เสือกระดาษแผลงฤทธิ์ แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

ใครที่พูดว่า ผู้บริหาร ก.ล.ต. ไม่รู้จักทฤษฎีเกม แสดงว่า รู้จักกันน้อยไป และประเมินต่ำไป


ใครที่พูดว่า ผู้บริหาร ก.ล.ต. ไม่รู้จักทฤษฎีเกม แสดงว่า รู้จักกันน้อยไป และประเมินต่ำไป

ประกาศล่าสุด ออกมาเป็นชุดเหมือนมาตามนัด แม้จะแยกประกาศคนละฉบับ (ถือว่าไม่บังเอิญ) เรื่องคำสั่งลงโทษกรรมการ ผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้องที่ทำผิดต่างกรรมต่างวาระ 5 บริษัทมหาชนจดทะเบียน ด้วย 3 ข้อหาที่ไม่เชื่อมโยงกัน ซึ่งทำให้คนอาจเข้าใจมั่วๆ ได้ว่า กระทำความผิดคล้ายๆ กัน…ทั้งที่ไม่ใช่

คำสั่งลงดาบดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ ก.ล.ต.ดูดีขึ้นเยอะ ไม่ใช่ “เสือกระดาษ” อีกต่อไป ด้านหนึ่ง มีคนที่มีชื่อ รู้จักกันดีปะปนอยู่ด้วย ได้ภาพลักษณ์ที่แสดงว่าไม่เลือกปฏิบัติ อีกด้านหนึ่ง เป็นการ “เชือดไก่ให้ลิงดู” เพื่อเตือนผู้บริหารอื่นๆให้ระวังในอนาคต

เหยื่อของก.ล.ต.รอบนี้ น่าสนใจเพราะประกอบด้วยคนและข้อหาต่างกันไป

นายชัย โสภณพนิช กรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI ถูกข้อหา “กระซิบ” ข้อมูลเรื่องการจ่ายหุ้นปันผลพิเศษในสัดส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นปันผล ให้คนอื่นรับทราบ ทำให้คนผู้นั้นเข้าซื้อหุ้น BKI (ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นนอมินี) ก่อนที่ข้อมูลดังกล่าวจะถูกเปิดเผยต่อบุคคลทั่วไปในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557  เป็นข้อหา อินไซเดอร์เทรดดิ้ง ตามมาตรา 241 จึงถูกห้ามเป็นกรรมการ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิตจำกัด (มหาชน) หรือ BLA ซึ่งมีใบอนุญาตนายหน้าค้าหรือจำหน่ายกองทุนรวม นาน 3 ปี นับแต่วันที่ 17 มีนาคม 2559  และปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท (แต่ไม่ถูกห้ามเป็นกรรมการ BKI) แม้จะระบุว่า ผลประโยชน์ที่นายชัยได้รับนั้นมีมูลค่าต่ำกว่ามูลค่าเปรียบเทียบปรับขั้นต่ำ 5 แสนบาท

นายสมยศ อนันตประยูร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท ดับเบิลยู เอช เอ จำกัด (มหาชน) หรือ WHA  จากการแพร่ข่าวผ่านหนังสือพิมพ์ 2 ฉบับ ประจำวันที่ 27 ตุลาคม 2557 ว่า WHA กำลังอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อกิจการของบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่งที่มีมูลค่าราว 5 หมื่นล้านบาท เป็นบริษัทที่มีค่า P/E ประมาณ 10 เท่า มีอายุมากกว่า 20 ปี และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกับ WHA ( บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) หรือ HEMRAJ) ถือเป็น “ปากสว่าง” ให้ข่าวสารชี้นำราคา โดยที่มิได้เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯก่อน และมีสาระสำคัญที่อันอาจส่งผลต่อราคาหลักทรัพย์ WHA ผิดมาตรา 239 ถูกลงโทษปรับจากจากคณะกรรมการเปรียบเทียบเป็นเงิน 5 แสนบาท 

นายพิเชษฐ์ บุญยภักดี อดีตกรรมการ กรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ สายงานบัญชีและการเงินของ บริษัท เอ็มลิ้งค์ จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK (ปัจจุบันคือ FER) เป็นหนึ่งในคณะทำงานเพื่อศึกษาข้อมูลและหาแนวทางปรับปรุงสถานะทางการเงินและโครงสร้างส่วนทุนของ MLINK ขณะนั้น(3 พฤศจิกายน 2557) ด้วยข้อหา “ให้ข้อมูลเท็จต่อสื่อ” จากการที่ออกมาปฏิเสธข่าวการเพิ่มทุนที่ลงในหนังสือพิมพ์ไปแล้วว่าไม่จริง แต่ท้ายสุดก็ประกาศเพิ่มทุน โดยที่นายพิเชษฐ์ ถูกลงโทษปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท

นายวิทูร สุริยวนากุล ได้อาศัยข้อมูลภายในซื้อหุ้น บริษัท โกลบอล เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ GLOBAL จำนวน 8,022,881 หุ้น และ GLOBAL-W จำนวน 3,500,700 หน่วย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน-23 สิงหาคม 2555 ในระหว่างที่ GLOBAL ได้ถูกซื้อ บริษัท เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น จำกัด (SCG) บริษัทย่อยที่ถือหุ้น 100% โดยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ติดต่อซื้อหุ้น 30% โดยทำการผ่านบัญชีบุคคลใกล้ชิดอื่นหลายบัญชี และได้รับความช่วยเหลือจากลูกๆคือ นางสาวกุณฑี สุริยวนากุล นายอภิลาศ สุริยวนากุล และนายเกรียงไกร สุริยวนากุล ให้มีการซื้อและชำระค่าซื้อหลักทรัพย์ เข้าข่ายอินไซเดอร์ เทรดดิ้ง ตามมาตรา 24 จึงลงโทษ นายวิทูร ด้วยการปรับเป็นเงินสด 24,322,064.40 บาท และปรับ นางสาวกุณฑี นายอภิลาศ และนายเกรียงไกรในฐานะผู้สนับสนุน เป็นเงินรายละ 333,333.33 บาท เป็นเงินรวม 25,322,064.39 ล้านบาท

–  นายสุรศักดิ์ จันโทริ กรรมการอิสระ GLOBAL และ นายเอกกมล จันโทริ ไม่ถูกลงโทษปรับ แต่ส่งเรื่องกล่าวโทษต่อ DSI จากกรณีพบ นายเอกกมล ซื้อหุ้น 75,000 หุ้นของ GLOBAL วันที่ 22 สิงหาคม 2555 เพราะพบพยานหลักฐานน่าเชื่อว่า ล่วงรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเข้าร่วมทุนดังกล่าว 

นายสมชาย ชัยศรีชวาลา ได้รู้เห็นหรือตกลงร่วมกับ นางสาวชนินันท์ เหลืองเวคิน ใช้บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของตนเองและของบุคคลอื่นซื้อขายหุ้น บริษัท เอเชีย เมททัล จำกัด (มหาชน) หรือ AMC ระหว่างวันที่ 13 กันยายน ถึง 16 พฤศจิกายน 2549 ในลักษณะอำพรางเพื่อให้บุคคลทั่วไปหลงผิดไปว่า หุ้น AMC มีการซื้อขายกันมาก และราคาหุ้นเปลี่ยนแปลงไป และซื้อขายในลักษณะต่อเนื่องกัน (สรุปสั้นๆ คือ สร้างราคา หรือ ปั่นหุ้น) ทำให้การซื้อหรือขายหุ้น AMC ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ถูกลงโทษปรับ 5 แสนบาท

หางว่าวยาวเหยียด ด้วยข้อหาต่างกัน ต่างวาระ และต่างบริษัท อาจจะทำให้มีเสียงสรรเสริญ ก.ล.ต.ว่าเอาจริงเสียทีนั้น แต่…ว่าไปแล้ว มีเพียง 2กรณี และ 3 บุคคล เท่านั้นที่ถูกลงโทษมากกว่าการปรับ คือกรณีของนายชัย โสภณพนิช นายสุรศักดิ์ จันโทริ และ นายเอกกมล จันโทริ เท่านั้น

ที่เหลือเกือบหมด “จ่ายค่าปรับ แล้วจบ” ตามสูตร รับสารภาพ จ่ายค่าปรับ … ลอยนวลเบ็ดเสร็จ

ธรรมาภิบาล แบบมีเงื่อนไข ของก.ล.ต.นี้ ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

ทำตามหน้าที่อันพึงกระทำอย่างนี้ ได้แต่ปรบมือตามปกติ  แต่ก็ยังคาดหวังว่า จะไม่มีกรณี “ถี่ลอดตาช้าง ห่างลอดตาเล็น” ให้ปรากฏอีก ก็แล้วกัน…อิ อิ อิ  

 

Back to top button