ค่าบาทขาลอยพลวัต 2016

เป็นช่วงเวลาอีกครั้ง ที่เงินบาทกลับแข็งขึ้นมาต่ำกว่า 25.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเกิดจากกระแสฟันด์โฟลว์จากทุนเก็งกำไรข้ามชาติ เพราะเส้นทางขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ของเฟดฯเข้าทางตลาดหุ้นเอเชียและไทยพอดี


วิษณุ โชลิตกุล

 

เป็นช่วงเวลาอีกครั้ง ที่เงินบาทกลับแข็งขึ้นมาต่ำกว่า 25.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะเกิดจากกระแสฟันด์โฟลว์จากทุนเก็งกำไรข้ามชาติ เพราะเส้นทางขึ้นดอกเบี้ยอย่างช้าๆ ของเฟดฯเข้าทางตลาดหุ้นเอเชียและไทยพอดี

เมื่อคืนก่อน เฟดฯ มีมติคงอัตราดอกเบี้ย และได้ลดคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ในปีนี้ลงเหลือเพียง 2 ครั้ง สะท้อนความระมัดระวังต่ออนาคตชัดเจนแต่ก็ตอกย้ำว่า

บนเส้นทางสู่ดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างช้าๆ เฟดฯยืนยันว่าความผันผวนของตลาดทุนและตลาดเก็งกำไรในเดือนมกราคมที่ผ่านมาได้ผ่านไปแล้วในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มกระเตื้องขึ้นเข้าสู่จุดหมาย 2% ต่อปีไปทุกขณะ (แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะร่วงลงสวนทาง) การขึ้นดอกเบี้ยแม้จะยังไม่ใช่รอบนี้แต่ก็คงจะไม่นานเกินไป

คำถามที่ท้าทาย หากเฟดฯจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปอยู่ที่ว่า ตลาดบอนด์ของสหรัฐฯจะผันผวนมากน้อยแค่ไหน เพราะราคาบอนด์ของรัฐบาลสหรัฐฯในอนาคตมีความเสี่ยงจะตกลงจากการขึ้นดอกเบี้ยและบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้น จะไม่สามารถจูงใจให้คนถือบอนด์ในสหรัฐฯ แต่จะไหลออกไปเก็งกำไรที่ไหลเข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลเยอรมัน เพื่อเก็งกำไรจากบอนด์ยีลด์ที่ติดลบ และดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบของ ECB

ล่าสุด บอนด์ยีลด์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ลดฮวบจาก 1.99% มาอยู่ที่ 1.91% ทำให้ช่องห่างกับญี่ปุ่นและยูโรโซนลดลงเล็กน้อย แต่ยังไม่เพียงพอดันราคาบอนด์ในสหรัฐฯ ดังนั้นโอกาสที่ค่าดอลลาร์จะยังคงอ่อนตัวต่อไป เพราะทุนไหลออกจากตลาดสหรัฐฯในช่วงนี้ยังมีกระแสสูง

การอ่อนตัวทันทีของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักสำคัญของโลกหลังจากที่เฟดฯมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิมสะท้อนให้เห็นว่ามีแรงกดดันให้ขายดอลลาร์ออกมากขึ้น

นี่เป็นเกมใหม่ที่เฟดฯไม่เคยเจอมาก่อน แต่เป็นข่าวดีของตลาดหุ้นเอเชียรวมทั้งไทยในระยะสั้นๆ เพราะทุนจากสหรัฐฯจะไหลเข้ามาท่วมตลาดมากขึ้น แต่ก็เป็นเกมเดิมที่ซ้ำรอยของชาติกำลังพัฒนาหรือตลาดเกิดใหม่ที่ย้อนกลับมาอีกครั้ง

การที่ค่าเงินบาทย้อนกลับมาแข็งค่าใต้ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งแข็งค่าสุดในรอบ 7  เดือนคราวนี้นับแต่วานนี้ จึงมีลักษณะ “ขาลอย” จากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย แถมยังวิ่งสวนทางกันเสียอีก 

ข้อมูลล่าสุด นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยว่า ดัชนีความความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนก.พ. 59 อยู่ที่ระดับ 85.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.3 ในเดือนม.ค. 59 เนื่องจากการปรับตัวลดลงของยอดคำสั่งซื้อโดยรวม, ยอดขายโดยรวม, ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

แม้บรรยากาศของภาคการผลิตที่แท้จริงจะดูย่ำแย่ แต่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ส่วนหนึ่งของแรงดึงดูดให้กองทุนเก็งกำไรหอบทุนไหลเข้ามาในประเทศ เกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าของไทยยังเป็นบวกต่อเนื่อง แม้ตัวเลขส่งออกและนำเข้าสินค้าจะถดถอยลง และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถดถอยต่อเนื่อง

ดุลการค้าดีขึ้น เพราะตัวเลขส่งออกลดลงต่ำกว่าตัวเลขนำเข้า

ดุลบัญชีเดินสะพัดมาแรงเพราะการท่องเที่ยวจากการที่ไทย “ปล่อยผี” ให้นักท่องเที่ยวจีนดาหน้าเข้ามาโดยไม่ต้องมีวีซ่า

ล่าสุด นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ในปี 59 ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวทั้งปีที่ 2.3 ล้านล้านบาท แต่จะพยายามทำให้รายได้ถึง 2.4 ล้านล้านบาท เพื่อนำรายได้จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาช่วยชดเชยเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 32 ล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน

ทั้งหมดนี้ มีประเด็นสำคัญที่ไม่คาดคิดมาก่อน  คือ ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้นและแข็งแกร่งต่อไป

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทุนเก็งกำไรที่ไหลเข้ามานี้ จะไหลเข้าไปที่ตลาดใด ระหว่างตลาดตราสารหนี้ หรือตลาดหุ้น

ในอดีตอันใกล้ ทุนไหลเข้าที่ทำให้ค่าบาทแข็งแกร่ง เข้ามาในตลาดตราสารหนี้มากกว่าตลาดหุ้น แต่แค่นั้นก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นวิ่งแรงอย่างมาก ทะลุแนวต้านเหนือ 1,635 จุด ยามนั้น ค่าเงินบาทที่แกร่งกะทันหัน ทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 2556 ถูกแรงกดดันจากเสียงเรียกร้องของผู้ส่งออกที่เดือดร้อนหนัก เสนอข้อเรียกร้องให้แบงก์ชาติใช้มาตรการดอกเบี้ยยืดหยุ่นโดยเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งโดยตรงและอ้อม (การเพิ่มปริมาณเงินในตลาด ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือ การแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผ่านกลไกต่างๆ) เพื่อให้เงินอ่อนค่าลง รักษาความได้เปรียบในการแข่งขันทางการค้า

ข้อเรียกร้องของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในขณะนั้น ได้รับการเมินเฉยจากผู้บริหารแบงก์ชาติ โดยอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ   “เป้าหมายเงินเฟ้อ” พร้อมอ้างเหตุผลในขณะนั้นว่า คือ การลดดอกเบี้ยจะทำให้กำลังซื้อในตลาดเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะหนี้สินภาคครัวเรือน) ส่งผลให้ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงไม่เห็นด้วยกับการใช้ค่าเงินเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการส่งออก ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการทำสงครามค่าเงิน

ข้อถกเถียงแบบเดิม มีโอกาสจะกลับมาได้ หากค่าบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนที่จะมีการถกเถียงกันนั้น โอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นจะเดินหน้าฝ่าแนวต้านไปได้อีกระยะหนึ่ง เหนือ 1,400 จุด จะขึ้นกับตัวเลขทุนไหลเข้าจะต่อเนื่องแค่ไหน เพราะไทยได้กลายเป็นแหล่งที่เหมาะกับการลี้ภัยชั่วคราวของทุนเก็งกำไร ที่หลบเข้ามาหากำไรหลายเด้ง (ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ตลาดตราสารหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่าผ่านธุรกรรม carry trade  และ ตลาดหุ้น) ก่อนจะถอนกลับไปเมื่อถึงเวลา ในช่วงที่ดอกเบี้ยตลาดสำคัญของโลกต่ำติดพื้น และดอกเบี้ยในไทยสูงกว่า ในขณะที่ปราศจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ

สถานการณ์ค่าบาทที่กำลัง “ขาลอย” จะยาวนานอีกแค่ไหน และรับมือกันอย่างไร กำลังท้าทายฝีมือรัฐไทยอีกครั้ง

    

 

Back to top button