตามหรือไม่ ในขณะที่ท่าทีของมีชัยที่เล่นละครตีมึนต่อข้อเสนอดังกล่าว ได้กลายเป็นความอึมครึมในสังคม โดยเฉพาะคำถามที่ว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้มีอำนาจหรือเปล่า

หลายครั้งประเด็นย้อนแย้งต่อท่าทีของผู้มีอำนาจนั้นมันสะท้อนภาพได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการพร่ำบอกว่า ทุกคนต้องยึดกฎหมายและอยู่ภายใต้กฎหมายตัวเดียวกัน ต้องไม่เลือกปฏิบัติ แต่เห็นภาพของการดำเนินคดีต่อกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างกปปส.กับคนเสื้อแดงและการแสดงออกของคนบางคนอย่างเช่น พุทธะอิสระ แล้ว บอกได้คำเดียวว่า ไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติต่อประชาชนอย่างเท่าเทียมตามที่พ่นน้ำลายกันมาแต่อย่างใด

Back to top button