พาราสาวะถี อรชุน
มีคำถามว่าการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย กว่า 7,000 แห่งในทุกตำบลของกกต. เพื่อเผยแพร่รายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันฝ่ายกองทัพก็จะใช้ทหารและรด.ช่วยประชาสัมพันธ์จนไปถึงวันทำประชามติ ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุไหม เหล่านี้คือปุจฉา ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำกันอย่างไรต่อไป
มีคำถามว่าการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย กว่า 7,000 แห่งในทุกตำบลของกกต. เพื่อเผยแพร่รายละเอียดในร่างรัฐธรรมนูญ คุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ เพราะในขณะเดียวกันฝ่ายกองทัพก็จะใช้ทหารและรด.ช่วยประชาสัมพันธ์จนไปถึงวันทำประชามติ ซ้ำซ้อนสิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุไหม เหล่านี้คือปุจฉา ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติจะทำกันอย่างไรต่อไป
ไม่ต้องพูดถึงประเด็นว่าทุกท่วงทำนองที่ขยับเป็นการ “ชี้นำ” หรือไม่ หากพิจารณาในเนื้อหาที่ปรากฎในร่างที่เตรียมพร้อมสำหรับการทำประชามติ ผนวกเข้ากับเหตุผลช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี หนีไม่พ้นต้องใช้อำนาจพิเศษหรือเงื่อนไขที่เข้มงวดกวดขันเพื่อปกครองประเทศต่อไปตามความต้องการขององค์รัฏฐาธิปัตย์ แล้วจะดำเนินการกระบวนการต่างๆ ทั้งๆ ที่รู้ผลอยู่แล้วว่าจะเป็นอย่างไร ให้สูญเสียเงินภาษีประชาชนเปล่าๆปรี้ๆไปทำไม
แค่พิธีกรรมเลือกตั้งเพื่อให้ต่างชาติมองเห็นว่าเป็นประชาธิปไตยคงไม่จำเป็น หากหลังจากนั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานไม่ได้ ขยับอะไรไม่ออก ทุกอย่างต้องบอกต้องเชื่อฟังส.ว.ลากตั้งและองค์กรอิสระเทวดา หลับหูหลับตาตั้งรัฐบาลเอาที่ถูกอกถูกใจบรรดาคนดีทั้งหลายแหล่ดีกว่าไหม ไม่ต้องไปอายหรือไปสนว่านานาประเทศจะคบค้าสมาคมด้วยหรือไม่
เพราะปัจจัยเท่าที่เป็นอยู่ไม่รู้จะอธิบายใครต่อใครเขาอย่างไร อย่างที่พรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์นั่นแหละ ไม่จำเป็นต้องเร่งให้มีการเลือกตั้งหากกติกาไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นประชาธิปไตย มีแนวโน้มที่จะสร้างปัญหาทางการเมืองมากขึ้น ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ การลงทุนในประเทศจะลดลง การส่งออกยิ่งเกิดวิกฤต ทั้งที่ขณะนี้ประเทศและประชาชนก็ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว หลังใช้รัฐธรรมนูญวิกฤติทางเศรษฐกิจจะมีมากยิ่งขึ้น
แม้จะเข้าใจถึงการรอคอยของประชาชนที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่การเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและสร้างปัญหาในอนาคตนั้น จะสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนและประเทศชาติจนยากที่จะแก้ไขได้ แต่ก็อีกนั่นแหละ ด้วยสัญญาประชาคมโลกที่ท่านผู้มีอำนาจได้ไปประกาศไว้ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติการเลือกตั้งก็ต้องเกิดขึ้นในปี 2560 อย่างแน่นอน
เพราะท่าทีของท่านผู้นำเมื่อวันวานบ่งบอกชัดทุกอย่างต้องใช้การทุบโต๊ะบ้านนี้เมืองนี้ถึงจะอยู่รอด นี่คือ แนวคิดของผู้มีอำนาจเด็ดขาด มิเช่นนั้น คงไม่ประกาศว่า “ถ้าพวกคุณเลือกผมมา คุณจะสั่งผมอย่างไรผมจะทำให้ แต่นี่ไม่ได้เลือกผมสักคน” คงจะเป็นสัญญาณได้อย่างชัดเจนแล้วว่า รากความคิดและทัศนคติในการปกครองบ้านเมืองของรัฎฐาธิปัตย์เป็นอย่างไร
เช่นเดียวกันกับคำขู่ที่ว่า “ถ้าไม่อยากเห็นประเทศสงบก็ไม่ต้องผ่านร่างรัฐธรรมนูญ” ตรรกะเช่นนี้หากเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และยึดหลักประชาธิปไตยจะไม่พูดกัน เพราะการทำประชามติมันหมายถึงความเห็นอันเป็นอิสระของประชาชน การใช้เงื่อนไขบ้านเมืองสงบมาเป็นตัวชี้วัดเพื่อให้คนผ่านร่างรัฐธรรมนูญ มันก็ไม่ต่างอะไรไปจากที่บอกว่าจะทำให้บ้านเมืองเกิดความปรองดอง แต่วันนี้ยังไม่เห็นวี่แววว่ามันจะเป็นไปได้
เหตุผลอย่างที่ตอกย้ำมาโดยตลอด ไม่ใช่เพราะกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองไม่ยอมรับคณะรัฐประหารจึงต่อต้านหรือสร้างแรงกระเพื่อมอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆที่สั่นคลอนต่อเสถียรภาพของคณะผู้มีอำนาจแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับเป็นผู้มีอำนาจต่างหากที่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งและแบ่งข้างเลือกฝ่ายไปเสียเอง
ขณะที่ประเทศไทยยังคงรอเส้นทางที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้งในปีหน้า ที่พม่าวันวานมีการเปิดประชุมร่วมกันสองสภา เพื่อทำพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่ ได้แก่ ถิ่น จ่อ ประธานาธิบดี ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยสภาผู้แทนราษฎรพม่า มิตส่วย รองประธานาธิบดีคนที่ 1 ซึ่งถูกเสนอชื่อโดยสมาชิกรัฐสภาโควตากองทัพพม่า และ เฮนรี บัน ทียู รองประธานาธิบดีคนที่ 2 ถูกเสนอชื่อโดยสภาชนชาติ
โดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ผู้นำจากรัฐบาลทหารพม่าได้หมดวาระลงในวันที่ 30 มีนาคม ก่อนหน้านั้นหนึ่งวันผู้นำคนสุดท้ายของรัฐบาลทหารพม่า(ซึ่งอาจจะไม่ใช่คนท้ายสุด) ได้ออกคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในรัฐยะไข่หรือรัฐอาระกันของพม่า หลังจากเกิดจลาจลระหว่างชาวโรฮิงญาและชาวยะไข่มาตั้งแต่ปี 2555
สิ่งที่น่าสนใจหากจะเทียบเคียงถึงกระบวนการคืนประชาธิปไตยในพม่ากับร่างรัฐธรรมนูญของไทย คงเป็นเรื่องของบทบัญญัติที่แม้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือเอ็นแอลดี จะชนะการเลือกตั้งทั่วไปถล่มทลาย แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2551 ของพม่า มีบทบัญญัติที่ทำให้ ออง ซาน ซูจี ขาดคุณสมบัติไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีหรือประธานาธิบดีได้
เนื่องจากสมรสกับชาวต่างชาติและมีบุตรเป็นชาวต่างชาติ ขณะเดียวกัน แม้ในขณะนี้พรรคเอ็นแอลดีจะมีที่นั่งในสภาเกินร้อยละ 66 หรือ 2 ใน 3 ของทั้ง 2 สภา แต่ก็ยังไม่พอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียงสนับสนุนเกินร้อยละ 75 หรือเกิน 3 ใน 4 ของสภา หรือต้องได้รับการสนับสนุนจากกองทัพที่มีที่นั่งอยู่ร้อยละ 25 ในสภา
และเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา ในวันกองทัพพม่าปีที่ 71 พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่า ยืนยันว่ากองทัพจะยังคงมีบทบาทสำคัญ โดยได้กล่าวเตือนว่าเมื่อชาติขาดนิติธรรม-กฎเกณฑ์ และการมีอยู่ของกลุ่มติดอาวุธ จะเกิดภาวะประชาธิปไตยโกลาหล กองทัพพม่าจะร่วมมือกับรัฐบาลในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างพม่าที่เป็นประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมือง เล่นบทค้ำจุนและส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ
อย่างที่รู้กัน กองทัพพม่ายังคงมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยร้อยละ 25 ของสมาชิกสภาทุกระดับมาจากการแต่งตั้งของกองทัพพม่า ขณะที่กระทรวงสำคัญได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงกิจการชายแดน รัฐมนตรีจะถูกเสนอชื่อโดยผู้บัญชาการกองทัพพม่า นอกจากนี้ โครงสร้างอำนาจสำคัญคือสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจแนะนำรัฐบาลหลายด้าน กองทัพยังคงสัดส่วนของที่นั่งมากกว่ารัฐบาลพลเรือนของพรรคเอ็นแอลดี
ไม่อยากจะมองโลกในแง่ร้ายว่ากฎหมายสูงสุดของไทยเรามันละม้ายคล้ายเพื่อนบ้านที่เพิ่งเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะคำว่าช่วงเปลี่ยนผ่านแต่ต่างกันตรงที่ผู้นำกองทัพพม่าจะร่วมมือกับหลายพรรคการเองเพื่อค้ำจุนประโยชน์ประเทศ แต่ผู้นำบางประเทศไม่ชอบความวุ่นวาย ถึงขั้นประกาศถ้าวุ่นวายกับผมมากก็ไม่เดินหน้า อยู่ของผมแบบนี้ ทำไมหรือใครจะมีปัญหา จิ๊กโก๋อีกต่างหากคงนี่แหละผู้สร้างความหวังอันเรืองรองให้บ้านเมือง