หมากตาอับ BANPUแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ถ้าความทรงจำไม่ผิดพลาด นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ถือเอาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU มายาวนาน ตั้งแต่ราคาทะลุ 800 บาท เมื่อหลายปีก่อน มาจนกระทั่งถึงตอนที่หุ้นร่วงมาต่ำกว่า 300 บาทก็เชียร์ซื้อ


ถ้าความทรงจำไม่ผิดพลาด นักวิเคราะห์ในตลาดหุ้นไทยส่วนใหญ่ถือเอาหุ้น บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU มายาวนาน ตั้งแต่ราคาทะลุ 800 บาท เมื่อหลายปีก่อน มาจนกระทั่งถึงตอนที่หุ้นร่วงมาต่ำกว่า 300 บาทก็เชียร์ซื้อ

ต่อมา เมื่อผู้บริหารบริษัทตัดสินใจแตกพาร์ เมื่อราคาหุ้นเดิมอยู่ที่ระดับ 280.00 บาทช่วงปี 2556  นักวิเคราะห์ทุกสำนักในตลาดก็ยังเชียร์ซื้ออีก ด้วยข้ออ้างว่า การเติมสภาพคล่องหุ้นในตลาด จะทำให้ราคาหุ้นกระเตื้องขึ้น จึงเชียร์ “ซื้อ”

เชียร์จนกระทั่งราคาหุ้นร่วงลงมาต่ำกว่า 20 บาทก็ยังตะบี้ตะบันเชียร์ต่อไป จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ที่เริ่มมีการปรับลดจากซื้อเป็น ถือ หรือ ขาย มากขึ้น

ที่สำคัญ นักลงทุนจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าตนเองกำลัง “นอนกอดหุ้นทองคำ” ก็ยังเชื่อคำชี้แนะของนักวิเคราะห์กันมายาวนานข้ามปีกันเลยทีเดียว ราคาหุ้นยิ่งลงยิ่งซื้อถัวไม่มีอั้น…กว่าจะรู้ตัวว่าติดกับดักขาดทุนป่นปี้ ต้องเลือกเอาระหว่างการตัดขาดทุน กับ ยอมตนมอบตัวเป็นประกันให้กับหุ้นที่ยังไม่รู้ว่าจะกำไรหรือไม่ในอนาคต….บาดเจ็บเลือดสาดกันทั่วหน้า

ล่าสุด เมื่อผู้บริหารบริษัทตัดสินใจเพิ่มทุน มโหฬาร แถมยังตามมาด้วยการออกตั๋วบี/อี กู้เงินระยะสั้นอีก 1 หมื่นล้านบาทเอาไปใช้หนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปีอีก …ภาพลักษณ์และความภักดีของนักวิเคราะห์ และนักลงทุนที่มีต่อ BANPU ก็เปลี่ยนไป ความเชื่อว่านี้คือหุ้นแห่งอนาคต เริ่มถูกตั้งคำถาม

บริษัทที่เคยยิ่งใหญ่ ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งผู้บริหารยืนยันอย่างอหังการซ้ำซาก ปฏิเสธที่จะเพิ่มทุน และปฏิเสธจะแตกพาร์ เกิดมีอันตกอยู่ในอาการลุกลี้ลุกลน เสมือนขาดสภาพคล่องรุนแรงในระยะสั้น..กลายเป็นหุ้นที่อนาคตหมิ่นเหม่ได้อย่างไร??

การตอบคำถามนี้อย่างเป็นกลางและไม่ใส่อคติเจือปน ต้องย้อนไปดูงบการเงิน

หากดูจากงบการเงินที่ปรากฏอย่างย่นย่อในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเห็นได้ว่า (ตามตารางประกอบ) จะเห็นได้ว่าไม่มีอะไรที่ผิดปกติ เพราะเพิ่งขาดทุน1.53 พันล้านบาทในปีแรกเมื่อสิ้นงวดปี 2558 เท่านั้น แม้ยอดรายได้จะลดฮวบจากระดับเกิน 1 แสนล้านบาทนานหลายปี มาอยู่ที่ 8.8 หมื่นล้านบาท ตามราคาถ่านหิน และโครงการไฟฟ้าที่ยังเก็บเกี่ยวดอกผลไม่เต็มที่ แถมส่วนผู้ถือหุ้นก็ยังมีเหลือเฟือ 6.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับยอดหนี้ 1.61 แสนล้านบาท ก็มีตัวเลข D/E ที่ระดับ 1.6 เท่า ไม่ได้ร้ายแรงอะไร

ตัวเลขที่ดูจากภายนอกไม่ร้ายแรงอะไร แต่การเพิ่มทุนพิสดาร และการออกตั๋ว บี/อีกู้เงินระยะสั้น เสมือนหิวกระหายเงินสดอย่างมาก มันต้องสงสัยไว้ก่อนว่า มีความผิดปกติอย่างมาก…โดยเฉพาะเรื่องหนี้เงินกู้นั่นเอง

หนี้ของ BANPU ที่สาหัสสากรรจ์ที่สุดคือ หนี้ระยะยาว จากเงินกู้ระยะยาว 6.087 หมื่นล้านบาท และหนี้หุ้นกู้อีก 4.258 หมื่ล้านบาท ซึ่งหนี้ส่วนนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะมีแค่ส่วนที่จะต้องชำระภายในปีนี้ ประมาณ 6.67 พันล้านบาท แต่ยังมีหนี้อนุพันธ์ที่ครบกำหนดชำระใน 1 ปี 2.09 พันล้านบาท หนี้เงินกู้ระยะสั้นอีก 8.31 พันล้านบาท แล้วยังมีค่าเปิดหน้าดินกับค่าขนถ่านหินค้างจ่ายอีก 4.20 พันล้านบาท (ไม่รวมหนี้สินหมุนเวียนอื่นอีก 9.87 พันล้าน)

ประเมินอย่างหยาบๆ BANPU มีความต้องการเงินสดสำหรับใช้หนี้ระยะสั้นในปี 2559 นี้รวมแล้วประมาณ 2.127 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมหนี้ปกติของการค้า)

ยอดหนี้ระยะสั้นนี้ หากคำนวณจากการเพิ่มทุนอีก  2,581 ล้านหุ้น ขายราคา 5 บาทต่อหุ้นพ่วงแจกวอร์แรนต์ ล้านหุ้น หรือ เพิ่มมากถึง 100% ด้วยราคาหุ้นสามัญที่จำหน่ายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม(RO)5 บาทต่อหุ้น จำนวนครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งรองรับวอร์แรนต์สำหรับคนที่ถือหุ้นกู้อยู่เดิมฟรี โดยวอร์แรนต์ดังกล่าวมีค่าแปลงสิทธิเป็นหุ้นสามัญในอนาคต 5 บาท ในสัดส่วนแปลงสิทธิ  1หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์…ก็น่าจะไม่คุ้มหนี้

หมากตาอับนี้ ต้องแก้ด้วยการออกตั๋ว บี/อี มากอีก 1 หมื่นล้านบาท จึงจำเป็นต้องตามมา เพื่อให้เพียงพอชำระนี้ระยะสั้น และแก้ปัญหาสภาพคล่องที่ร่อยหรอลง

ปริศนา ของทางเลือกในการเพิ่มทุนแบบ RO แทนที่จะเพิ่มทุนแบบ PO หรือ PP ซึ่งจะได้เงินเข้าบริษัทมากกว่า น่าสนใจมาก

ผู้รู้วงการเงินระบุว่า….ราคาดังกล่าว ไม่แพง(จากราคาขาย) แต่ไม่ถูก(หากรวมต้นทุนหุ้นเดิมที่ถืออยู่) น่าจะเกิดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ไม่ต้องการจ่ายเงินเพิ่มทุนเข้ามามาก….และไม่ต้องเสียสิทธิการถือครองสัดส่วนหุ้นจนกระทั่งเกิดการเทคโอเวอร์กิจการในภายหลัง…น่ะสิ

งานนี้ แม้ดูผิวเผิน ผู้ถือหุ้นเดิมอื่นๆ ได้ประโยชน์ไปด้วย แต่…ขอโทษที หากคิดเรื่อง price dilution เข้ามาแล้ว แค่เศษเนื้อข้างเขียง ธรรมดา

นักวิเคราะห์หลายสำนักจึงดาหน้าออกมาชี้แนะว่า ราคาหลังเพิ่มทุนจะมีลักษณะเชิงลบ หรือ เป็นกลางค่อนในทางลบ เพราะเงินที่ถูกนำไปใช้ในการชำระคืนหนี้สินมากกว่ากว่าสร้างรายได้

ในมุมของบริษัทเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า นี่คือการปรับทิศทางเพื่อความอยู่รอด และกลับมาแข็งแรงในอนาคต แต่ในมุมของผู้ถือหุ้น เสียงวิจารณ์จากกลุ่มผู้ถือหุ้นที่จงรักภักดียาวนาน (โดยไม่มีใครบังคับ หรือชี้ชวน) คือการแทงข้างหลังอย่างเลือดเย็น

งานนี้ หัวใจ(รายย่อย)สลายกันทั่วหน้า ต้องหาทางปรับพอร์ตกันอุตลุดให้เสียหายน้อยที่สุด แต่คำนวณแล้วยังไงก็ไม่คุ้มอยู่ดี

ความภักดีที่กลายเป็นวิกฤติศรัทธานี้ …หากผู้บริหารไม่ใส่ใจสื่อสาร หรือเยียวยา…อาจมีโอกาสตามมาด้วยวิกฤตศรัทธาอย่างง่ายดาย

วันพระไม่ได้มีหนเดียว…ขอบอก!!

ครับ

Back to top button