พาราสาวะถี อรชุน

บอกไว้ตั้งแต่วันวานในจังหวะที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ การเสนอความเห็นใดๆ โดยเฉพาะจากซีกส่วนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร จะถูกจับตามองและต้องมีมาตรการเด็ดขาดเป็นพิเศษมาจัดการ ประเดิมไปแล้วทั้ง วรชัย เหมะ และ วัฒนา เมืองสุข ที่รายแรกดันไปแตะปมเรื่องประชามติแล้วพาดพิงไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องค์รัฏฐาธิปัตย์


บอกไว้ตั้งแต่วันวานในจังหวะที่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสมบูรณ์ การเสนอความเห็นใดๆ โดยเฉพาะจากซีกส่วนนักการเมืองหรือพรรคการเมืองในเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร จะถูกจับตามองและต้องมีมาตรการเด็ดขาดเป็นพิเศษมาจัดการ ประเดิมไปแล้วทั้ง วรชัย เหมะ และ วัฒนา เมืองสุข ที่รายแรกดันไปแตะปมเรื่องประชามติแล้วพาดพิงไปถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา องค์รัฏฐาธิปัตย์

ชัดเจนจากท่านผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รับไม่ได้ใครมาต่อว่า พร้อมกับย้ำปรับทัศนคติไม่ได้ทำร้ายใคร สอดประสานกันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อไปหากใครมีการวิพากษ์วิจารณ์คณะรัฐประหารหรือรัฐบาลด้วยท่วงทำนองที่ไม่ให้เกียรติกัน จะเรียกมาทั้งหมดและต้องมีการอบรมทำความเข้าใจ

นี่แหละยุคคนดีครองเมืองใครจะไปแตะไม่ได้ ยิ่งนักการเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นพวกต้นทุนต่ำ พวกชั่วช้าสามานย์ บังอาจมาท้าทายและใส่ร้ายคนดีแห่งสยามประเทศมันจะต้องเป็นปัญหา มาถึงตรงนี้บทความจาก สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์หัวหิน ว่าด้วย ศีลธรรมคนดี vs ศีลธรรมหลักการ จึงน่าจะทันต่อสถานการณ์มากที่สุด

โดยสุรพศยกปมเรื่องคนดีแบบฆราวาสหรือ “คนดีทางโลก” มาอธิบายว่า หมายถึงผู้ปกครองและผู้ใต้ปกครองเป็นคนดีมีศีลธรรม เช่น มีศีล 5 มีคุณธรรมของผู้ปกครอง เช่น ทศพิธราชธรรม วัชชีธรรม จักกวัตติวัตร เป็นต้นแต่หากไล่เรียงความคิดเรื่องศีลธรรมคนดีที่เป็นอยู่แล้ว จะพบว่าไม่ใช่ศีลธรรมที่วางอยู่บนฐานของการเคารพ “ความเป็นคนเท่ากัน”

แต่เป็นศีลธรรมที่อยู่บนฐานของการยืนยันลำดับชั้นสูง-ต่ำทางสังคมที่ถือว่า คนเราเกิดมาในชนชั้นทางสังคมที่ต่างกัน เพราะชาติก่อนทำความดีมาไม่เท่ากัน ชนชั้นปกครองสมควรเป็นผู้ปกครองเพราะเป็นผู้มีบุญญาธิการสูงส่งที่ทำมาแต่ชาติปางก่อน ส่วนไพร่ ทาสที่มีสถานะต่ำกว่าพวกเจ้าขุนมูลนาย ก็เพราะชาติก่อนทำบุญมาน้อยกว่า

ความคิดเรื่องคนดีทางโลก เมื่อนำมาใช้กับการเมืองสมัยใหม่ ยิ่งทำให้เกิดปัญหาซับซ้อนขึ้นไปอีก ดังจะเห็นได้จากความคิดการเมืองเชิงศีลธรรมของปราชญ์ชาวพุทธที่เสนอว่า “ระบบเผด็จการโดยธรรม” หรือเผด็จการโดยคนดีเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่เป็นระบบที่ดีที่สุด รูปธรรมของอิทธิพลความคิดดังกล่าวนี้คือการเกิดกระแสเรียกร้องคนดีมาปกครองบ้านเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ถ้าเป็นคนดีแล้วก็มีความชอบธรรมที่จะทำรัฐประหาร ใช้วิธีเผด็จการในการปกครองประเทศเพื่อความสุขของคนส่วนใหญ่ได้ การตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบคนดีตามหลักการประชาธิปไตยก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป กล่าวได้ว่า ศีลธรรมแบบพุทธไทยที่ถือว่าความดีอยู่ที่ตัวคนคือ รากฐานของค่านิยมยึดติดตัวบุคคลเหนือหลักการ

ภายใต้บริบทสังคมการเมืองไทย กลุ่มคนที่จะถูกยอมรับว่าเป็นคนดี ที่สมควรเป็นผู้ปกครองหรือเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และมีอำนาจชี้นำทางความคิดได้คือ “กลุ่มคนชนชั้นนำ” ฝ่ายอนุรักษนิยมเท่านั้น เช่นองคมนตรี นายพล ตุลาการ ราษฎรอาวุโส ปัญญาชน นักวิชาการ เอ็นจีโอที่ยอมรับได้ และหรือสนับสนุนวิถีเผด็จการโดยธรรมหรือเผด็จการโดยคนดี

ภายใต้ระบบศีลธรรมแบบเชิดชูคนดีซึ่งเป็นกลุ่มชนชั้นนำระดับบน ทำให้สังคมไทยมีกลุ่มเครือข่ายคนดีที่มีอำนาจพิเศษเหนือหลักการกติกาประชาธิปไตย สามารถล้มหลักการ กติกาประชาธิปไตยได้ตลอดเวลาด้วยข้ออ้างเรื่องขจัดคนเลวและทำความดี เสียสละเพื่อชาติบ้านเมือง สิ่งที่เราได้เห็นก็คือการฉีกกติกาปกครองประเทศครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วกลุ่มคนดีเหล่านี้ก็เขียนกติกาปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ที่เป็นการกระชับอำนาจของกลุ่มตัวเองให้เข้มข้นมากขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ทั้งตัวความคิดศีลธรรมแบบเชิดชูคนดี และลักษณะอำนาจนิยมของบรรดากลุ่มคนดีได้เปิดเปลือยตัวมันเองให้เห็นความไร้เหตุผล ความเหลวไหล ความอยุติธรรม ความเลอะเทอะ กระทั่งความน่าตลกขบขันทุกแง่ทุกมุม ไม่มีอะไรสามารถหลบเร้นสายตาของสาธารณชนได้อีกต่อไปแล้ว

คนที่ยังพอมีสติ มีเหตุมีผลและสามารถเข้าใจได้ว่าศีลธรรมเชิงหลักการ ที่ถือว่าความดีอยู่ที่ตัวหลักการ การมีศีลธรรมคือการทำหน้าที่เคารพ ปฏิบัติตามและปกป้องหลักการที่อยู่บนฐานของการเคารพสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียมเท่านั้นที่ไปกันได้กับประชาธิปไตย ก็จะมองเห็นได้ว่า ศีลธรรมแบบเชิดชูคนดีเหนือหลักการกำลังทำลายตัวมันเองให้เสื่อมทรุดลงทุกวันๆ ด้วยการลุแก่อำนาจ การพยายามสร้างกติกาปกครองประเทศและค่านิยมที่ขัดกับความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิอำนาจของประชาชนส่วนใหญ่

ด้วยกลไกที่เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคงเป็นเหมือนที่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เขียนวิเคราะห์ถึงเหตุก่อการร้ายในเบลเยียม ในมุมมองที่น่าสนใจว่า การก่อการร้ายเบลเยียมไม่ใช่เพียงแค่อิทธิพลหรือการชักจูงจากกลุ่มไอเอสเท่านั้น หากแต่สัมพันธ์อยู่กับเงื่อนไขเฉพาะหลายประการ ไม่ว่าความยากจนในพื้นที่หรือสัดส่วนอายุของคนในชุมชนรวม ไปถึงเงื่อนไขของรัฐที่ไม่เข้มแข็งด้วย

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาใน Molebeek หรือ ชุมชนซึ่งมีคนมุสลิมอยู่ในพื้นที่ประมาณร้อยละ 25 ของประชากรในพื้นที่ในกรุงบรัสเซลล์ จนถูกตัดสินว่า เป็นศูนย์กลางของนักรบศาสนาในยุโรป จึงไม่ใช่เรื่องของการใช้การทหารเท่านั้น หากแต่ต้องคิดกันถึงกระบวนการสร้างความหมายและอนาคตให้แก่ผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ก่อนที่อรรถจักร์จะสรุปว่า ในสังคมปัจจุบันเรามักจะถูกทำให้คิดและรู้สึกอะไรแบบเหมารวมไปหมด ซึ่งจะเร้าอารมณ์ให้มองเห็นเฉพาะ “พวกเขา/พวกเรา” เท่านั้น อันจะนำมาซึ่งการทำร้ายกันมากขึ้น เราคงต้องช่วยกันข้ามพรมแดนของการเหมารวมเช่นนี้ จุดนี้นี่แหละที่น่าเป็นห่วง เพราะตราบใดที่ยังมีคำว่าคนดีกับคนไม่ดี พวกต่อต้านหรือฝ่ายตรงข้าม คงยากที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายที่ว่าพาประเทศเดินไปข้างหน้าได้

Back to top button