ท่ายากของแบงก์ชาติพลวัต 2016
รัฐบาลเผด็จการเป็นที่ชื่นชอบของเทคโนแครตในหน่วยงานรัฐเสมอ เพราะ ทำงานด้วยความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องมีใครตรวจสอบ นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่ผู้ว่าการชื่อ วิรไท สันติประภพ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น
วิษณุ โชลิตกุล
รัฐบาลเผด็จการเป็นที่ชื่นชอบของเทคโนแครตในหน่วยงานรัฐเสมอ เพราะ ทำงานด้วยความสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องมีใครตรวจสอบ นวัตกรรมใหม่ล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยในยุคที่ผู้ว่าการชื่อ วิรไท สันติประภพ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างนั้น
จู่ๆ วันอังคารที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ชงเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติให้สามารถกระทำแหวกจารีตของธนาคารกลางทั้งหลาย ซึ่งปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ก็ผ่านความเห็นชอบอย่างรวดเร็ว
ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แต่ก็ทำเอาคนทั่วไปอ้าปากค้างเลยทีเดียว
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้สามารถนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในส่วนของบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย ไปลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนหรือหุ้นในต่างประเทศได้ โดยอ้างว่า เพื่อเพิ่มเครื่องมือและความคล่องตัวในการบริหารทุนสำรองให้สอดคล้องกับความผันผวนในตลาดการเงินและตลาดทุนโลก
ค่าว่า ทุนสำรองส่วนที่อยู่ในบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทย ในที่นี้ มีความหมายว่า จะไม่มีการนำเอาทุนสำรองที่หนุนการออกธนบัตรไปใช้ เพราะลงคนละบัญชีกัน
ตามขั้นตอนนี้ เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ต่อไปต้องให้ผ่านการพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยการเสนอขอแก้ไขดังกล่าวนี้
นายวิรไท ระบุในการให้สัมภาษณ์หลังมติคณะรัฐมนตรีผ่านว่า การเสนอแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ทำมาตั้งแต่ในสมัยที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุลเป็นผู้ว่าการฯแล้วคือในไตรมาส 2 ของปี 2558 ที่ผ่านมา แต่เพิ่งมาผ่านในรอบนี้
สาระโดยละเอียดของร่างแก้ไขกฎหมายแก้ไขที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
– ปัจจุบัน ธปท.มีวงเงินในบัญชีกิจการธนาคาร หรือบัญชีของ ธปท.ให้บริหารอยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งกฎหมายเปิดทางให้ถือลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง ตราสารอนุพันธ์ในต่างประเทศและทองคำได้
–กฎหมายที่จะแก้ไขใหม่นี้ จะแก้ไขนำเงินดังกล่าวลงทุนในหุ้นได้ แต่ต้องเป็นหุ้นในต่างประเทศ ไม่สามารถลงทุนตลาดหุ้นของไทยได้
– เป้าของการแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้กระจายความเสี่ยงไปในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย โดยยังให้ความสำคัญกับสภาพคล่องที่ต้องมีเพียงพอ เพื่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่ไปหากำไร
–กรณีนี้ แตกต่างและดีกว่าการนำเงินทุนสำรองไปตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign WealthFund) ที่มุ่งหาผลตอบแทนสูง
–ในต่างประเทศทำกันมานานแล้ว ธนาคารกลางของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น มาเลเซีย จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ อิสราเอล สิงคโปร์ ก็ทำอยู่
–การลงทุนในหุ้น คงทำในสัดส่วนที่น้อยมากอาจจะประมาณ 3-4% ของทุนสำรองทั้งหมด และ ค่อยเป็นค่อยไปมาก ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย ไม่ได้ตั้งเป้าว่าต้องได้ผลตอบแทน เพราะวัตถุประสงค์เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารความเสี่ยง ที่กระจายพอร์ตไปในหลายผลิตภัณฑ์ แต่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารสภาพคล่อง
–การลงทุนหุ้นได้ ทำให้โครงสร้างการลงทุนกระจายตัวดีขึ้น ส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้นในภาวะที่ดอกเบี้ยพันธบัตรต่ำ ผลตอบแทนหุ้นที่ได้จะสูงกว่าพันธบัตร
–ผู้ที่ทำหน้าที่กำกับตรวจสอบการลงทุนดังกล่าวคือ คณะกรรมการ ธปท. และคณะอนุกรรมการที่ดูแลด้านนี้
หากพิจารณาเหตุผลและข้ออ้างของธนาคารแห่งประเทศไทย จะพบว่า นี้คือก้าวใหม่ของการปรับบทบาทภารกิจของธนาคารกลาง เพราะภารกิจโดยทฤษฎีและจารีตของธนาคารกลางทั่วไปนั้น มีสูตรที่เขียนไว้ในตำราเศรษฐศาสตร์การเงินว่าด้วยธนาคารกลางเอาไว้ดังนี้คือ ดำเนินนโยบายการเงินที่ประกอบด้วย 1)กำหนดอัตราดอกเบี้ย 2) ควบคุมปริมาณเงินของประเทศ 3) เป็นนายธนาคารของรัฐบาลและธนาคารของนายธนาคาร (“ผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย”) 4) จัดการการเปลี่ยนต่างประเทศและปริมาณทองคำสำรองของประเทศ และทะเบียนหุ้นของรัฐบาล 5) กำกับและดูแลอุตสาหกรรมการธนาคาร 6) ตั้งอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้จัดการทั้งภาวะเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศ
ในทางปฏิบัติ การบริหารความเสี่ยงของนโยบายการเงินเป็นภารกิจอย่างหนึ่งของธนาคารกลาง แต่การนำเงินไปลงทุนในหุ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในตราสารการเงินที่เสี่ยงสูงมาก ในสัดส่วนเพียงเล็กน้อยที่ไม่มีความหมาย แล้วอ้างว่า ต้องการลดความเสี่ยง เป็นคำอ้างที่ไม่สมเหตุสมผล แม้หากมีการขาดทุนเกิดขึ้น อาจจะกระทบทุนสำรองเงินตราไม่มาก แต่ก็มีคำถามตามมาว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารนโยบายการเงินอย่างไร
หากประมวลเสียงวิจารณ์ต่อมติคณะรัฐมนตรีนี้ ดูจะออกมาในทางลบมากกว่าบวก โดยเฉพาะการตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น และหลักประกันว่าผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่หมกมุ่นพยายามทำกำไรจากทุนสำรอง มากกว่าการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน
หลายปีมานี้ ตัวเลขทุนสำรองในการดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย มีค่อนข้างสูงมากเกินความจำเป็นที่จะเก็บไว้เป็นสภาพคล่อง เพื่อรองรับในการแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมีทางเลือกที่ดีกว่า (แต่ทำน้อยหรือยังไม่ได้ทำ) คือ นำทุนสำรองในรูปดอลลาร์สหรัฐ ออกไปขายในตลาด พร้อมกับออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมให้เอกชน-ประชาชนนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้ง่ายขึ้น
มาตรการร่วมดังกล่าว จะเปิดช่องให้ธุรกิจเอกชนที่สนใจจะลงทุนต่างประเทศ ได้ซื้อดอลลาร์ไปจากธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถนำไปลงทุนด้วยตนเอง ถ้าหากเกิดกำไรงาม ก็เป็นส่งที่ดี แต่หากขาดทุน เอกชนก็รับผิดชอบ ไม่ต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยแบกรับความเสี่ยง
เรื่องง่ายๆ ไม่ยอมทำ กลับงุบงิบเพื่อ “เล่นท่ายาก” โดยไม่จำเป็นเช่นนี้ ก็ควรแก่เสียงวิจารณ์อย่างมาก แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยคงไม่ใส่ใจมากนัก เพราะมีข้ออ้าง “รักษาความเป็นอิสระของนายธนาคารกลาง” ค้ำคออยู่