พาราสาวะถี อรชุน

ไม่รู้ว่าจะเป็นที่พอใจขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ หลังจากที่ประชุมกรธ.เคาะข้อเสนอของคสช.หรือที่อ้างว่าเป็นของแม่น้ำ 4 สายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นสูตรพบกันคนละครึ่งทางในแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น โดยในส่วนของส.ว.นั้น ให้มีที่มาจากการสรรหา 200 คน เปิดช่องให้บุคคลในคสช. และข้าราชการประจำคือปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งส.ว.ได้


ไม่รู้ว่าจะเป็นที่พอใจขององค์รัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ หลังจากที่ประชุมกรธ.เคาะข้อเสนอของคสช.หรือที่อ้างว่าเป็นของแม่น้ำ 4 สายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นสูตรพบกันคนละครึ่งทางในแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น โดยในส่วนของส.ว.นั้น ให้มีที่มาจากการสรรหา 200 คน เปิดช่องให้บุคคลในคสช. และข้าราชการประจำคือปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งส.ว.ได้

ส่วนจำนวนอีก 50 คนนั้น ขอให้เป็นการสรรหาตามวิชาชีพ 20 กลุ่ม ตามที่กรธ.กำหนดไว้เดิม จากการเลือกไขว้ตั้งแต่ระดับอำเภอเข้าสู่ระดับจังหวัดเข้าสู่ระดับประเทศ ซึ่งจะได้จำนวนทั้งหมดประมาณ 231 คนจาก 77 จังหวัด จากนั้นจึงนำรายชื่อทั้งหมดเสนอให้คณะกรรมการสรรหา อันเป็นชุดเดียวกันการสรรหาส.ว. 200 คนนั่นแหละเป็นผู้เลือกขั้นตอนสุดท้าย

นั่นเท่ากับว่า ปมที่มาของส.ว.นั้นแม้จะมีการขัดใจนิดๆ แต่ก็ถือเป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการที่ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจะตั้งขึ้นมาเป็นผู้เลือกทั้งหมด ขณะที่กรณีอำนาจหน้าที่ของส.ว.ถือเป็นเรื่องที่กรธ.ขอพื้นที่ยืนให้กับตัวเองในสังคม ด้วยการไม่ยอมทำตามข้อเสนอที่จะให้อภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้

การเดินตามแนวทางเช่นนี้เสมือนเป็นการช่วยลบภาพเผด็จการรัฐสภา (ของแท้) ไปได้ในระดับหนึ่ง ส่วนข้อเสนอที่จะให้ยกเลิกการให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ 3 ว่าที่นายกรัฐมนตรีต่อกกต.ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้งส.ส.นั้น กรธ.ยังยืนยันที่จะให้มีการเสนอเหมือนเดิม แต่เปิดช่องให้ยกเว้นการใช้บัญชีรายชื่อได้ โดยมติที่ประชุมรัฐสภาซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างส.ส.และส.ว. ที่จะต้องมีมติเสียงสนับสนุนของดเว้นบัญชีรายชื่อจำนวน 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด

ส่วนที่กรธ.ยืนยันในหลักการอย่างขันแข็งก็คือ ระบบการเลือกตั้งส.ส.ที่คสช.เสนอให้มีการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบและกำหนดให้เขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้นนั้น กรธ.ไม่สามารถที่จะปรับแก้ตามข้อเสนอได้ เพราะข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถเข้ากับหลักการของกรธ.ได้ ดังนั้น กรธ.ยังคงยืนยันที่จะให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมโดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเหมือนเดิม

ถือเป็นการยกภูเขาออกจากอกของ มีชัย ฤชุพันธุ์ และพลพรรคกรธ.ก่อนที่จะไปปักหลักประชุมกันนอกสถานที่ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 26 มีนาคม แต่ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามว่าฝ่ายเสนออย่างคสช.นั้นพึงพอใจต่อบทสรุปแบบนี้หรือไม่ เพราะ วิษณุ เครืองาม มือกฎหมายของรัฐบาลได้ลั่นวาจาไว้ก่อนที่กรธ.จะเคาะกันว่า ถ้าไม่รับข้อเสนอจะต้องมาชี้แจงแถลงไขกันให้เข้าใจ

ในขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกอาการตีมึนไม่เข้าใจคำว่าพบกันครึ่งทางคืออะไร พร้อมๆกับคำขู่ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านไปบังคับใช้ตามความตั้งใจอันดีของผู้มีอำนาจ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันรับผิดชอบซึ่งรวมถึงประชาชนด้วย เอ้า!ไหงพูดแบบนั้น เพราะความเป็นจริงหากร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาที่ดีเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย มีเหตุผลอันใดที่จะกลัวว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบเล่า

แต่ที่ทำเอาหลายคนคาดหมายกันว่าหวยน่าจะออกที่การตามใจผู้มีอำนาจ คงเป็นการยกนิทานเรื่องคนสร้างบ้านของมีชัยที่พูดในวันซึ่งกรธ.เริ่มพิจารณาข้อเสนอของคสช. เปรียบการร่างรัฐธรรมนูญเหมือนการสร้างบ้าน หลังจากบ้านหลังเก่าถูกรื้อหลังคา รื้อฝาบ้าน ถูกขโมยเฟอร์นิเจอร์ไปขาย กรธ.จึงใช้ประสบการณ์ออกแบบบ้านหลังใหม่

แต่คนที่เคยอยู่บ้านหลังเก่าติติงกันและต้องการให้ใช้รูปแบบเดิม เพราะกลัวว่าจะนอนไม่หลับ แต่ไม่มีใครระบุถึงโครงสร้างบ้าน มีคนถามว่า หากโดนรุมทุบบ้านจะทำอย่างไร คนที่ให้สร้างบอกว่าก็สร้างใหม่อีก ยอมรับว่ามีคนไม่น้อยที่ข่มขู่ว่าหากไม่แก้ไข แม้เพียงแค่ถ้อยคำก็จะไม่เอา เหมือนกับหากไม่คืนพัดลม ผ้าห่มให้ จะทุบบ้านที่สร้างเสร็จแล้วทิ้ง

สิ่งที่ทำให้หลายคนคิดกันไปไกลว่าน่าจะเรียบร้อยโรงเรียนคสช. คงเป็นประเด็นที่มีชัยระบุว่า ข้อเสนอของผู้ให้สร้างบ้านนั้นตนรับได้ ไม่ติดใจ แต่ก่อนจะเปิดบ้านให้คนเข้าไปอยู่อาศัย ไม่ไว้ใจว่าจะไม่มีผู้ใดที่ขโมยของไปขายหรือคนที่เข้าไปอยู่แล้วจะทุกข์เหมือนที่ผ่านมา จึงขอให้พิจารณาว่า ตอนแรกขอให้มีคนเข้าไปดูแลและปกป้องบ้านช่วงเวลาหนึ่งก่อน

ทั้งๆ ที่การร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะนำมาเปรียบเปรยกันแบบนี้ไม่ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าหากมีชัยและกรธ.คือผู้รับเหมาสร้างบ้าน ก็จะเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากมีชัยอีกสถานะหนึ่งคือสมาชิกคสช. นั่นเท่ากับว่า คนให้สร้างบ้านคือคสช.แล้วมีชัยจะมารับเหมาเองได้อย่างไร และคงไม่เสียหายหากคนที่จะเข้าไปอยู่บ้านหลังนั้นเป็นคสช.เอง  แต่นี่เป็นบ้านของคนทั้งประเทศ

พอมีชัยยกเรื่องนี้ขึ้นมา จึงเกิดการค่อนขอดว่า การร่างรัฐธรรมนูญเหมือนการรับใบสั่งหรือเปล่า เพราะปกติของการสร้างบ้านนั้น ถ้าไม่ใช่นักธุรกิจย่อมสร้างให้ตัวเองอยู่ ดังนั้น ใครให้สร้างบ้านจึงมีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง แล้วเช่นนี้จะไม่ทำให้ผู้มีอำนาจถูกมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจหรืออยู่ต่อได้อย่างไร

ยิ่งคนสั่งให้สร้างต้องการได้ดั่งใจถึงขนาดประกาศว่าเสนอไปแล้วไม่ทำ ก็จะเสนอไปซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะทำตาม จึงต้องเกาะติดกันต่อว่าหลังมีข้อสรุปเช่นนี้ยังจะมีการผลักดันให้เป็นไปตามต้องการหรือไม่ ปัจจัยเรื่องเงื่อนเวลาที่บอกไว้วันก่อนก็น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิษณุบอกว่ากรธ.มีเวลาที่จะเคาะร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ไปจนถึงวันที่ 2 เมษายน ตรงนี้น่าขีดเส้นใต้

เงื้อง่าราคาแพงมาเป็นเวลาพอสมควร ในที่สุด พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็จะได้ฤกษ์แถลงผลการตรวจสอบโครงการอุทยานราชภักดิ์ในเวลา 4 โมงเย็นวันนี้มี 3 ประเด็นสำคัญคือ เรื่องหัวคิว การใช้งบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ที่บอกว่าไม่อยากฟังรายงานจากคณะทำงานชุดต่างๆ เพียงคนเดียว ขอฟังพร้อมๆ กับคนทั่วไป จะได้บทสรุปที่สังคมพอใจหรือกลายเป็นมวยล้มต้มคนดู อีกไม่กี่อึดใจได้รู้กัน

Back to top button