มาตรการสิ้นคิดพลวัต 2016
รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเพลิดเพลินกับอำนาจสั่งการเหนือสังคม ได้เพิ่มมาตรการเรียกแรงเชียร์จากข้าราชการที่พึงพอใจจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เหนือคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ “น่ารังเกียจ” ด้วยการเอางบประมาณอีก 1.5 หมื่นล้านมาแจกจ่ายให้ข้าราชการบางคนแบบ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” คนละ 1,000 บาท ในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยให้กับข้าราชการระดับล่างและกลางที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่งซึ่งมีอยู่จำนวน 1 ล้านคน
วิษณุ โชลิตกุล
รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังเพลิดเพลินกับอำนาจสั่งการเหนือสังคม ได้เพิ่มมาตรการเรียกแรงเชียร์จากข้าราชการที่พึงพอใจจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จ เหนือคนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ “น่ารังเกียจ” ด้วยการเอางบประมาณอีก 1.5 หมื่นล้านมาแจกจ่ายให้ข้าราชการบางคนแบบ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” คนละ 1,000 บาท ในช่วงเดือนเมษายนนี้ โดยให้กับข้าราชการระดับล่างและกลางที่ไม่มีเงินประจำตำแหน่งซึ่งมีอยู่จำนวน 1 ล้านคน
นายสมชัยสัจจพงษ์ปลัดกระทรวงการคลังเผยถึงในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระบุว่านี่เป็นมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ครั้งที่ 3 หลังจากก่อนหน้านี้มีมาตรการการคลังครั้งที่ 1 มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่วงเงิน 1.36 แสนล้านบาทและครั้งที่ 2 เป็นมาตรการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท
มาตรการนี้รวมเอาบ้านประชารัฐและช้อปช่วยชาติที่เคยออกมาในช่วงส่งท้ายปีเก่าและจะออกมาอีกในช่วงเดือนเมษายนนี้อีก
เหตุผลของมาตรการกระตุ้นแบบ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ที่ออกมาทั้งหมดคือ“…เป็นมาตรการที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปได้อย่างเหมาะสมและดูแลกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต้องดูแลเพิ่มเติม…และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก…”
คำพูดคล่องแคล่วแบบ “นักบุญ” เช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ข้าราชการที่ช่ำชองของประเทศไทยพูดคล่องปากเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ใต้รัฐบาลไหน
การกระทำแบบนี้ไม่ว่าจะใช้คำสวยหรูแค่ไหนว่า ประชารัฐ หรือ กระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจเพื่อให้กำลังซื้อกลับคืนมา ก็หนีไม่พ้นจาก กระบวนหว่านเงินงบประมาณอย่างสิ้นคิดในระยะเร่งด่วนเฉพาะหน้าธรรมดาของ รัฐบาลที่หมดความสามารถที่จะสร้างกลไกกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการทั่วไป จึงหันมาเลือกใช้วิธีการ “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” แทน
เพียง แต่ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน ขอเลี่ยงห่างจากคำว่า “ประชานิยม” (ที่คนบางกลุ่มทนฟังไม่ได้เลยอย่างคลั่งไคล้) ให้ไกลๆ ก็มีความชอบธรรมเพียงพอแล้ว ส่วนจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ
อำนาจรัฐราชการไทยนั้น ช่ำชองกับการ “ได้ทำ” ว่ามีความหมายมากกว่า “ทำได้” เสมอ
มาตรการหว่านเงินให้คนบางกลุ่มได้รับประโยชน์ในยามที่เศรษฐกิจโดยรวมย่ำแย่นี้ เข้าข่ายมาตรการ เฮลิคอปเตอร์ มันนี่ (helicopter money) อย่างชัดเจน
คำนิยามนี้ ไม่ใช่คำใหม่ มิลตัน ฟรีดแมน นักเศรษฐศาสตร์อเมริกันรางวัลโนเบล ต้นตำรับทฤษฎีการเงินอันลือลั่นแห่งชิคาโก เคยใช้เรียกมาตรการ “ประชานิยม” หรือ นิว ดีล ของรัฐบาลอเมริกันยุคแฟรงคลิน ดี รุสเวลท์ (รวมทั้งแสตมป์อาหาร ที่ยังใช้มาถึงปัจจุบันในสหรัฐฯ) ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองว่าเป็นมาตรการทางการคลัง เอาเฮลิคอปเตอร์หย่อนถุงยังชีพเป็นจุดๆ ชั่วขณะ ไม่ใช่ทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นการทั่วไปในการฟื้นเศรษฐกิจ ถือเป็นการสูญเปล่า
คำนี้ ถูกละเลยกันต่อมาอีกนาน จนกระทั่งเบนจามิน เบอร์นันเก้ ผู้ว่าเฟดฯคนก่อน เจ้าของฉายา “เฮลิคอปเตอร์ เบน” ออกมาตรการ QE มาใช้ พร้อมกดดอกเบี้ยเฟดฯต่ำติดพื้นนานกว่า 7 ปี เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ล่มสลายหลังวิกฤตซับไพรม์ พร้อมมีมาตรการทางการคลังเสริมที่เขาเรียกว่า “การหย่อนถุงยังชีพทางเฮลิคอปเตอร์” (helicopter drop) เคียงคู่กับมาตรการทางการเงินของเฟดฯ โดยหมายถึงการเอางบประมาณรัฐไปจ่ายโดยตรง (ผ่านหลายช่องทาง รวมทั้งการลดหรืองดภาษีบางภาคชั่วขณะ) เป็นจุดตรงที่มีปัญหาโดยตรงเพื่อ กระตุ้นกำลังซื้อชั่วคราวให้รอดจากอาการซวนเซ
ประสิทธิผลของเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ ไม่เป็นที่ชัดเจน (หากไม่นับกรณีดัชนีตลาดหุ้นวิ่งขึ้นชั่วขณะ) จนถึงวันนี้ เพราะยังไม่มีรูปธรรมมายืนยันจากทั้งฝ่ายสนับสนุน และคัดค้านมาตรการดังกล่าว แต่มันก็ได้กลายเป็นมาตรการ “ต่อต้านเงินฝืด” ที่รัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้แพร่หลายอย่างสิ้นคิดเป็นการทั่วไป
เมืองไทยนั้น เริ่มเป็นที่คุ้นเคยกับเฮลิคอปเตอร์มันนี่ นับตั้งแต่พรรคแมลงสาบอย่างประชาธิปัตย์ในปี 2552 ทำการหว่านเงินงบประมาณ เพิ่มเติม 104,099.79 ล้านบาททันทีที่มาเป็นรัฐบาลเพื่อ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” เลียนแบบสหรัฐฯด้วยการ “แจกเงินหาเสียงล่วงหน้า” ในชื่อของการให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาทซึ่งเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำไม่เกิน 14,999 บาท ด้วยเหตุผลว่าหวังจะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียน และ “ทำให้ชาวโลกรับรู้ว่าประเทศไทยเศรษฐกิจไทยกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” รวมทั้งทั่วโลกก็ทำแบบนี้
ครั้งนั้น นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังยอมรับว่า การแจกเงินที่ประยุกต์มาจาก“เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ของสหรัฐฯนั้น เป็นการโยกเงินให้กับประชาชนที่มีความจำเป็นและมีสัดส่วนในการออมเงินต่ำ เมื่อได้รับเงินไปต่ำกว่า 10% ก็น่าจะมีผลกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ต่อมามาตรการฝนตกไม่ทั่วฟ้าก็ตามมาอีกหลายอย่างผ่านโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ที่อ้างว่าไม่ใช่ “ประชานิยม”
หากเทียบด้านมืดและด้านสว่างของประสิทธิผลของการล้างผลาญงบประมาณระหว่างเฮลิคอปเตอร์มันนี่กับประชานิยมจะเห็นว่าในด้านสว่างประชานิยมมีลักษณะจะทำให้เกิดการผลิตซ้ำและซื้อซ้ำหลายรอบกว่าในกลไกเศรษฐกิจเพราะ“เงินกำลังหมุนไปกำไรจะหมุนคืนมา” ในขณะที่เฮลิคอปเตอร์มันนี่จะเกิดการซื้อครั้งเดียวสั้นๆ
ส่วนด้านมืดของประชานิยมกับเฮลิคอปเตอร์ มันนี่ไม่แตกต่างกันในเชิงคุณภาพแต่อาจจะต่างกันเชิงปริมาณเพียงแต่จุดเลวร้ายมากกว่าของเฮลิคอปเตอร์มันนี่อยู่ที่มาตรการนี้เพิ่มความเหลื่อมล้ำและความคับข้องใจสั่งสมให้กับคนที่ไม่ได้รับ “ส่วนบุญ” จากการเลือกปฏิบัติมากขึ้นในระยะยาวตรงข้ามกับประชานิยมที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ชั่วคราว
มาตรการเฮลิคอปเตอร์มันนี่เพื่อสร้างอุปสงค์เทียมให้ตลาดสินค้าและบริการชั่วขณะของทีมเศรษฐกิจรัฐบาลนี้ในชื่อ“ประชารัฐ” ที่อ้างว่าเหนือกว่าและดีกว่าประชานิยมอาจจะอ้างได้ว่าในยามที่เศรษฐกิจยังแปรปรวนกับภาวะขึ้นๆ ลงๆของตลาดโลกเป็นความจำเป็นและล้างผลาญงบประมาณน้อยกว่าเพราะทำโดย “คนดีที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน”
สิ่งที่แน่นอนไม่อาจปฏิเสธได้เลยคือมีกลุ่มธุรกิจบางกลุ่มรับอานิสงส์จาก “ลาภลอย” อย่างเต็มที่แค่กระจุกเดียวเท่านั้นในขณะที่คนได้รับเงินที่หว่านออกไปได้รับเพียงแค่ “เศษเนื้อข้างเขียง” ที่ปรนเปรอชั่วคราว
คำถามพื้นฐานที่ยังไม่มีคำตอบคือข้ออ้างถัดไปถ้าหากว่าเฮลิคอปเตอร์มันนี่ ที่ใช้หว่านไปแล้วนี้ยังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจผงกหัวขึ้นได้แต่ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้คนในสังคมชัดเจนยิ่งขึ้นจะเป็นอะไรหรือจะโทษอะไรในฐานะ “แพะ”
หวังว่าคงจะไม่ถึงกับโทษดาวยูเรนัสหรือโหรต่องแต่งทั้งหลายก็แล้วกัน
แค่โทษ “รัฐบาลที่ผ่านมา” ก็อนาถเกินพอแล้ว