พาราสาวะถีอรชุน

เห็นตรงกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อ จตุพร พรหมพันธุ์ จากฝั่งเพื่อไทยและคนเสื้อแดง กับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากประชาธิปัตย์ มองเหมือนกันว่า ข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายหรือจะว่าไปแล้วก็คือต่อท่อตรงมาจากคสช.นั่นแหละ ในกรณีให้กรธ.บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลงดเว้นการบังคับใช้ประเด็นเกี่ยวกับการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนต่อกกต.ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง


*เห็นตรงกันโดยไม่ได้นัดหมาย เมื่อ จตุพร พรหมพันธุ์ จากฝั่งเพื่อไทยและคนเสื้อแดง กับ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จากประชาธิปัตย์ มองเหมือนกันว่า ข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายหรือจะว่าไปแล้วก็คือต่อท่อตรงมาจากคสช.นั่นแหละ ในกรณีให้กรธ.บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลงดเว้นการบังคับใช้ประเด็นเกี่ยวกับการให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนต่อกกต.ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง

*โดยทั้งจตุพรและนิพิฏฐ์เห็นว่า นั่นเป็นการเปิดช่องให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ที่มีเสริมเติมมาหน่อยสไตล์รองหัวหน้าพรรคนักพูดก็คือ การงดเว้นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าว เพื่อให้คนขี้เขินและเหนียมอาย ไม่กล้าแสดงตนต่อสาธารณะได้มาเป็นผู้นำประเทศได้อย่างสบายใจ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะกระมิดกระเมี้ยนหรือดัดจริตไปทำไม

*เพราะหากเป็นไปเหมือนอย่างที่สองคนว่าไว้ คนที่จะเข้ามาก็คือหนึ่งในอดีตสมาชิกของคสช. ย่อมหนีไม่พ้นข้อครหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไรคงจะให้มองเป็นอย่างอื่นได้ยาก ซึ่งความจริงก็ไม่เห็นจะต้องแคร์อะไร ในเมื่อมีมาตรายาวิเศษอยู่ในมือ ใครลุกฮือหรือกล้าหือก็ใช้ไม้แข็งเล่นงานเสียให้อยู่มัดเท่านั้นก็สงบราบคาบแล้ว

*ส่วนที่เกรงว่าต่างชาติจะไม่เข้าใจ ไม่จำเป็นที่จะต้องแยแสเช่นกัน ไหนๆก็นั่งยันนอนยันแล้วว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่านขอเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆก็เดินกันไปให้สุดทาง ส่วนมันจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาประเทศหรือเป็นอุปสรรคต่องานด้านเศรษฐกิจหรือไม่ ไม่ต้องสน เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เขียนเขียนคอลัมน์จากใจนายกรัฐมนตรีในจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชนย้ำแนวทางอย่างชัดเจน

*โดยระบุสิ่งที่ประกันความมั่นคงมั่งคั่งอย่างยั่งยืนของประเทศได้คือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามปรัชญาประชารัฐที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป็นเจ้าของประเทศ โดยท่านผู้นำอธิบายเป็นฉากๆว่า โครงสร้างเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมาไม่รองรับการพัฒนาของโลก พึ่งพาปัจจัยภายนอกประเทศ และคนส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการเกษตร สังคมมีความเหลื่อมล้ำในทุกๆด้าน

*ขณะที่ด้านการเมืองก็มอมเมาและลวงตาประชาชนทั้งตาบอดสีและสาดสีแบ่งแยกกันแบบผิดๆ ทั้งสายตาสั้นมองความสุขเพียงอายุรัฐบาลที่ขายฝันและรอกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ แต่แนวทางประชารัฐจะเป็นการปฏิรูปทุกมิติ รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป็นเจ้าของ ทำให้รัฐมีธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง โดยรัฐต้องไม่ยัดเยียด

*ไม่เพียงเท่านั้น ท่านผู้นำยังประกาศอย่างหนักแน่นว่า เสาค้ำยันสำคัญคือ ทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิหน้าที่ เสรีภาพ ขจัดความไม่เท่าเทียมและไม่แบ่งแยก สร้างดุลยภาพในแนวดิ่งให้ทั้งรัฐ เอกชนและประชาชนทำงานร่วมกันอย่างโปร่งใส เชื่อใจไร้ทุจริต มีระบบประเมินและตรวจสอบได้ หลักการแม่นเป๊ะ ตะเบ๊ะแถวตรงครับท่าน

*แต่คำถามสำคัญก็คือ ความเท่าเทียมทางกฎหมายที่ว่านั้นมันเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เอาแค่เปรียบเทียบกรณีการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นประกาศหรือคำสั่งของคสช.เอง กรณีรวมตัวหรือชุมนุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่ยัดเยียดข้อกล่าวหาให้กับเด็กนักศึกษาที่จะไปอุทยานราชภักดิ์กับกลุ่มพระที่รวมตัวกันที่พุทธมณฑล แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆต่อพุทธะอิสระที่ไปชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา

*แค่เท่านี้ก็เห็นแล้วว่า ในมิติของการทำกฎหมายให้เป็นกฎหมายนั้นทำได้แค่ลมปาก แต่ในทางปฏิบัติยังเกิดภาพสองมาตรฐานที่เห็นกันจะจะ ยิ่งมองไปยังระบบการได้มาซึ่งส.ว.ที่เป็นการลากตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์เพื่อจะเอามาคุมประชาชนในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยที่ผ่านการเลือกของคนไม่กี่คน เช่นนี้จะเรียกว่าประชารัฐให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางและเป็นเจ้าของประเทศอย่างนั่นหรือ

**ยิ่งมิติทางด้านเศรษฐกิจถามว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ถือธงประชารัฐไปพูดบนเวทีต่างๆ วันนี้ลองไปสอบถามชาวบ้านได้อานิสงส์หรือเห็นผลงานอะไรที่สัมผัสจับต้องได้จากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้หรือไม่ คำตอบมันชัดเจนอยู่แล้ว ยิ่งล่าสุด วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาส่งสัญญาณว่าสิ้นเดือนนี้จะมีการปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจใหม่ ยิ่งเห็นภาพชัดมากขึ้นไปอีก

*จากเดิมที่คาดว่าปีนี้จีดีพีจะโตร้อยละ 3.5 จะมีการปรับคาดการณ์ลดลง โดยมีปัจจัยลบจากความผันผวนจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก และสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ที่ต้องขีดเส้นใต้คือ การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ล่าช้ากว่าเดิม ซึ่งทั้งหมดส่งสัญญาณชัดเจนต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่าน

*ที่บอกว่าต้องขีดเส้นใต้นั้นมันน่าสงสัยว่า ทั้งๆที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและวางมาตรการไว้อย่างรัดกุม เหตุใดการเบิกจ่ายงบประมาณจึงล่าช้า ทั้งๆที่หลายโครงการประกาศปาวๆว่าจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกรณีโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท มาจนถึงวันนี้มีการเบิกจ่ายและใช้งบประมาณไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ เช่นนี้ท่านผู้นำคงรู้ดีว่าเป็นเพราะอะไร

*ในโลกแห่งความเป็นจริงหากการเมืองมีเสถียรภาพ รัฐบาลมีความมั่นคงจริง เม็ดเงินในการลงทุนจะต้องไหลมาเทมา ยิ่งเห็นภาพผู้นำประเทศและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลยืนยันการันตี ยิ่งต้องเป็นการสร้างความเชื่อมั่น แต่ทำไมนักลงทุนจึงไม่กล้าที่จะเสี่ยงดำเนินการใดๆ ในฐานะที่มีปฏิสัมพันธ์กับบรรดาเจ้าสัวหลายสำนัก ไม่ลองถามและนำความจริงมาบอกกล่าวกับประชาชนบ้างว่าเกิดอะไรขึ้น

*การที่ท่านผู้นำบอกว่า โครงสร้างเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมาไม่รองรับการพัฒนาของโลก แท้ที่จริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ความจริงน่าจะเป็นประเด็นว่า เพราะโลกเขาไม่ให้ความไว้วางใจกับประเทศที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าหรือไม่ โดยเฉพาะประเทศที่สามารถจุดประกายสร้างความขัดแย้งได้โดยง่ายเพียงแค่คนแค่ไม่กี่กลุ่มกี่ราย

*สถานการณ์ที่ผ่านมาต้องถามว่าประชาชนมีความสุขและอยู่ดีกินดีจริงหรือไม่  ประเทศที่ผ่านการรัฐประหารมาแล้วและจัดการเลือกตั้งแต่บรรยากาศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ถามว่าจะมีนักลงทุนหน้าไหนนำเม็ดเงินมาเผชิญกับความเสี่ยง หากข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ เชื่อมั่นว่าประชาชนจะยอมรับ ทำไมหลังรายงานครม.เมื่อวาน จึงยังไม่มีใครแถลงหรือชี้แจงใดๆ ออกอาการลับๆล่อๆอย่างไม่น่าไว้วางใจ

Back to top button