พาราสาวะถี อรชุน
เรียบร้อยโรงเรียน มีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช.ชี้นำทำเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 279 มาตรา ที่ถามว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โคตรเซียนด้านกฎหมายอย่างมีชัยก็ตอบเหมือนคราวแถลงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก คงไม่สามารถอธิบายได้ เพราะคนพูดก็คงไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ถ้าตรงไหนที่เขาบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะสามารถอธิบายได้
เรียบร้อยโรงเรียน มีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคสช.ชี้นำทำเสร็จแล้ว มีทั้งหมด 279 มาตรา ที่ถามว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โคตรเซียนด้านกฎหมายอย่างมีชัยก็ตอบเหมือนคราวแถลงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก คงไม่สามารถอธิบายได้ เพราะคนพูดก็คงไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ถ้าตรงไหนที่เขาบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็จะสามารถอธิบายได้
ถ้าอยู่ๆ เขาบอกว่าคุณไม่ดีเลยและไม่บอกว่าไม่ดียังไง คนที่ถูกบอกว่าไม่ดีก็ไม่รู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร มันไม่ดีเพราะมันเตี้ยหรือสูงไป หรือมีกิริยามารยาทไม่ดีหรือเป็นเพราะว่าคดโกงแก้ไม่ได้ ก็รู้แต่ว่าเขาบอกว่าไม่ชอบก็เลยไม่ดี และหากถามกลับว่าไม่ดียังไง เขาก็ตอบไม่ได้ ตอบได้แค่ว่าผมไม่ชอบ น่าเสียดายที่นักข่าวไม่ได้ถามมีชัยต่อว่า การมีส.ว.สรรหาทั้งหมด 250 คนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
เพราะจะได้เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยในมุมของมีชัยที่ว่า บางอย่างไม่จำเป็นต้องยึดโยงประชาชน จึงต้องใช้การลากตั้งของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจมาจากรัฐบาลที่ผ่านมาเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด ก็ด้วยเหตุนี้นี่กระมัง ที่พี่ใหญ่ของสถาบันเนติบริกรถึงกล้ายืนยัน ถ้าฝ่ายปฏิบัตินำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปทำตามกลไกบ้านเมืองไร้รัฐประหาร แน่นอน
คงเหมือนอย่างที่ ชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยว่า เป็นที่เข้าใจได้และไม่เหนือความคาดหมาย ลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ และเมื่อท่านเปรียบเปรยว่าเป็นการสร้างบ้าน คนให้สร้างต้องการเช่นนั้นก็ต้องตามใจ ปัญหาคือใครให้สร้าง ใครเป็นเจ้าของบ้าน คงต้องถามว่าท่านอุปโลกน์กันเอาเองหรือบังคับเอา เจ้าของบ้านจริงๆ เขาเห็นพ้องด้วยหรือไม่
ขณะที่ส.ว. 250 คนก็คือคนที่คสช.ตั้ง แม้จะมี 50 คนแบบไขว้แต่ที่สุดคสช.ก็เป็นคนเลือก มีข้าราชการประจำแน่ๆ 6 คน ไม่แน่ว่าจะมีเพิ่มอีกไหม ดูแล้วคือยอมให้มีส.ว.แต่งตั้งไป 5 ปี แล้วจะว่าไม่สืบทอดอย่างไร เจตนาคือให้ส.ว.มากำกับทิศทางความเป็นไปของรัฐบาลในอนาคต ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้งก็คงกระอักเลือด
ไหนจะตรวจสอบนโยบายรัฐบาลว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติไหม มีสิทธิอภิปรายรัฐบาลโดยไม่ลงมติ ไหนจะสามารถระงับยับยั้งกฎหมายบางประเภทของรัฐบาล โดยสามารถให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาโดยในอดีตเป็นสิทธิขาดของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน นอกจากนั้นกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศก็ให้สิทธิส.ว.ที่จะเข้าประชุมร่วมรัฐสภาได้
ไม่เพียงเท่านั้นส.ว.ลากตั้ง ยังมีสิทธิเข้าประชุมร่วมรัฐสภาให้มีนายกคนนอกได้โดยลดเสียงลงจากสองใน 3 เหลือ 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด การกำหนดเช่นนี้ คือการให้ส.ว.มาเป็นองค์กรค้ำยันหรือคัดง้างความเป็นไปของรัฐบาลในอนาคต โดยจะต้องเดินไปในทิศทางที่คสช.กำหนดและต้องการ นี่คือรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ ที่ไม่เคยมีในอดีต ประชาชนต้องคิดให้หนักว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนเพื่อประชาชนหรือเพื่อใครกันแน่
ขณะที่หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ถูกเผยแพร่ไปแล้วและเตรียมที่จะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติ เชื่อได้ว่าจะมีมาตรการเฉียบขาดต่างๆ ตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย ดูได้จากการที่ วรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยที่ถูกทหารเชิญตัวจากบ้านพักไปปรับทัศนคติ อันเป็นเหตุมาจากการเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความรับผิดชอบถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ
โดยเหตุที่ทหารดำเนินการอย่างเฉียบพลันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแสดงความไม่พอใจผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติของท่านผู้นำเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมานั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงมีเครื่องหมายคำถามว่า แล้วกระบวนการในการทำประชามติ จะมีพื้นที่หรือเวทีให้กับฝ่ายที่ไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญได้แสดงความเห็นอย่างนั้นหรือ
บทสรุปน่าจะชัดเจนจากเวทีสาธารณะ “ถกแถลงปัญหาประชามติ” ที่จัดโดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันสร้างอนาคตไทย และเว็บไซต์ประชามติ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยมีบรรดานักวิชาการและนักการเมืองชั้นนำเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
โดยที่ โคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งระบุว่า คณะทำงานห่วงใยการบังคับใช้พ.ร.บ.ประชามติ ที่หลายมาตรายังมีข้อสงสัย อาทิ มาตรา 10 ที่ให้กกต.จัดให้มีการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระและเท่าเทียม ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีโทรทัศน์ของรัฐ จัดสรรเวลาออกอากาศตามที่กกต.กำหนด แต่ไม่ได้จำกัดสิทธิผู้อื่นในการจัดให้มีการแสดงความเห็นใช่หรือไม่
ขณะที่มาตรา 62 ที่บัญญัติการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย เพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างขวางอันตราย จึงควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการกระทำลักษณะใดบ้าง เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ส่วนประเด็นการตั้งคำถามของสนช.ที่เกี่ยวกับบุคคล หรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว เห็นว่าสนช.ไม่ควรกระทำ เพราะหลักการทั่วไปของการทำประชามติไม่ควรตั้งคำถามลักษณะดังกล่าว
สิ่งสำคัญที่โคทมเน้นย้ำเป็นอย่างมากก็คือ ต้องมีความชัดเจนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะมีกระบวนการอย่างไรต่อไป ขณะที่ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตสมาชิกสปช. มองว่า ปกติการลงประชามติเป็นหลักการของระบอบประชาธิปไตยโดยตรง มักเกี่ยวข้องกับประเด็นเดี่ยวๆ ที่ชัดเจน ประชาชนเข้าใจง่ายในการจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และจะได้ผลดีมากในสังคมที่ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจรัฐธรรมนูญมาก
เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงควรสร้างบรรยากาศให้มีสิทธิ เสรีภาพ ในการแสดงความเห็นอย่างเปิดกว้าง ถ้ามีข้อจำกัดเยอะ ประชามติจะเป็นเพียงพิธีกรรมมากกว่าการให้ประชาชนตัดสินใจจริงๆ โดยสมบัติไม่แน่ใจว่าภายใต้สภาพความเป็นจริงประชาชนเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญการแสดงความเห็นที่แตกต่างกันต้องไม่ทำให้เกิดปฏิปักษ์ที่นำไปสู่ความรุนแรง
แต่ที่ต้องเงี่ยหูฟังคือความเห็นของ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิและอดีตผู้นำรัฐประหาร 2549 เห็นว่า ถ้ายังไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่วัฏจักรเดิมๆ เป็นไปได้อยากให้ประชาชนเข้าใจแล้วค่อยมาเลือก ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดวิกฤติแตกแยกทางความคิด เพราะคสช.ยังไม่ได้ทำให้คนไทยที่แบ่งฝ่ายรวมเป็นฝ่ายเดียวกัน ตรงนี้แหละที่ต้องขีดเส้นใต้เพราะนอกจากไม่ทำแล้วดูเหมือนว่าผู้มีอำนาจจะทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งไปด้วยเสียฉิบ