พาราสาวะถี อรชุน
การอธิบายของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เรื่องของการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับชั้นม.ปลายของเด็กนักเรียน ที่อ้างว่า สิ่งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่าง เพื่อมารองรับคนจน แล้วพอไปถึงตอนปลาย คนจนก็ยังจะได้รับการดูแล เพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ไป
การอธิบายของ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.เรื่องของการตัดสิทธิ์เรียนฟรีในระดับชั้นม.ปลายของเด็กนักเรียน ที่อ้างว่า สิ่งที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทำก็คือการร่น 12 ปีลงมาข้างล่าง เพื่อมารองรับคนจน แล้วพอไปถึงตอนปลาย คนจนก็ยังจะได้รับการดูแล เพราะจะมีกองทุนการศึกษาให้ ส่วนคนมีสตางค์ก็ออกสตางค์ไป
ในมุมของคนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการศึกษาอาจหลับหูหลับตาเชื่อไป แต่ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่ได้เชื่อตามนั้น โดยอาจารย์ได้อธิบายเป็นฉากๆ ว่า ข้อเท็จจริงประการแรกคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ปรับเปลี่ยนกรอบการดำเนินการจาก 12 ปีเป็น 15 ปี ในชื่อ “โครงการเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ”
ครอบคลุมทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษาในระดับชั้นอนุบาล-ปวช.3 โดยให้การอุดหนุนค่าเล่าเรียนต่อหัวนักเรียนในรูปตัวเงินให้แก่สถานศึกษาและครอบครัวนักเรียน แต่ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หน้าที่ของรัฐจะมีเพียงการสนับสนุนให้นักเรียนเรียนฟรีจนถึงม.3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยเท่านั้น ส่วนสิทธิของประชาชนนั้นหายไปกลายเป็นหน้าที่ของรัฐแทน
การอธิบายของมีชัยที่ ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้ระบบการศึกษามันไม่ทัดเทียมกัน เพราะเด็กจะพัฒนาได้ต้องอยู่ระหว่าง 2-5 ขวบ ซึ่งคนมีเงินได้รับการพัฒนา แต่คนจนไม่ได้รับการพัฒนา เพราะฉะนั้นพอถึงมัธยมปลายก็เสียเปรียบ สู้กันไม่ได้เพราะตอนนั้นสมองไม่พัฒนาแล้ว สิ่งที่กรธ.ทำจะทำให้เกิดความทัดเทียมขึ้นจริง ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้คนจนจะแย่และเสียเปรียบ
แต่อาจารย์เดชรัตน์ได้ยกเอาผลการศึกษาของ ดอกเตอร์ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ที่ทำไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 2540 จะเห็นว่าสัดส่วนการเข้าเรียนระดับม.ปลายของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 25% แรกกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% นั้นแตกต่างเหลื่อมล้ำกันมาก ในช่วงนั้น กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% มีสัดส่วนได้เข้าเรียนม.ปลายไม่ถึงร้อยละ 10 เท่านั้น
โชคดีที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 เพราะหลังจากนั้น สัดส่วนการเข้าเรียนของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนสูงกว่าร้อยละ 40 ในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่รวยที่สุด 25% แรกมีอัตราการเข้าเรียนประมาณร้อยละ 80 และความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุด 25% แรกกับกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุด 25% เริ่มหดแคบเข้า เพราะฉะนั้น การระบุสิทธิการเรียนฟรี 12 ปีไว้ มีส่วนช่วยที่จะลดความเหลื่อมล้ำดังกล่าวลงได้มากทีเดียว
เพราะฉะนั้น สิทธิการเรียนฟรีของประชาชนในระดับมัธยมปลาย จึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำสำหรับคนรุ่นหน้า เป็นความหวังหนึ่งในการพาให้สังคมไทยพ้นจากความเหลื่อมล้ำที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันจึงอยากถามมีชัยว่า ใช้ข้อมูลหลักฐานหรือผลการศึกษาใดในการชี้แจงดังกล่าว ถ้ามีรบกวนแจ้งให้ทราบด้วย เพราะตนก็อยากเรียนรู้แง่มุมที่แตกต่างเช่นกัน โดยพร้อมที่จะศึกษาข้อมูลใหม่ๆ ที่แตกต่างจากที่รู้มา
แต่ถ้าคำชี้แจงดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ โดยไม่มีผลการศึกษายืนยัน ก็ขอให้มีชัยระมัดระวังไว้ด้วย เพราะตอนนี้คสช.กำลังเอาจริงเรื่องการให้ข้อมูลที่ไม่เป็นจริงหรือการบิดเบือนข้อมูลต่อสาธารณะ ขณะที่ฟากเด็กนักเรียนอย่าง พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาและเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทที่เคยถูกทหารรวบเพราะจะไปชูป้ายเรียกร้องนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ก็มีทัศนะที่น่าสนใจ
โดยเพนกวินชี้ให้เห็นว่าเรียนฟรี 12 ปีเวอร์ชั่นมีชัย เป็น “12ปีเสิ่นเจิ้น” เรียนฟรีเวอร์ชั่นใหม่นั้นเรียกได้ว่าฆ่าตัดตอนสวัสดิการเรียนฟรีช่วงม.ปลายและอาชีวะอย่างโหดเหี้ยม ไม่เหลือแม้แต่ซาก โดยให้เหตุผลว่าจะนำเงินส่วนดังกล่าวไปเป็นสวัสดิการเรียนฟรีให้การศึกษาก่อนวัยเรียน และจะให้การศึกษาฟรีนี้ถึงจบการศึกษาภาคบังคับหรือม.3 เท่านั้น
คำถามคือ เมื่อรัฐคุ้มครองการศึกษาฟรีถึงแค่ม.3 จะต้องมีผู้ที่เดินไปตามระบบการศึกษาต่อไม่ไหวและจะมีระดับการศึกษาเพียงแค่การศึกษาภาคบังคับเท่านั้น เท่ากับว่ารัฐอยากให้ประชาชนเรียนจบกันเพียงแค่ม.3 คำถามต่อมาก็คือ รัฐได้สร้างหลักประกันแล้วหรือยังว่าประชาชนที่มีระดับการศึกษากันเพียงแค่การศึกษาภาคบังคับจะสามารถจบไปมีอาชีพและสร้างประโยชน์ให้สังคมได้
เมื่อยกเลิกภาระของรัฐในการจัดสวัสดิการในส่วนของม.ปลาย รัฐบาลชุดต่อๆ ไปก็อาจผลักภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียนและผู้ปกครองได้มากที่สุดถึง 22 รายการ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าหนังสือเรียน ค่าทัศนศึกษา เป็นต้น ที่หนักหน่วงกว่าคือสายอาชีพที่นอกจากจะมีค่าเล่าเรียนสูงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์การศึกษาที่แพงลิบลิ่วแยกต่างหากอีก
ในที่สุด ก็จะมีคนที่ไม่สามารถจ่ายเงินเพื่อการศึกษาเองได้และจะต้องกู้เงินตามกองทุนที่รัฐธรรมนูญให้จัดตั้งขึ้นมา และเชื่อว่าสุดท้ายก็จะต้องมีคนที่ไม่สามารถกู้ยืมได้อีก และกับคนทั่วไปก็เป็นการเอาภาระอันหนักหน่วงไปยัดเยียดใส่ การเพิ่มภาระทางการศึกษาให้กับประชาชนทั่วไปนั้น เป็นสิ่งที่รัฐควรจะทำแล้วหรือ
ดังนั้น หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติไปได้ ขอเรียนให้ทราบล่วงหน้าว่าต่อไปนี้การเรียนม.ปลายและอาชีวะ ซึ่งปกติก็ฟรีเก๊อยู่แล้วต่อไปนี้จะไม่ฟรีอย่างเป็นทางการ ก็ไม่รู้ว่าแนวคิดดังกล่าวมันสอดรับกับการใช้มาตรา 44 จัดระเบียบการบริหารการศึกษาในส่วนภูมิภาคหรือไม่ เรียกได้ว่านอกจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว ปัจจัยลักษณะนี้ก็มีโอกาสที่จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนได้เหมือนกัน
แต่ก็อย่างที่ย้ำมาโดยตลอด การเข้มงวดกวดขัน เอาจริงเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารที่วันนี้ สมชัย ศรีสุทธิยากร บอกว่าแถลงการณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยไม่ขัดต่อกฎหมายประชามติ แต่คสช.กลับตรวจสอบเพื่อที่จะเอาผิด คงไม่ต้องบอกว่าเส้นทางของกระบวนการทำประชามตินั้นจะเป็นอย่างไร ขนาดขันใบเดียวยังเป็นปัญหากับความมั่นคง จะไปนับประสาอะไรกับความเห็นอื่นๆ ที่แสดงจุดยืนชัดเจนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับยัดเยียด