อำนาจอับจน ทายท้าวิชามาร
คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาข้อเสนอ คสช.วันจันทร์นี้ ประเด็นสำคัญคือ กรธ.จะยอมให้มีวุฒิสภาแต่งตั้ง 250 คน พร้อมอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อเป็นฐาน “นายกฯคนนอก” หรือไม่
ใบตองแห้ง
คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาข้อเสนอ คสช.วันจันทร์นี้ ประเด็นสำคัญคือ กรธ.จะยอมให้มีวุฒิสภาแต่งตั้ง 250 คน พร้อมอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจเพื่อเป็นฐาน “นายกฯคนนอก” หรือไม่
หาก กรธ.ยอม ก็ไม่ขัดแย้ง คสช. แต่ไม่รู้มีชัย ฤชุพันธุ์ จะแบกหน้าอยู่อย่างไร ถ้าเอาไปทำประชามติก็ยิ่งถูกต้านหนักไปใหญ่ เพราะถอยหลังไกลกว่าพฤษภา 35 ถอยไปเกือบๆ ยุคป๋า 8 ปี ทั้งที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์มาเกือบ 40 รอบ
แต่ถ้า กรธ.ไม่ยอม ก็จะเกิดความขัดแย้งครั้งใหญ่ แม้ฟังคำพูดวิษณุ เครืองาม อาจไม่หักหาญกันถึงขั้นคว่ำร่าง หรือยุบ กรธ.แล้วร่างใหม่ (เพราะจะทำให้ คสช.ตกเป็นเป้า) แต่อาจให้ สนช.เสนอคำถามลงประชามติ “เห็นด้วยหรือไม่ให้มีวุฒิสภาแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล 5 ปี” ซึ่งถ้าผ่านพร้อมกัน กรธ.ก็ต้องรับไปเติมในร่างรัฐธรรมนูญ
กระนั้นก็มีปัญหาอีกว่า การทำประชามติ 2 คำถามที่ขัดกันเอง รับร่างรัฐธรรมนูญ (วุฒิสภาเลือกกันเองตามสาขาอาชีพ) พร้อมรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (วุฒิสภาแต่งตั้งในบทเฉพาะกาล) จะไม่ทำให้การรณรงค์สับสน และผ่านยากขึ้นไปอีกหรือโดยเฉพาะแม่น้ำ 4 สายที่อยากได้วุฒิสภาแต่งตั้ง จะต้องผลักดันทั้ง 2 คำถามเป็นงานหนัก 2 เด้ง
ไม่อยากนึกภาพเลย ประชามติครั้งนี้จะเป็นอย่างไร จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถูกต่อต้านขนาดไหน ว่าไม่เป็นกลาง
ร่างรัฐธรรมนูญมีชัยที่จริงก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ร้ายกาจยิ่งกว่าปี 2550 เพิ่มอำนาจ “ตุลาการภิวัตน์” องค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอนตัดสิทธินักการเมืองอย่างอำมหิตเข้มข้น แต่ขนาดนั้นกองทัพก็ยังไม่วางใจ ว่าจะควบคุมสังคมไทยให้อยู่ในความสงบได้ ยังอยากปัดฝุ่นใช้ระบอบนายกฯ คนนอก วุฒิสภาแต่งตั้ง ซึ่งเคยได้ผลในปลายศตวรรษที่ 20
นี่สะท้อนอะไร สะท้อนความอับจนสับสนไม่เห็นทางออก ของกลุ่มอำนาจนำในช่วงเปลี่ยนผ่าน กระทั่งมองต่างและขัดแย้งกันเอง
ภาพที่เห็นต่างชัดเจนกับรัฐประหาร 2549 ซึ่งรีบมารีบไปร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติแล้วเลือกตั้ง แต่ผิดคาดเพราะพรรคพลังประชาชนยังชนะ จนศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตามมาด้วยม็อบปี 52, 53 เกิดนองเลือดและพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลายปี 54
ครั้งนี้ใช้เวลาเกือบ 2 ปีก็ยังหาทางออกไม่ได้ ร่างรัฐธรรมนูญเองคว่ำเองไปครั้งหนึ่ง ร่างใหม่ ก็ยังยื่นข้อเสนอแหกโผโค้งสุดท้าย เพราะอะไร เพราะกลัวว่าถ้ามีการเลือกตั้งแล้วจะ “เอาไม่อยู่” จึงต้องถอยหลังไปสุดกู่
ถ้าดูความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยก็เข้าใจได้ ครั้งนี้กลุ่มอำนาจนำไม่ได้กลัวแค่ทักษิณ “ชินดาวงศ์” แต่วิกฤติ 9 ปีได้ก่อเกิด “การเมืองมวลชน” กลุ่มคน 2 ข้างซึ่งถ้ามองข้ามความขัดแย้งกันเองก็จะเห็นความไม่พอใจสภาพสังคมที่เป็นอยู่ ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง สังคมไทยเปลี่ยนไปอย่างมากใน 9 ปี ขณะที่กลุ่มอำนาจนำก็กำลังผันผวน การหาทางลงหาทางออกจึงยากเย็นแสนเข็ญ
ข้อเสนอ คสช.จึงไม่สามารถมองอย่างตื้นๆ แค่ “หวงอำนาจ” “อยากสืบทอดอำนาจ” แต่มองให้ลึกกว่านั้น กลับน่ากังวลยิ่งกว่า เพราะมันสะท้อนอาการอับจน หาทางออกไม่เจอ ต่อให้อยากลงจากอำนาจก็ไม่รู้จะลงอย่างไร ไม่รู้จะปล่อยมือให้ประเทศเดินต่อไปได้อย่างไร คิดได้แต่ว่าต้องใช้อำนาจต่อไป
ก็น่าเห็นใจนะครับ แต่ผลของความอับจนจะยิ่งมัดพันให้หาทางออกจากวิกฤติไม่เจอ