ปริศนาของ JASลูบคมตลาดทุน

บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS กับอนาคต 4G บนคลื่นความถี่ 900 MHz น่าจะเกมโอเว่อร์ไปแล้ว


ธนะชัย ณ นคร

 

บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS กับอนาคต 4G บนคลื่นความถี่ 900 MHz น่าจะเกมโอเว่อร์ไปแล้ว

แต่ที่ยังไม่จบ และกำลังจะเกิดขึ้นนั่นคือ การฟ้องร้อง และการต่อสู้คดีที่จะตามมาแบบพะรุงพะรัง

JAS เอง แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องจ่ายมีเพียงแค่เงินหลักประกันการประมูล 644  ล้านบาท ที่วางไว้กับ กสทช. ก่อนเริ่มประมูลเท่านั้น

ส่วนที่เหลือนอกจากนี้ อย่ามายุ่งกับฉัน

ฝ่ายกฎหมายของฉันก็บอกแล้วว่า สิ่งที่ JAS ต้องจ่ายมีเพียงเท่านี้

พร้อมกับยกประกาศที่เกี่ยวกับการประมูล 4G รอบล่าสุดมาประกอบการชี้แจงแถลงไข

“โดยข้อ 6. วรรคท้ายของประกาศ กสทช. และข้อ 5 วรรค 2 ของแบบหนังสือยินยอมของผู้ขอรับใบอนุญาต แนบท้ายของประกาศ กสทช. ระบุไว้แต่เพียงว่าให้ถือว่าผู้ชนะการประมูลนั้นสละสิทธิที่จะได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. และคณะกรรมการสงวนสิทธิที่จะริบหลักประกันการประมูล”

“และเหตุดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เป็นเหตุเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอื่นๆ ที่กลุ่มบริษัทได้รับจากสำนักงาน กสทช. และใช้ประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ทั้งสิ้น”

จบป่ะ!!JAS (อาจ)ถามในใจ

ส่วนราคาหุ้น JAS วานนี้ ในช่วงเช้า และเปิดตลาดภาคบ่ายนักลงทุนกำลังเทรดเพลินๆ สนุกสนาน

แต่พอคุณวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อาจจะต้องมีการเรียกค่าเสียจาก JAS เพิ่มเติมเท่านั้นแหละ ราคาหุ้นดิ่งพสุธาทันที

ฝั่ง กสทช. ก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อจ้องกล่าวโทษ พร้อมหาช่องเรียกค่าเสียหายจาก JAS นอกเหนือจากริบเงิน

เมื่อทั้งสองฝั่งมีความเห็นไม่ตรงกันแบบนี้ เรื่องก็ต้องไปสู่กระบวนการของศาลอย่างเลี่ยงไม่ได้

ประเด็นคือว่า ณ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการสรุปตัวเลข ที่ต้องการเรียกจาก JAS ว่าเท่าไหร่กันแน่

นั่นเพราะเข้าใจว่า ฝั่ง กสทช.ก็กำลังมึนงงกับข้อกฎหมายของตัวเองเช่นกันว่า ฉันจะเรียกร้องอะไรได้บ้าง ซึ่งดูจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหาร กสทช.ก็เหมือนยังไม่แน่ใจอะไรแบบนั้น

แต่หากหาช่องได้ สรุปตัวเลขที่เตรียมรีดจากแจสแล้ว และยื่นไปยังแจส

หากแจสปฏิเสธ เรื่องก็เข้าสู่ขั้นตอนของศาล

มีคำถามว่า แล้วแจสต้องตั้งสำรองหรือไม่

คำตอบในเบื้องต้นจากคนที่รู้เกี่ยวกับกฎหมายประเภทนี้บอกว่า “ตั้งครับ”

หากเป็นแบบนั้นจริงๆ บรรดานักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ก็ต้องหยิบกระดานชนวน ขอไวท์บอร์ด กันจ้าละหวั่น เพื่อที่จะนำมาคำนวณผลประกอบการของแจสกันใหม่

และพร้อมกับปรับราคาหุ้นให้สะท้อนความจริง

หากจำนวนตั้งสำรองเท่ากับมูลค่า X ดังนั้น แจสเองก็ต้องมีกำไรลดลงเท่านี้ X หรืออาจขาดทุน

ส่วนราคาหุ้นหากหักในส่วนที่ตั้งสำรอง หรืออะไรอีกก็แล้วแต่ ก็จะเหลือเท่ากับ X และประเด็นเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นตัวกดดันราคาหุ้น JAS ต่อไป

มีนักกฎหมายท่านหนึ่งในแวดวงตลาดทุนนำคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ใกล้เคียงกับกรณีแจสมาให้ดู

“ศาลฯ ท่านบอกว่า หากผู้ซื้อได้ซื้อสินทรัพย์ไปแล้ว และสละสิทธิ์ภายหลัง กระทั่งต้องจัดให้มีการซื้อใหม่ และการซื้อใหม่นั้น หากมีมูลค่าต่ำกว่าครั้งแรก ผู้ซื้อครั้งแรกจะต้องเป็นฝ่ายที่จ่ายส่วนต่าง”

แต่ย้ำนะครับว่านี่เป็นกรณีที่ใกล้เคียงกัน แต่อาจนำมาเทียบเคียงกันไม่ได้

ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับแจสในอนาคต

ส่วนประเด็นที่ JAS กล้าเคาะราคาประมูลระดับสูง 7.5 หมื่นล้านบาท ประเมินตนเองผิดพลาดหรือไม่ และช่วงเวลานั้น JAS มั่นใจได้อย่างไรว่านายแบงก์จะการันตีให้

แผนธุรกิจต่างๆ มีการเตรียมไว้อย่างไร

รวมถึงแผนการขอซื้อหุ้นคืนที่ระดับ 5 บาทต่อหุ้น(ประมาณ 16-17%) จริงจังแค่ไหน จะมีล้มหรือไม่

ทุกอย่างยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักวิเคราะห์ นักลงทุน และผู้เกี่ยวข้อง

แต่อาจมีเพียง 3 คน เท่านั้นที่รู้เรื่องราวทั้งหมด

ลองเดากันดูครับ

Back to top button