ยาสารพัดนึกจากเฟดฯพลวัต 2016
เช้าวันนี้ ก็คงรู้แล้วว่าปฏิกิริยาของตลาดหุ้นที่มีต่อคำบรรยายของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯ เมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย จะออกมาบวกหรือลบ
เช้าวันนี้ ก็คงรู้แล้วว่าปฏิกิริยาของตลาดหุ้นที่มีต่อคำบรรยายของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯ เมื่อกลางดึกคืนที่ผ่านมา ตามเวลาประเทศไทย จะออกมาบวกหรือลบ
อิทธิพลจากปลายลิ้น และวิธีคิดของนางเยลเลนกับพวก รุนแรงเสมอ โดยเฉพาะการตีความของนักวิเคราะห์ “อ่านริมฝีปากเฟดฯ” ที่จะส่งสัญญาณให้ตลาดรับรู้ว่า จากนี้ไปแนวโน้มจะเป็นเช่นใด
ก่อนนางเยลเลนจะปราศรัย คณะกรรมการระดับรองลงไปจากนางเยลเลน ออกมาให้สัมภาษณ์หรือปราศรัย ส่งสัญญาณทางเดียวกันว่า การขึ้นดอกเบี้ยในเดือนเมษายนเป็นไปได้ แม้ว่าตลอดทั้งปีนี้ จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะตัวเลขดัชนีทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ บ่งชี้ว่า วันเวลาของการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อในสหรัฐฯใกล้เข้ามาทุกขณะ
ในทางทฤษฎี การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดฯ ส่งผลลบต่อตลาดหุ้นเสมอมา แต่ในทางปฏิบัติ การขึ้นดอกเบี้ย ไม่ใช่จะเกิดปฏิกิริยาเชิงลบเสมอไป สิ่งที่ตลาดกลัวไม่ใช่การขึ้นดอกเบี้ย แต่กลัวความไม่แน่นอนของการตัดสินใจของเฟดฯ ในการส่งสัญญาณมากกว่า เพราะโดยข้อเท็จจริง การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายทุกครั้ง ส่งสัญญาณว่า เศรษฐกิจได้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ที่จะต้องหวาดระแวงเงินเฟ้อเป็นหลัก และ การควบคุมเงินเฟ้อด้วยดอกเบี้ยและปริมาณเงินในตลาด ทำได้ง่ายกว่า การแก้ปัญหาเงินฝืดหรือเศรษฐกิจชะงักงันหลายเท่า
ในกรณีที่ประเทศมีเศรษฐกิจแบบปิดหรือเปิดน้อยกว่าปิด คำเปรียบเปรยเก่าแก่ที่ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เสมือนหนึ่งการให้คนไข้กินยาขม หรือไม่ก็ให้สตรีอ้วนสวมสเตย์รัดหน้าท้องเล็กเกิน เพราะโดยข้อเท็จจริงนั้น ดอกเบี้ยไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเอง เนื่องจากถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสะท้อนความแข็งแกร่งทางการเงินของผู้ที่เกี่ยวข้อง โยงใยกับอนุกรมเวลา และสภาพแวดล้อม บนรากฐานของช่องว่างระหว่างความต้องการ กับการสนองตอบของทุนในตลาด
ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิดภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ดอกเบี้ยไม่ได้ถูกกำหนดจากความแตกต่างของการออม และการลงทุน โดยมีการบริโภคเป็นตัวถ่วง แต่มีตัวแปรมากขึ้นจากการที่อัตราดอกเบี้ยได้กลายเป็นตัวกำหนดค่าเงินสกุลเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ
ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ธนาคารกลางไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องดูแลค่าเงินสกุลของประเทศไม่ให้แข็งเกิน หรืออ่อนเกิน จนกระทบต่อการค้าและการลงทุน ความยากลำบากของการกำหนดขาขึ้นหรือลงของอัตราดอกเบี้ยของเฟดฯซึ่งกระทบไปทั่วโลก จึงยากลำบากกับการระมัดระวังเป็นพิเศษ
หลายปีมานี้ เฟดฯได้เผชิญกับภารกิจที่ยากลำบากของโครงสร้างนโยบายที่เรียกกันว่า ไตรภาวะของของความเป็นไปไม่ได้ (impossibility trinity) ซึ่งหมายถึง การถ่วงดุลระหว่าง นโยบายทางการเงินที่เป็นอิสระ การไหลเข้าออกของทุน และการกำกับควบคุมปริมาณเงินให้เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์รอบด้านที่ไม่มีสูตรสำเร็จ ท่ามกลางการล่มสลายของเศรษฐกิจสหรัฐฯอันยาวนานและของโลกในปัจจุบัน จนกระทั่งพลิกแพลงนโยบายเพื่อให้สามารถรองรับการ “ยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกหลายตัว” แม้จะไม่สมบูรณ์พร้อมไปทุกครั้ง
สัปดาห์ที่ผ่านมา นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟดฯ) สาขาซานฟรานซิสโก กล่าวว่า ตลาดทุนและตลาดเงินมีความวิตกกังวลมากเกินไปเกี่ยวกับภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจ และความผันผวนทางการเงิน และไม่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับวิกฤตการณ์ ขณะที่จีนจะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวรุนแรง
ขณะนี้ นักลงทุนกำลังจับตาการกล่าวสุนทรพจน์ของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดฯ ในคืนนี้ เวลา 23.20 น. ตามเวลาไทย เพื่อหาสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
อารมณ์ของตลาดที่เริ่มมีการโน้มเอียงว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดฯ ในเดือนเมษายนเป็นไปได้มากขึ้น ทำให้ค่าดอลลาร์ในตลาดทั่วโลกเริ่มแข็งค่าขึ้น ตัวอย่างเช่น ในญี่ปุ่น ราคาบอนด์รัฐบาลญี่ปุ่นที่เคยพุ่งสูงลิ่วร่วงรุนแรง สวนทางกับบอนด์ยีลด์ที่เคยติดลบแล้วเริ่มบวกกลับขึ้นมากะทันหันเช่นกัน
เช่นเดียวกัน ค่าดอลลาร์ที่แข็งค่าล่วงหน้านี้ ทำให้เงินทุนเก็งกำไรที่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มถอนตัวออกอย่างมีนัยสำคัญไปถือดอลลาร์แทน เห็นได้ชัดจากค่าบาทไทยที่อ่อนตัวปิดตลาดวานนี้ อ่อนค่าสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ก็เป็นการปรับตัวของตลาดก่อนนางเยลเลนจะกล่าวคำปราศรัย จนถึงขั้นเมินเฉยต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยที่ไฟเขียวในช่วงบ่ายวานนี้ โดยนักลงทุนมีมุมมองว่าไม่ส่งผลต่อตลาดฯมากนัก
นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากคำปราศรัยของประธานเฟดฯไม่ได้มีการส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นทั่วโลกและเอเชีย รวมทั้งไทย น่าจะรีบาวด์กลับขึ้นไปหาแนวต้านใหม่ หลังการพักฐานหลายวันทำการ แต่ถ้ามีการส่งสัญญาณจะขึ้นดอกเบี้ยไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็มีโอกาสที่ตลาดฯจะปรับตัวลง
หากประเมินชนิดฟันธง เชื่อล่วงหน้าได้เลยว่า ไม่ว่านางเยลเลนจะพูดเช่นใด ตลาดหุ้นวันนี้ก็จะขานรับกับ “ยาสารพัดนึกของเฟดฯ” ในเชิงบวกเสมอ เพราะนับตั้งแต่การขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 9 ปีของเฟดฯเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ตลาดก็ขานรับเชิงบวกแรงเช่นกัน (เว้นเสียแต่บังเอิญมีจังหวะราคาน้ำมันจะดิ่งเหวแบบกะทันหัน)
คำพังเพยที่ว่า “ก้าวแรกย่อมยากกว่าปกติ แต่ก้าวต่อมาที่ 2 3 4….ย่อมไม่มีอะไรตื่นเต้น” จึงเป็นสิ่งที่ตลาดได้เรียนรู้และปรับตัวกันมาดีพอสมควร ครั้งนี้ก็คงเช่นกัน…หากไม่มีการพลิกผันที่ควบคุมไม่ได้เกิดขึ้น