พาราสาวะถี อรชุน

ยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องข้อเสนอของคสช.ภายในเวลาตี 1 ของคืนที่ผ่านมา โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุว่า หลังมีข้อยุติจะต้องไปชี้แจงทำความเข้าใจกับคสช.อีกรอบ จากนั้นจึงจะแถลงข่าวภายในวันนี้ สิ่งที่ย้ำมาจากปากของประธานกรธ.ก็คือ การพิจารณาข้อเสนอของคณะรัฏฐาธิปัตย์ครั้งนี้ว่ากันไปตามเหตุผล ไม่ได้พิจารณาตามคำขู่หรือใบสั่งแต่อย่างใด


ยืนยันว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องข้อเสนอของคสช.ภายในเวลาตี 1 ของคืนที่ผ่านมา โดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ระบุว่า หลังมีข้อยุติจะต้องไปชี้แจงทำความเข้าใจกับคสช.อีกรอบ จากนั้นจึงจะแถลงข่าวภายในวันนี้ สิ่งที่ย้ำมาจากปากของประธานกรธ.ก็คือ การพิจารณาข้อเสนอของคณะรัฏฐาธิปัตย์ครั้งนี้ว่ากันไปตามเหตุผล ไม่ได้พิจารณาตามคำขู่หรือใบสั่งแต่อย่างใด

เอาที่ผ่านสบายใจ แต่ในการแถลงข่าวบทสรุปจากข้อเสนอนั้น ดูท่าว่าประธานกรธ.คงต้องดำเนินการด้วยตัวเองเหมือนคราวแถลงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก เพราะ อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.ออกตัวไว้วันก่อน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องให้คนระดับมีชัยเท่านั้นทำหน้าที่แจกแจง แต่มาสะดุดตรงคำพูดทิ้งท้ายนี่แหละที่ว่า “ผมยังอยากมีที่ยืนในสังคม กลับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เรียกว่ายังห่วงหน้าตาของตัวเองอยู่

พูดง่ายๆ ไม่อยากถูกด่า” ยิ่งมีสถานะเป็นถึงอาจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสถาบันอันเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนด้วยแล้ว หากหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญออกมาโคตรขี้เหร่ ในฐานะผู้มีส่วนร่วมคงไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ไหน ด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้มีวลีทองหลุดจากปากของอุดมในช่วงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็น “หงายหลัง” หรือ “ปาฏิหาริย์”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณากันให้รอบด้านแล้ว การที่กรธ.เลือกที่จะมีข้อสรุปเรื่องข้อเสนอของคสช.ภายในวันที่ 21 มีนาคม ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญน่าจะนำไปหาบทสรุปกันในช่วงท้ายหรือในจังหวะที่ไปประชุมกันนอกสถานที่ที่หัวหินระหว่างวันที่ 23-26 มีนาคมนี้ มีการมองว่านั่นเป็นเจตนาที่จะทำให้ได้ข้อยุติเพื่อโยนไปวัดกระแสของสังคม ก่อนจะปิดผนึกร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์

เพราะเมื่อพิจารณาตามเงื่อนเวลาตามกรอบของการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่ให้เวลากรธ. 180 วันแล้ว จะครบเส้นตายในวันที่ 31 มีนาคม ซึ่งหากกรธ.จะรับข้อเสนอทั้งหมดของคสช.ก็สามารถที่จะรวบหัวรวบหางพิจารณาในวันสุดท้ายและบรรจุไว้ในบทเฉพาะกาลได้ทันที โดยไม่ต้องทิ้งช่วงเวลาไว้นานขนาดนี้

นี่แหละคือชั้นเชิงของเนติบริกรชั้นครู หากออกมาในรูปนี้ก็ถือเป็นแนวทางบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น และจะได้ไม่ต้องเจ็บตัวกันทั้งคสช.และกรธ. กระนั้นก็ตาม ประเด็นที่ว่าด้วยส.ว.คงหนีไม่พ้นเรื่องการให้สรรหาทั้งหมดตามจำนวนที่คสช.ต้องการคือ 250 คน เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้สัมภาษณ์ไว้แล้วจะแบ่งกลุ่มการสรรหาส.ว.ไว้ 6 กลุ่ม

อันประกอบไปด้วย กลุ่มความมั่นคง กลุ่มเศรษฐกิจ กลุ่มสังคม กลุ่มการต่างประเทศ กลุ่มกฎหมายและกลุ่มแก้ความขัดแย้ง ขณะที่ส.ว.โดยตำแหน่งยังคงไว้ 6 เก้าอี้เช่นเคยทั้ง ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

เห็นการเดินเกมเช่นนี้แล้ว ก็อดที่จะหยิบยกเอาบทความของ ชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง เกมแห่งอำนาจ หรือ Game of Power มานำเสนอไม่ได้ โดยทฤษฎีเกมนี้จะเป็นการศึกษากระบวนการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ขัดแย้งกัน หรือ conflict situations โดยสามารถแบ่งเกมออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 2 ประเภทคือ

เกมที่มีผลรวมเป็นศูนย์ หรือ zero-sum games เป็นเกมที่ผลรวมผลได้ของผู้ชนะมีค่าเท่ากับผลรวมความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ และที่หนักที่สุดคือผู้ชนะได้หมดที่เราเรียกว่า The winner takes all ซึ่งผู้เสียจะสูญเสียไปทั้งหมด เกมชนิดนี้จึงเป็นเกมที่ต้องต่อสู้กันอย่างถึงพริกถึงขิง แพ้ไม่ได้เพราะถ้าแพ้ก็อาจหมดตัวไปเลย

อีกประเภทก็คือ เกมที่มีผลรวมไม่เป็นศูนย์ หรือ nonzero-sum games เป็นเกมที่มีกลยุทธ์ที่ผลได้ของผู้ชนะมีค่าไม่เท่ากับความเสียหายที่ผู้แพ้ได้รับ ในเกมชนิดนี้ผู้แข่งขันทุกคนอาจเป็นผู้ชนะ หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม win-win หรือในทำนองกลับกันก็อาจจะเป็นผู้แพ้ หรือ loss-loss ทั้งหมดก็ได้

แต่เมื่อนำมาประมวลแล้วพิจารณากับสถานการณ์ของประเทศไทย สามารถจำแนกผู้เล่นเกมแห่งอำนาจนี้ได้เป็น 2 ฝ่ายได้แก่ ฝ่ายที่ไม่เอารัฐประหารซึ่งแบ่งเป็น 2 พวกย่อยๆ คือ พวกเอาทักษิณ เช่น พรรคเพื่อไทยและนปช. กับ พวกที่ไม่เอาทักษิณ เช่น ฝ่ายประชาชนและนักวิชาการที่ต่อต้านระบอบอำนาจนิยม หรือ Authoritarianism ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหารก็ตาม

ขณะที่อีกฝ่ายเป็นพวกที่เอารัฐประหาร ซึ่งแบ่งเป็น 2 พวกย่อยๆ เช่นกัน คือฝ่ายหนุนทหารกับฝ่ายหนุนอำมาตย์ ซึ่งกำลังต่อกรกันอย่างหนักในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การที่ฝ่ายหนุนทหารพยายามเสนอให้มีส.ว.ที่มาจากการสรรหาเพราะเชื่อว่าจะสามารถแทรกแซงได้ง่ายกว่า การพยายามเพิ่มอำนาจศาลทั้งหลายของฝ่ายหนุนอำมาตย์ซึ่งฝ่ายหนุนทหารคิดว่าแทรกแซงได้ไม่สะดวกนัก

ทว่าทฤษฎีเกมดังกล่าวในบ้านเราแตกต่างกว่าประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ เพราะโดยปกติแล้วการตัดสินเกมแห่งอำนาจเพื่อชัยชนะทางการเมืองในประเทศทั่วๆ ไปแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ขาดก็คือ ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบและรักษากติกาก็คือองค์กรที่จัดการเลือกตั้งและองค์กรตุลาการที่พิจารณาพิพากษาคดีในกรณีที่มีปัญหาในด้านความชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้น

แต่ของไทยเรา นอกเหนือจากปัจจัยที่ว่ามานี้แล้วยังมีปัจจัยอื่นที่จะต้องนำมาพิจารณาอีก อาทิ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ กลุ่มพลังอำนาจทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดจนผู้คนที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือในสังคม นั่นจึงมิใช่เป็นเพียงการต่อสู้แย่งชิงอำนาจระหว่างฝ่ายที่เอากับไม่เอารัฐประหารเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้แย่งชิงกันในระหว่างกลุ่มย่อยลงไปอีกชั้นหนึ่ง

ผลของการแพ้ชนะในการต่อสู้ทางการเมืองในครั้งนี้จึงมิใช่ zero-sum games หรือ the winner takes all แต่จะเป็น nonzero-sum games เพราะจวบจนถึงปัจจุบันนี้ยังมองไม่เห็นว่าใครจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริงจากชัยชนะในการต่อสู้ในครั้งนี้ มีแต่มองเห็นความเสียหายที่เกิดขึ้น หรือ loss-loss ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เวทีของการเล่นเกมแห่งอำนาจนี้ต้องพลอยได้รับผลแห่งความเสียหายอย่างมิอาจประเมินได้ เพราะเหตุแห่งการที่ผู้เล่นเกมหวังมุ่งแต่เพียงชัยชนะโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่ตามมานั่นเอง

Back to top button