เศรษฐกิจบนการเมืองย้อนยุค

ดูไปแล้ว รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในเวลานี้ คงย้อนยุคไปไม่ต่ำกว่าฉบับพ.ศ.2521 เป็นแน่


ชาญชัย สงวนวงศ์

 

ดูไปแล้ว รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ในเวลานี้ คงย้อนยุคไปไม่ต่ำกว่าฉบับพ.ศ.2521 เป็นแน่

นอกจากจะกำหนดให้มีการสืบทอดอำนาจคณะทหารไปอีกไม่น้อยกว่า 5 ปีในช่วงขยักที่ 1 หรือในระยะเปลี่ยนผ่าน

แล้ว ยังคงให้อำนาจข้าราชการการเมืองกับข้าราชการประจำปนเปกันไป

เหมือนยุคสฤษดิ์-ถนอม-ประภาสไม่มีผิด

อาจจะเรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มเห็นหน้าค่าตาในเวลานี้ มีเนื้อหาที่ย้อนยุคและกระชับอำนาจที่เข้มข้นยิ่งเสียกว่าร่างฉบับนายบวรศักดิ์ ที่ถูกล้มคว่ำลงไปเสียอีก

จะผ่านหรือไม่ผ่านประชามติในวันข้างหน้าหรือเปล่าก็ยังไม่รู้ แต่แนวโน้มดูท่าว่าจะไม่ผ่าน เพราะมีลักษณะย้อนยุคไปไกลมาก

ถ้าผ่านก็ได้เลือกตั้งกันเลย แต่ถ้าไม่ผ่าน คณะผู้ทรงอำนาจ ก็ต้องหยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตแถมปรับแก้เพิ่มขึ้นไปอีกนิดหน่อยออกมาใช้

ผมไม่ห่วงหรอกว่า จะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป ไม่เป็นไปตามโรดแมป ที่ได้ให้สัญญากับประชาคมโลกไว้

แต่ปัญหาที่น่าห่วงก็คือ คณะผู้ทรงอำนาจจะหยิบฉวยเอารัฐธรรมนูญย้อนยุคที่มีเนื้อหาซึ่งประชาชนปฏิเสธไปในการลงประชามติมาใช้เท่านั้นแหละ

ความขัดแย้งในหมู่ประชาชนกับผู้ปกครอง คงมีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น

การเมืองก็มีแนวโน้มว่าจะต้องย้อนยุคในช่วงเปลี่ยนผ่านไปแล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องปากท้องประชาชนนี่สิ หากไม่มีอะไรดีขึ้น ก็จะเป็นชนวนให้บ้านเมืองหาความสงบร่มเย็นได้ยาก

สภาพัฒน์ เริ่มจะปรับทบทวนตัวเลขจีดีพีปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะเติบโตในระดับ 3.5% อีกแล้ว เป้าที่เคยตั้งไว้ว่าจะเติบโตได้ในระดับ 3.5% อาจจะต้องปรับลดลงมาอีก

ดูแนวโน้ม ก็ค่อนข้างแน่ว่าน่าจะต้องปรับลดตัวเลขการเติบโตลงซะด้วย เพราะตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ติดลบลงไปถึง 8.9% นับเป็นการติดลบต่อเนื่องมากเป็นเดือนที่ 13 แล้ว

อนาคตข้างหน้า ยังไม่เห็นแววจะฟื้นตัวได้เมื่อไหร่

เศรษฐกิจไทย ยังไม่ทันจะได้ปรับโครงสร้างที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นด้านหลักถึง 70% ของจีดีพีหรอกครับ

ฉะนั้น ตราบใดที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวดี และความสามารถในการแข่งขันของเรา ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ตัวเลขการส่งออกก็คงต้องติดลบเรื้อรังไปอีกหลายเดือน หรืออาจจะนานเป็นปีนับต่อแต่นี้

ในแง่ของการรักษาอาการป่วยใข้ของเศรษฐกิจไทย ก็ผ่านมือหมอมาแล้วถึง 2 คน

คนแรก .ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แนวคิดใหญ่ของท่านก็คือ ไม่ควรทำการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในช่วงเศรษฐกิจขาลง

ท่านมองว่า กระตุ้นลงไปเท่าไหร่ก็ถมไม่เต็ม และผลข้างเคียงที่จะเกิ ดตามมาก็คือ ประชาชนจะเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวมากขึ้น

แนวคิดท่านปรีดิยาธร อาจจะถูกหรือผิด ยังไม่มีบทพิสูจน์ แต่เห็นได้ชัดว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจสไตล์หม่อมอุ๋ย ไม่มีสีสันฉูดฉาดให้เห็นเลย

และก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงมาสู่หมอผ่าตัดคนที่ 2 คือ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

แนวทางก็คนละขั้วกันไปเลยกับหมอคนแรก โดยหมอคนนี้เน้นการกระตุ้นการบริโภค และการทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากลงสู่ประชาชนชั้นรากหญ้าหรือฐานราก

ผมว่าตั้งแต่ ดร.สมคิดเข้ามา เกิดโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบสัก 5-6 แสนล้านบาทได้แล้วกระมัง

แต่ก็อีกนั่นแหละ เงินนั้นใส่ผิดช่องหรือไปนอนรออยู่ที่ไหน ถึงยังไม่เห็นเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาสักที

การเมืองย้อนยุคก็ยังพอทำเนา แต่ถ้าเศรษฐกิจดิ่งเหวลงไปด้วยนี่สิ สถานการณ์จะเป็นอย่างไร ก็ไม่อยากจะเดาแล้ว

Back to top button