โรงไฟฟ้าถ่านหินระดับโลก
ตั้งอยู่ ณ เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เชื่อมต่อกับฝั่งไทยได้ทางด้าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ในระยะทาง 65 ก.ม.
ชาญชัย สงวนวงศ์
ตั้งอยู่ ณ เมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว เชื่อมต่อกับฝั่งไทยได้ทางด้าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน ในระยะทาง 65 ก.ม.
คณะ วพน.1 (วิทยาลัยพลังงาน) บางคนภายใต้การนำของคุณโยธิน ดำเนินชาญวนิชย์ ถึงกับเอ่ยปากว่า ต่อไปไม่ต้องไปดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงเยอรมนีหรือญี่ปุ่นแล้ว
มาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินมาตรฐานโลกในประเทศใกล้ชิดรั้วบ้านเรานี่แหละ
โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีชื่อว่า “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนหงสา” มีกำลังการผลิตรวม1,878 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยหน่วยผลิต 3 หน่วย หน่วยละ 626 MW
แบ่งจ่ายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าลาว100 MW และ กฟผ. 1,473 MW ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขายมาทางฝั่งไทยเรานี่แหละ
ปัจจุบัน โรงไฟฟ้าทั้ง3 หน่วย ผลิตและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว โดยหน่วยแรกเริ่มจ่ายไฟฟ้าเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว หน่วยที่2 พ.ย. 58 และหน่วยที่ 3 จ่ายไฟฟ้ามาตั้งแต่ 2 มี.ค.ปีนี้
บริษัทไฟฟ้าหงสา มีผู้ถือหุ้น 3 ฝ่าย ประกอบด้วย บริษัทบ้านปู40% บริษัทย่อยของราชบุรีโฮลดิ้ง40% และรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว20% มูลค่าลงทุนโครงการ สูงถึง3,710 ล้านดอลลาร์
คิดเทียบเป็นเงินไทยก็ในราว 133,560 ล้านบาท
ลงทุนสูงซะขนาดนี้ ปัญหาการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพและสุขอนามัยชุมชน และความปลอดภัยก็หายห่วง ที่นี่จัดเต็มตามมาตรฐานธนาคารโลกครับ
โรงไฟฟ้าตั้งอยู่บนพื้นที่สัมปทานแหล่งถ่านหินลิกไนต์ เนื้อที่ 76.2 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 4.7 หมื่นไร่ ติดตั้งเครื่องจักรไฮเทคโนโลยีจากจีน
มีการลงทุนติดตั้งเครื่องดักจับสารพิษที่สำคัญได้แก่ เครื่องดักจับซัลเฟอร์92% ไนโตรเจนไดออกไซด์98% และเครื่องดักจับฝุ่นละอองได้ถึง 99.83%
น่าจะเรียกเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
การจัดรูปโรงงานและจัดพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ก็มีความทันสมัยและเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก หน่วยผลิตทั้ง 3 โรง ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน อันทำให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ ไม่ตั้งอย่างกระจัดกระจายเหมือนโรงไฟฟ้ารุ่นเก่าๆ
เนื่องจากโครงการจะต้องมีการโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่จำนวน 450 ครอบครัวไปอยู่ในที่แห่งใหม่ บริษัทไฟฟ้าหงสาก็มิได้นิ่งนอนใจ โดยยึดหลักที่อยู่และที่ทำกินจะต้องดีกว่าหรือเทียบเท่ากับที่อยู่เก่า
ประชาชนจะได้รับเงินชดเชยจำนวนหนึ่ง ได้รับบ้านครึ่งตึกสำเร็จรูปบนเนื้อที่110 ตารางวาต่อครอบครัว(8 คน) ได้รับที่ทำกิน2 เฮกตาร์ (ประมาณ12.5 ไร่) ต่อครอบครัว และมีโควตาทำงานในโครงการอย่างน้อย1 ตำแหน่ง/ครอบครัว
ปัจจุบัน บริษัทไฟฟ้าหงสามีพนักงานทั้งสิ้น 3,800 คน มีการว่าจ้างแรงงานในท้องถิ่นถึง2 ใน 3 หรือในราว2,500 คน
โรงไฟฟ้าแม่เมาะยุคแรกๆ สร้างงานสร้างเงินให้ชุมชนอย่างไร โรงไฟฟ้าหงสาก็คงเป็นแบบนั้น แต่เริ่มต้นด้วยคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่ากันมากๆ เลย
บทเรียนที่ดีอย่างมากของการพัฒนา ซึ่งประชาชนจะต้องเสียสละย้ายที่อยู่และที่ทำกิน ก็คือ โครงการโรงไฟฟ้าได้มอบพันธสัญญาอันเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม
นั่นคือ แต่ละครอบครัวจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีรายได้พ้นขีดความยากจนภายใน3 ปี และรายได้ครอบครัวต้องเพิ่มขึ้น 150% ภายใน10 ปี
รายได้ของประชาชนทั่วเมืองหงสาก็จะต้องสูงกว่าขีดความยากจนภายใน 3 ปีเช่นเดียวกัน
เรื่องนี้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการของเมืองหงสา ทำการตรวจสอบรายได้ของประชาชนอย่างเอาจริงเอาจังและเป็นทางการ
โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดมาตรฐานโลก อยู่ในเมืองหงสาลาวนี่เอง