พาราสาวะถี อรชุน

โจทย์ที่ถูกเพิ่มให้กับกรธ.ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าด้วยการให้มีส.ว.สรรหา 200 คนในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พร้อมมีตัวช่วยเพิ่มเติมเข้ามาอีกว่าคสช.สามารถนั่งเป็นส.ว.ลากตั้งได้ ต้องอาศัยความสามารถของเนติบริกรชั้นครู จะขัดเกลาเนื้อหาสาระของบทบัญญัติที่ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 หรือรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ


โจทย์ที่ถูกเพิ่มให้กับกรธ.ของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ว่าด้วยการให้มีส.ว.สรรหา 200 คนในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พร้อมมีตัวช่วยเพิ่มเติมเข้ามาอีกว่าคสช.สามารถนั่งเป็นส.ว.ลากตั้งได้ ต้องอาศัยความสามารถของเนติบริกรชั้นครู จะขัดเกลาเนื้อหาสาระของบทบัญญัติที่ใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ต้องทำอย่างไรไม่ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 หรือรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการที่จะอธิบายให้สังคมเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจต้องทำอย่างนวลเนียน ไร้ที่ติ หากเป็นสังคมในยุค 30-40 ปีก่อนยังพอจะกล้อมแกล้มแถกันไปได้ เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำได้ยาก ในยุคการสื่อสารไร้พรมแดนเหมือนเช่นปัจจุบันการโฆษณาชวนเชื่อทำไม่ได้อีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากจะวิเคราะห์ถึงปัญหาในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยและชาวคณะ บทสัมภาษณ์ล่าสุดของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ น่าจะถอดรหัสได้ชัดในระดับหนึ่ง โดยอาจารย์ยิ้มมองว่า ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ตัวรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ที่ความจงใจหรือไม่จงใจสืบทอดอำนาจ แต่มันเป็นปัญหาที่ตัวชนชั้นนำทั้งชนชั้นที่แก้ปัญหานี้ไม่ตก

ปัญหาที่ว่านั่นก็คือ จะจัดการเลือกตั้งอย่างไรที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยไม่ชนะ หรือชนะแล้วทำอย่างไรให้บริหารประเทศไม่ได้ เขายังหาสูตรสำเร็จไม่ได้ เมื่อยังทำไม่ได้การสืบทอดอำนาจหรือให้กลุ่มตัวเองมีอำนาจไว้ก่อน จึงเป็นวิธีการที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา เพราะเอาเข้าจริงถามว่าฝ่ายทหารเองอยากคืนอำนาจไหม คิดว่า คงอยากคืนอยู่

แต่ประเด็นสำคัญคือ พวกเขายังแก้โจทย์ไม่ตกคือยังนึกไม่ออกว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ฝ่ายทักษิณแพ้การเลือกตั้ง เขายังแก้โจทย์นี้ไม่ตก ที่เขาต้องเตะถ่วงแบ่งอำนาจออกมาส่วนหนึ่ง เพราะเขากลัวว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปิดให้มีการเลือกตั้งตามขั้นตอนประชาธิปไตย ฝ่ายทักษิณชนะเลือกตั้งทันที และไม่ใช่แค่เขา เราทุกคนก็รู้ว่าฝ่ายเขาไม่มีทางชนะ

ฉะนั้นนี่เป็นปัญหาหลักที่เขาแก้ไม่ได้ รัฐธรรมนูญที่ร่างออกมาแล้วใช้ไม่ได้ก็เป็นเพราะตรงนี้ ไม่ว่าใครจะมาร่างมันก็ต้องบิดเบือนหาทางทำให้เสียงประชาชนไม่มีความหมาย นั่นเท่ากับว่า รัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้รับการยอมรับ และเมื่อไม่ได้รับการยอมรับ ทุกอย่างมันก็วนอยู่อย่างนี้

โดยอาจารย์ยิ้มมองอีกว่าตัวเองไม่สนใจเรื่องในทางวิธีการ วิธีการพวกเนติบริกรก็ไปคิดกันมาแบบต่างๆ อะไรที่คุณพูดถึงมันก็เป็นรูปแบบหนึ่งที่เขาพยายามคิด แต่เป้าหมายมันก็คืออันเดียวกัน ทำอย่างไรทักษิณจะไม่ชนะ และทำอย่างไรเพื่อไทยจะไม่กลับมา ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยาก เขาถึงเสนออะไรเพี้ยนๆ แบบนี้ออกมา เหมือนอย่างที่ วันชัย สอนศิริ เสนอให้ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯได้

ข้อเสนอเช่นนี้ต้องถามกลับว่าวันชัยมีหน้าที่อะไรมาคิด ตัวเองมีที่มาอย่างไร เป็นตัวแทนของใคร ถ้าเป็นข้อเสนอที่ดีมันก็น่าฟัง แต่เป็นข้อเสนอที่เหลวไหลจะไปฟังทำไม ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงยืนยันจากทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ การมีส.ว.ลากตั้งภารกิจหลักคืองานด้านการปฏิรูปและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ไม่มีอำนาจไปร่วมเลือกนายกฯกับส.ส.ได้

ด้วยโจทย์ที่ถูกวางมาจากอคติ สุธาชัยจึงมองว่าตอนนี้บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤติ การที่บิ๊กตู่อยู่ในอำนาจแต่ละวัน เป็นการอยู่ท่ามกลางวิกฤติทั้งนั้น เมื่อถามว่าวิกฤตนี้จะแก้อย่างไร ในมุมมองของคนที่เคยผ่านเหตุการณ์วิกฤติในอดีตมา อาจารย์ยิ้มยังมองไม่เห็นทางออก เพราะทางที่มีอยู่ประการเดียวคือ การลุกฮือของประชาชนเพื่อปฏิวัติ

ซึ่งถ้าเลือกได้อาจารย์ยิ้มบอกว่าจะไม่เลือก เพราะมันจะเกิดความรุนแรงและมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่ทางออกที่อยากเห็นมากกว่าคือ ชนชั้นนำปรับตัวและเลือกใช้วิธีการแบบประชาธิปไตยแก้ปัญหาดีกว่า เพราะในกระบวนการประชาธิปไตยทั่วโลกผ่านการพิสูจน์กันมาแล้วว่า ไม่มีพรรคไหนจะชนะเลือกตั้งไปตลอดกาล

ทุกวันนี้ที่คนยังเลือกเพื่อไทยอยู่ ส่วนหนึ่งก็มาจากชนชั้นนำนั่นแหละที่ใช้วิธีการชกใต้เข็มขัด วิธีการสกปรก ทำให้พรรคนายใหญ่ได้คะแนนเสียง ถ้าสู้กันแฟร์ๆ เชื่อว่าอย่างมากเพื่อไทยชนะแค่สมัยสองสมัย ไม่นานก็พังเอง ประชาชนก็ไม่เลือก หันไปเลือกพรรคอื่น ต่อให้พรรคการเมืองที่มีคะแนนสูงลิ่วแค่ไหน ก็สามารถแพ้การเลือกตั้งได้ทั้งนั้น

สรุปคือ การเมืองไทยถ้าชนชั้นนำใจกว้างหน่อย แล้วแก้ปัญหาประเทศโดยการเปิดให้มีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คาดว่าอย่างเก่งสองสมัยในกรณีที่กล่าวหาว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “โง่” บริหารประเทศไม่ดี คุณมองเห็นประชาชนเขาก็ต้องมองเห็น แต่ถ้าเขาทำงานได้ บริหารประเทศได้ แล้วได้รับการเลือกตั้งอีกก็ให้เขาเป็นไป แค่นั้นเอง นี่คือระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่น่าสนใจมันกลับไปอยู่ที่ประเด็นว่า ชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัว ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นความหน้ามืดของชนชั้นนำไทยมากกว่า ทำไมประเทศอื่นปรับตัวได้นั่นเพราะเขามองการณ์ไกล เขาไม่ได้มืดบอดแบบบ้านเรา สถานการณ์สากล แรงกดดันจากภายนอกเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือความฉลาดและมองออกว่าจะปรับตัวอย่างไร

เช่นเดียวกับที่สุธาชัยมองไปยังการอยู่ในอำนาจของยิ่งลักษณ์ที่ไม่เคยไปคุกคามชนชั้นนำ จนถึงขั้นที่เห็นว่ารัฐบาลนายกฯหญิงขี้ขลาดฉิบ… ไม่เคยไปแตะต้องอะไรคนพวกนี้ เพียงแค่ไม่ถูกใจเท่านั้น ซึ่งก็สอดรับกับความเห็นของ วัฒนา เมืองสุข ที่มองว่า สิ่งที่เป็นอันตรายต่อระบอบเสรีประชาธิปไตยมากที่สุดคือ การรวมตัวกันของบุคคล 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มชนชั้นนำ ผู้นำทางการทหารและนักวิชาการทั้งหลายที่ยอมก้มหัวรับใช้เผด็จการ

ด้วยตรรกะเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของบทสรุปที่ว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเรื่อยมานั้น ประชาชนเป็นเพียงเหยื่อที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยเห็นได้ชัดว่าในยามที่อำนาจเบ็ดเสร็จครองเมือง ทุกเรื่องที่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนก็ไม่สามารถขจัดปัดเป่าไปได้ นั่นจึงเกิดคำถามตามมาว่า แล้วพวกเสื้อสีต่างๆ ยังจะทะเลาะกันให้คนพวกนี้เสวยสุขโดยไม่ต้องรับผิดชอบไปเพื่ออะไร

Back to top button