เดิมพันของ ECBพลวัต 2016

เช้านี้ก็คงรู้กันแล้วว่า กรรมการธนาคารกลางของยูโรโซน (ECB) ที่นำโดย นายมาริโอ ดรากี จะมีมติเกี่ยวกกับมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ภาวะเงินฝืดครอบงำยาวนาน เพราะ ดัชนี CPI ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายระยะกลางที่กำหนดไว้ที่ 2% ซึ่งส่งสัญญาณว่า ความพยายามที่ผ่านมา ยังอยู่ห่างไกลมาก


วิษณุ โชลิตกุล

 

เช้านี้ก็คงรู้กันแล้วว่า กรรมการธนาคารกลางของยูโรโซน (ECB) ที่นำโดย นายมาริโอ ดรากี จะมีมติเกี่ยวกกับมาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ภาวะเงินฝืดครอบงำยาวนาน เพราะ ดัชนี CPI ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายระยะกลางที่กำหนดไว้ที่ 2% ซึ่งส่งสัญญาณว่า ความพยายามที่ผ่านมา ยังอยู่ห่างไกลมาก

ECB  มีมติ 3 ส่วน   ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 มีนาคมนี้ คือ

ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร สู่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากระดับ 0.05% ก่อนหน้านี้ มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะคงไว้ที่เดิม

ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB สู่ระดับ -0.4% จากเดิมที่ -0.3% ซึ่งหมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายค่าฝากแก่ ECB หากมีการนำเงินส่วนเกินมาพักไว้ที่ ECB ซึ่งมาตรการดังกล่าวของ ECB มีขึ้นเพื่อสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินไปปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ แทนที่จะนำมาพักไว้ที่ ECB

เพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) สู่ระดับ 8 หมื่นล้านยูโร/เดือน จากเดิมที่ 6 หมื่นล้านยูโร/เดือน

มติดังกล่าว ถือเป็นมาตรการ  “จัดหนัก จัดเต็ม” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งปฏิกิริยาของตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรยูโรโซนขานรับด้วยการบวกแรงทันที และตามมาด้วยตลาดหุ้นสหรัฐฯ และน่าจะลามมาถึงตลาดเอเชียในเช้าวันนี้ รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย

ถือว่าเป็น “มอร์ฟีน” ที่รุนแรงในระยะเฉพาะหน้า เพื่อขจัดอาการทรุดหนักชั่วคราว ในยามที่เศรษฐกิจยูโรโซนมีท่าทีถดถอยเข้าสู่เงินฝืดที่รุนแรงอีกครั้ง โดยเฉพาะการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่ยังเรื้อรังมายาวนาน

หากมองข้ามปฏิกิริยาของตลาดหุ้น ตลาดทุน หรือ ตลาดเงินไป จะเห็นได้ชัดเจนว่า การใช้มาตรการทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะ  “เลี้ยงไข้ไปเรื่อยๆ” ในยามที่มาตรการทางการคลังมีขีดจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะฐานะการคลังของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยามนี้ ย่อบแย่บอย่างมาก จากการทำงบประมาณขาดดุลนานหลายปียาวนานกว่าปกติ

นานกว่า 6 ปีมาแล้วที่เศรษฐกิจของยูโรโซน ต้องเผชิญหน้ากับอาการป่วยหนักเข้าขั้นนอนในไอซียู ที่ต้องดูแลเป็นพิเศษด้วยมาตรการที่ซับซ้อนเพราะชาติสมาชิกมีพัฒนาการและปัญหาภายในแต่ละประเทศไม่เท่าเทียมกัน

ฐานะของ ECB  ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษโดยกฎหมายเฉพาะ (ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมตามพันธะของกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ปกติ) เพื่อสร้างธนาคารกลางที่ใหญ่กว่าธนาคารกลางแห่งชาติแบบเดิม ภายใต้สนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม โดยกำหนดให้มีสำนักงานอยู่ที่เมืองฟรังก์เฟิร์ต เมืองใหญ่อันเป็นศูนย์กลางของยูโรโซน  17 ชาติ ปัจจุบันผู้ว่าการคือ นายมาริโอ ดรากี อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติอิตาลี

ภารกิจหลักของ ECB ก็เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วไปนั่นคือ ดูแลเสถียรภาพราคาของยูโรโซนผ่านกรอบเงินเฟ้อที่กำหนดขึ้นมาจากคณะกรรมการที่มาจากชาติสมาชิก แต่ต่างจากธนาคารกลางอื่นตรงที่ว่า นอกจากภารกิจหลักอย่างเดียวนี้แล้ว ไม่มีภารกิจอื่นใดอีกที่สำคัญเทียบเท่าธนาคารกลางทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอัตราแลกเปลี่ยน ทุนสำรองเงินตรา หรือระบบเคลียริ่งทางการเงินระหว่างธนาคารทั้งหลาย แต่ทั้งหมดนี้จะออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้ายคือปริมาณเงินยูโรในตลาด

ภารกิจปกติของ ECB ถูกเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดวิกฤตทางการคลังของรัฐบาลกรีซขึ้นมา ตามด้วยหลายชาติสมาชิก ทำให้มีการผลักดันตั้ง ESM (European Stability Mechanism) ขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อสร้างเสถียรภาพในระยะยาวให้กับเงินยูโร พร้อมกับภารกิจสำคัญใหม่ขึ้นมา ซึ่งยังอยู่ในระหว่างถกเถียงกันเพื่อหาข้อสรุป

ผู้ที่อยู่เบื้องหลังการออกแบบดังกล่าวให้กับ ECB คือ นางอังเกล่า แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ต้องการให้ ECB  ขยายภารกิจในฐานะผู้หล่อหลอมการเงินของยุโรปที่สำคัญยิ่ง  แต่นั่นเป็นเป้าหมายระยะยาว เพราะในระยะเฉพาะหน้า ภารกิจสำคัญของ ECB คือการนำพาเศรษฐกิจยูโรโซนก้าวข้ามภาวะเงินฝืดไปให้ได้เสียก่อน

หลายปีมานี้  ECB มีส่วนออกมาตรการสำคัญที่สร้างความหวังในระยะสั้น ในการอัดฉีดเงินไม่อั้นจากการขายพันธบัตรออกมาไม่จำกัดเพื่อช่วยยืดอายุรัฐบาลชาติสมาชิกที่กำลังมีปัญหาล้มละลายต่อไปได้ แต่ก็ยังช่วยไม่ได้มาก เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน ได้มีโรคแทรกที่รุนแรงที่เกิดจากการถดถอยของจีดีพีที่แท้จริง (หลังจากหักด้วยเงินเฟ้อ) ลงต่อเนื่องในหลายประเทศหลักของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ที่ถูกแรงกดดันของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำรุนแรง

มาตรการของ ECB  ซึ่งเป็นมาตรการทางการเงิน แม้จะมีผลดีระยะสั้น แต่ล้วนเป็นแค่การ “ซื้อเวลา” เพื่อรอให้เศรษฐกิจปรับดุลยภาพใหม่  จนสามารถกลับมาเดินหน้าต่อไปได้อย่างคล่องตัวในอนาคต โดยไม่หมดแรงเสียก่อน

มาตรการเมื่อคืนที่ผ่านมา แม้จะมีผลดีในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ เพราะมีสภาพคล่องเข้ามาหนุนให้ราคาหุ้นวิ่ง และตราสารหนี้วิ่งขึ้นต่อไปได้ แต่ก็ส่งผลข้างเคียงเชิงลบที่ชัดเจนเพราะ ค่าเงินยูโรดิ่งหนักเทียบดอลลาร์และเงินสกุลสำคัญของโลก ซึ่งเป็น 1 ในต้นธารของฟองสบู่เศรษฐกิจโลกที่ดำรงชัดเจน

เศรษฐกิจภาคการผลิตที่แท้จริง และการจ้างงานที่มีปัญหา สวนทางกับการเก็งกำไรที่ยังไปได้ดี แสดงว่าเงินทุนส่วนเกินของสังคม ถูกนำไปปั่นราคาสร้างมูลค่าเทียมเพิ่มมากขึ้น และทำให้ผู้คนมีพฤติกรรมที่ดูเบาวิกฤตที่ย่างกรายเข้ามา

ประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นที่ขึ้นสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงนั้น ลงเอยไม่เคยสวยงามเลย ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน แต่ก็ยังมีคนที่จดจำเรื่องพวกนี้ต่ำมาก

Back to top button