จากทักษิณถึง คสช.โนมิคส์
ทักษิณ ชินวัตร วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญทำประเทศถอยหลัง ยากจะได้รัฐบาลที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 เพราะมีวุฒิสภาแต่งตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากจนล่วงล้ำ หลักแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย
ใบตองแห้ง
ทักษิณ ชินวัตร วิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญทำประเทศถอยหลัง ยากจะได้รัฐบาลที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 เพราะมีวุฒิสภาแต่งตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมากจนล่วงล้ำ หลักแบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย
ตลกร้ายคือก่อนนั้น 2 วัน คสช.เพิ่งออกคำสั่ง “บายพาส EIA” แก้ไข ม.47 พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติประมูลโครงการได้ ระหว่างรอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม แม้ยังลงนามผูกพันไม่ได้ ซึ่งทำให้ NGO ต่อต้านโดยพร้อมเพรียง
ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ทำอย่างนี้ไม่ได้นะครับ นอกจากต้องแก้กฎหมายผ่านสภา 3 วาระ 2 สภา ยังต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ขณะที่ศาลปกครองก็บอกว่าการแก้กฎหมายครั้งนี้จะทำให้คดี EIA เต็มศาลไปหมด
แล้วเกี่ยวอะไรกับสปีชทักษิณ ก็เพราะถ้าแยกเนื้อหา ทักษิณไม่ได้พูดเพียงเรื่องอำนาจไม่มาจากเลือกตั้ง แต่พูดถึงอำนาจศาล องค์กรอิสระ ที่ “ขัดขา” อำนาจบริหาร ล่วงล้ำหลักแยกอำนาจ 3 ฝ่าย จนรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรรษที่ 21
ทักษิณไม่ได้พูดถูกเสียหมดหรอกนะครับ เพราะอำนาจตุลาการก็ต้องสามารถตรวจสอบยับยั้งอำนาจบริหาร ยิ่งถ้าย้อนดูยุคทักษิณ ตัวทักษิณเองก็ไม่ค่อยยอมรับการตรวจสอบถ่วงดุล แต่ถ้ามองข้ามการโต้กันไปกันมา เราก็จะเห็นว่า 10 ปีมานี้มีปัญหาจริงๆ นะ มีปัญหามาทุกรัฐบาล ว่าอะไรคือขอบเขตของอำนาจตุลาการ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ที่จะยับยั้งการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร
ยิ่งถ้ามองให้พ้น “คดีการเมือง” เช่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ศาลห้ามแก้รัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร ฯลฯ จะเห็นได้ว่ามีหลายคดีที่กระทบนโยบายเศรษฐกิจ กระทบคนทุกสีทุกข้าง
แน่ละ จุดเริ่มต้นมาจากยุค “ทักษิโณมิคส์” ซึ่งถูกคัดค้านอย่างหนัก กระทั่ง NGO ฟ้องศาลปกครองล้มแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และยังฟ้องทวงคืน ปตท. แต่พอดี๊พอดี รัฐบาล คมช.รีบแก้กฎหมายแยกท่อก๊าซ ศาลจึงตัดสินให้ ปตท.อยู่ในตลาดหุ้นต่อไป
รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็เจอสมาคมต่อต้านโลกร้อนฟ้องระงับ 65 โครงการมาบตาพุด กทช.จะประมูล 3G ก็โดน CAT ฟ้องระงับ ต้องใช้เวลาอีก 2 ปีประมูลใหม่ (แล้วก็โวยว่าได้เงินน้อย) รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกฟ้องระงับทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำและเงินกู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ แม้อยู่ในกระแสการเมือง แต่ก็มีเรื่องให้ถกเถียงมากมาย
ผมไม่ได้บอกว่าศาลผิดทุกเรื่อง หรือ NGO ถ่วงความเจริญ แต่ถามว่าเราหา “จุดสมดุล” ระหว่างอำนาจบริหารกับอำนาจตุลาการเจอหรือยัง จากที่กลัวรัฐบาลมีอำนาจมาก มาให้ศาล องค์กรอิสระ มีอำนาจมาก วันนี้ก็ยังร่างรัฐธรรมนูญให้ศาล องค์กรอิสระ มีอำนาจมากขึ้นไปอีก จนรัฐบาลจากเลือกตั้งแทบไม่สามารถออกนโยบาย แทบไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้
แล้วที่ตลกร้ายคือ รัฐบาล คสช.ซึ่งดำเนินนโยบาย “สมคิดโนมิคส์” ก็กำลังสร้างผลงานด้วยอำนาจบริหารที่แข็งปั๋ง โดยศาลรัฐธรรมนูญศาลปกครองตรวจสอบไม่ได้ ทั้งคำสั่งบายพาส EIA คำสั่งยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองบางพื้นที่ คำสั่ง คสช.ย้ายข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น โดยไม่สามารถฟ้องศาลปกครองได้
ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก เห็นด้วยไม่เห็นด้วยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แค่ถามว่าขนาดรัฐบาลท่านเองยังต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจึงบริหารประเทศได้ แล้วรัฐบาลเลือกตั้งใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ยิ่งแย่หรือครับ แล้วประเทศจะเป็นอย่างไร