TTNT ปิดฉาก 4 ตำนานแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
วันที่ 15 มีนาคม ถือเป็นวันที่ตำนานธุรกิจของบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือ TTNT ได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ โดยคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ที่ออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทเด็ดขาด ห้ามทำธุรกรรมใด ยกเว้นการให้เจ้าหนี้ติตต่อกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไปตามขั้นตอนปิดกิจการ
วันที่ 15 มีนาคม ถือเป็นวันที่ตำนานธุรกิจของบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือ TTNT ได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ โดยคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ที่ออกคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทเด็ดขาด ห้ามทำธุรกรรมใด ยกเว้นการให้เจ้าหนี้ติตต่อกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อไปตามขั้นตอนปิดกิจการ
การปิดกิจการดังกล่าว ไม่เพียงเป็นการยุติการดำเนินกิจการเท่านั้น หากยังเป็นการสิ้นสุดตำนานหลายอย่าง นับแต่ 1)ตำนานว่าด้วยการให้สัมปทานขยายเครือข่ายโทรคมนาคมมีสายไปต่างจังหวัด 2) ตำนานการปรับโครงสร้างหนี้อันซับซ้อน 3) ตำนานของการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่ล้มเหลว
ต้นกำเนิดตำนานของ TTNT เริ่มต้นจากการก่อตั้ง บริษัท ไทย เทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2535 ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 100 ล้านบาท เพื่อรับสัมปทานโครงการขยายโครงข่ายโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายในเขตภูมิภาค จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบันคือ ทีโอที) เพื่อตัดแบ่งด้วยข้ออ้างว่า เพราะกลัวการผูกขาดธุรกิจของ กลุ่มซีพี หรือ บริษัท เทเลคอมเอเชีย จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE
สัญญาสัมปทานดังกล่าว สร้างความฮือฮาอย่างมากตั้งแต่เริ่มแรก เพราะเสนอเงื่อนไขแบ่งผลประโยชน์ให้กับทีโอที มากถึง 43% ของรายได้ ซึ่งสัญญาดังกล่าว ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2535 ในวันที่ 21 กันยายน 2538 โดยที่ต่อมา มีการลงนามเพิ่มขยายบริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่เขตโทรศัพท์ภูมิภาคเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนเลขหมาย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 5 แสนตารางกิโลเมตร ด้วยการวางสายออพติกไฟเบอร์เป็นระยะทาง 12,000 กิโลเมตร
เงื่อนไขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลกที่ TTNT จะขาดทุนตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็ยังสามารถเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ตามเงื่อนไขธุรกิจสาธารณูปโภค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเข้ามาแล้วจะกลายเป็นธุรกจิที่ทำกำไร
ท้ายสุดปฏิบัติการ “งูที่กลืนกินตัวเอง” ของ TTNT มาถึงที่สุดเมื่อผู้บริหารยอมรับเข้าสู่ศาลล้มละลายกลาง เมื่อทุนจดทะเบียนที่ท้ายสุดเพิ่มมากเป็น 70,000 ล้านบาท ติดลบ
จากนั้นตำนานของการแย่งชิงกันเป็นผู้บริหารแผนก็เริ่มขึ้นโดยใช้เวลาอันยาวนาน เป็นข่าวเป็นระยะๆ ที่ส่งผลต่อราคาหุ้นทั้งบวกและลบตามกระแสของความขัดแย้งที่ดำเนินไป กินเวลายาวนาน ก่อนที่ในปี 2551 กลุ่มบริษัทภายใต้การนำของ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม เจ้าของฉายา “บ๊วยเค็ม” ที่เชื่อว่าตนเองรู้จักบริษัทนี้ดีกว่าใคร ชื่อ พี แพลนเนอร์ ก็เข้ามาคว้าชัยชนะในการบริหารแผนฟื้นฟูกิจการจากคำสั่งศาลล้มละลายลาง
ตามแผนที่พี แพลนเนอร์เสนอนั้น วาดเอาไว้สวยหรูว่า จะมีการปรับโครงสร้างหนี้กับกลุ่มเจ้าหนี้ 55 ราย ที่ส่วนใหญ่เป็นเฮดจ์ ฟันด์จากต่างประเทศ ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุน เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายกว่า 50% จากเดิมปีละกว่า 1,000 ล้านบาท และหลังการปรับโครงสร้าง จะให้อัตราดอกเบี้ยแค่ 3% ลดภาระดอกเบี้ยจ่ายเหลือไม่ถึง 500 ล้านบาทต่อปี โดยคาดหมายว่า น่าจะออกจากแผนฟื้นฟูได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554
ตำนานของการบริหารแผน TTNT ภายใต้อุ้งมือของ “บ๊วยเค็ม” ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบนานถึง 5 ปี โดยไม่มีใครรู้ว่าสำเร็จหรือล้มเหลวในการฟื้นฟูชัดเจน พร้อมกับงบแสดงฐานะทางการเงินที่ย่ำแย่ต่อเนื่องทุกไตรมาส จนกระทั่งถึงสิ้นงวดปี 2556 ก็ถูกผู้ตรวจสอบบัญชีไม่แสดงความเชื่อมั่นในงบการเงิน ถูกตลาดห้ามการซื้อขายมานับแต่นั้น
ก่อนหน้าจะถึงวันดังกล่าว ปรากฏในปี 2555 ที่ TTNT แจ้งตลาดฯ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 ว่าได้มีผู้ถือหุ้นใหญ่สุดอันดับหนึ่งคือ Ayuthaya Limited (มีคนพยายามโยงใยเข้ากับ ทักษิณ ชินวัตร โดยไม่มีหลักฐานยืนยัน) ถือหุ้นในสัดส่วน 16.40% แทนที่ของ Avenue Asia Capital Partners, L.P เดิม
ในขณะที่ชะตากรรมของพี แพลนเนอร์ ก็ไม่ได้ดีกว่ากัน เพราะปลายปี 2556 บริษัทดังกล่าวก็ถูกคำสั่งศาลให้พ้นจากการเป็นผู้บริหารแผน เนื่องจากไม่ได้รับการต่อใบอนุญาตให้เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯอีก เพราะขาดคุณสมบัติ แต่มีคำอธิบายในภายหลังจากผู้บริหารของ TTNT สั้นๆ แต่คลุมเครือว่า “ที่ผ่านมาแผนฟื้นฟูกิจการดำเนินการมาได้ด้วยดี แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ของเจ้าหนี้ได้…”
“บ๊วยเค็ม” หายตัวไปจากการเกี่ยวข้องกับ TTNT ตั้งแต่นั้นมา หลังจากที่ ในปลายปี 2556 ที่ประชุมเจ้าหนี้ของ TTNT มีมติเลือก บริษัท พีซีแอล แพลนเนอร์ จำกัด (PCL Planner) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท เพลินจิต แคปปิตอล จำกัด เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการรายใหม่ ด้วยคะแนนเสียง 98.35% ของจำนวนหนี้ทั้งหมด หรือมูลหนี้ 2.2 หมื่นล้านบาทที่ยังไม่ได้รับชำระเงิน (ขณะที่การเสนอตัวของ TT&T ขอเป็นผู้บริหารแผนเองนั้น มีคะแนนเสียงสนับสนุนเพียง 1.65% หรือคิดเป็นมูลหนี้ 378 ล้านบาท)
ผลงานแข่งกับเวลาของ พีซีแอล แพลนเนอร์ ดำเนินเป็นไปอย่างเงียบเชียบเช่นเดียวกัน ในขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฯก็ออกคำเตือนหลายครั้งให้ผู้บริหารดำเนินการส่งงบการเงินที่ได้รับการรับรองถูกต้อง ก่อนที่จะถูกเพิกถอนกิจการเมื่อครบกำหนด
ผลงานสุดท้ายที่ปรากฏเป็นข่าวของ พีซีแอล แพลนเนอร์ ปรากฏเมื่อกลางปี 2558 เมื่อทำเรื่องให้ TTNT ฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกค่าเสียหายจาก ACU ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทจัสมิน อินเตอรเนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้ ACU โอนขายหุ้นของ TTT BB ให้แก่ผู้ถือหุ้น TT&T พร้อมยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ระหว่างพิจารณา ขอให้ศาลมีคำสั่งห้าม ACU มิให้จำหน่ายจ่ายโอน จำนำ หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันใดๆ ในหุ้น TTT BB แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 57 ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์ดังกล่าวไปแล้ว
พ้นจากนั้นแล้ว เรื่องราวของ TTNT ก็เป็นเพียงแค่การนัดหมายเจ้าหนี้และขอเลื่อนการพิจารณาแผนกับกลุ่มเจ้าหนี้ฯในศาล จนกระทั่งล่าสุดถึงได้มีข้อยุติเด็ดขาด
ปิดตำนานของธุรกิจสัมปทานโทรคมนาคมที่เป็นไปไม่ได้ในสัดส่วน 99.99%