มะรุมมะตุ้มตลาดหลักทรัพย์ขี่พายุ ทะลุฟ้า
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลท.ยุคนี้ เป็นอะไรไม่รู้สิน่า ใครๆ ก็หมายปองจะเข้ามาเป็นเจ้าของหรือเข้ามาปรับโน่นปรับนี่อยู่มิได้ขาด
ชาญชัย สงวนวงศ์
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลท.ยุคนี้ เป็นอะไรไม่รู้สิน่า ใครๆ ก็หมายปองจะเข้ามาเป็นเจ้าของหรือเข้ามาปรับโน่นปรับนี่อยู่มิได้ขาด
กระทรวงการคลังโดยท่านรัฐมนตรีว่าการ คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ก็มีดำริว่า องค์กรตลท.ยังมีลักษณะหาเจ้าภาพไม่ได้ จึงสมควรจะให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ฟากก.ล.ต.หรือสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งปกติก็มีอำนาจเหนือตลท.อยู่แล้ว ก็กำลังเตรียมการจะเข้าคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งขึ้นในตลท.
บอร์ดตลท.ใหม่ก็จะเปลี่ยน จากเดิม 11 คน มาจากโบรกเกอร์ 5 + ก.ล.ต. 5 + ผู้จัดการตลาดฯ 1 ก็จะลดลงเหลือแค่ 9 โดยมาจากโบรกเกอร์ 2 + ก.ล.ต. 6 + ผู้จัดการตลาดฯ 1
โบรกเกอร์หายไป 3 ที่ ก.ล.ต.เพิ่มมา 1 เป็น 6 และอายุการดำรงตำแหน่งผู้จัดการตลาดฯ ก็จะลดลงจาก 4 ปี เหลือแค่ 3 ปีเท่านั้น
โอ้ พระเจ้า! ตลาดหลักทรัพย์ฯงานเข้า 2 งานใหญ่พร้อมๆ กัน นี่มันสัญญาณดีหรือสัญญาณร้ายตลาดทุนกันแน่
ห่วงความเป็นเอกชนและความเป็นอิสระของตลาดทุน ที่จะต้องเป็นเสรีและปลอดจากการแทรกแซงจากอำนาจใดๆ ทั้งปวงโดยแน่ชัด
ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก มีแต่เดินหน้าไปสู่การแปรรูปเป็นเอกชนเต็มตัว แต่ตลาดหลักทรัพย์ไทย กลับมีแนวความคิดจะให้รัฐเข้ามาเป็นเจ้าของและครอบงำตลาดเสียนี่
ความหมายคำว่า “ไพรเวไทเซชั่น” เป็นคู่ขัดแย้งตรงกันข้ามกับคำว่า “เนชันแนลไลเซชั่น” อย่างสุดขั้วเลยทีเดียว
มีตลาดหลักทรัพย์แห่งไหนกันบ้าง ที่เดินหน้าสู่ทะเลใหญ่แล้ว ยังคิดจะหวนคืนกลับสู่ลำคลองโดยกระบวนการเนชั่นแนลไลซ์กันอีก
เมื่อก่อนนี้อย่าว่าแต่ คิดจะให้ภาครัฐเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯเลย
แม้กระทั่ง นายกรัฐมนตรีจะเดินทางมาเยี่ยมตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้จัดการตลาดฯในอดีตยังขอร้องแกมห้ามปราม ไม่ให้เดินทางมาเยี่ยมเลย
มาแล้วก็ช่วยอะไรตลาดหุ้นไม่ได้ แถมยังอาจทำให้ภาพลักษณ์ตลาดหุ้นอันทำหน้าที่เป็นแหล่งใหญ่ระดมทุนของประเทศ ต้องมัวหมองว่าเป็นตลาดที่ไม่ปลอดจากการเมือง
ตลาดทุนไทยเป็นเอกชนเต็มตัวและเป็นอิสระปลอดจากอำนาจการเมืองนี่ละ เป็นจุดแข็งและจุดขายสำคัญไปทั่วโลกเลยนะ ขอบอก
คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบล.ทิสโก้ เป็นคนกล้าที่หาได้ยากเย็นคนหนึ่งในบ้านเมืองนี้จริงๆ
คุณไพบูลย์ออกมาทักท้วงว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมกรณีภาครัฐจะเข้ามาถือหุ้นในตลท. เพราะจะเป็นการบั่นทอนความคล่องตัวในการแข่งขันให้ลดน้อยลง รวมทั้งบั่นทอนการบริหารจัดการที่เป็นสากลด้วย
ในประสบการณ์ทำข่าวมายาวนานของผมเอง ก็เห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ทรงอิทธิพลจะตาย
ตำแหน่งประธานบอร์ดก็ดี ผู้จัดการตลาดฯก็ดี ถ้าไม่ได้รับความเห็นชอบจากรมว.คลัง จะเป็นกันได้ที่ไหน ไม่เห็นจะต้องมาแสดงความเป็นเจ้าของออกนอกนอกหน้าให้เอิกเกริกกันแต่ประการใดเลย
ย้อนกลับมาในเรื่องของก.ล.ต. ที่จะมีการกระชับอำนาจครั้งใหม่ในตลท. คำถามแรกเลยที่อยากจะถามก็คือ ปัจจุบันอำนาจก.ล.ต.เหนือตลท.น้อยไปหรือ ถึงต้องปรับเพิ่มอำนาจขึ้นอีก
คำถามต่อมาก็คือ ตลท.ทำผิดอะไรหรือ ก.ล.ต.ถึงต้องกระชับอำนาจเพิ่มขึ้น
41 ปีที่ผ่านมาของตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมว่ามีพัฒนาการอย่างสูงขึ้นมาเป็นลำดับนะ อะไรที่เป็นข้อด้อยข้อบกพร่องก็มีการแก้ไขปรับปรุงกันมาเป็นลำดับ
ความเป็นตลาดสากล ที่ทัดเทียมได้ในภูมิภาคก็มีมากขึ้นๆ ทุกที
เมื่อก่อนนี้ มูลค่าตลาดรวมหรือมาร์เก็ตแคป ยังห่างไกลกับจีดีพีหรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเป็นอันมาก ห่างกันเป็น 3-5 เท่าตัวเลยทีเดียว
มองไม่ออกว่าเมื่อไหร่มาร์เก็ตแคปจะเท่าจีดีพีหรือแซงหน้าได้ เฉกเช่นเดียวกับตลาดหุ้นสำคัญของโลกที่พัฒนาแล้ว
แต่มาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นไทยเทียบเท่าจีดีพีมาได้ 2 ปีแล้วครับ มูลค่าซื้อขายในตลาดแต่ละวันก็มีสภาพคล่องเหนือกว่าตลาดสิงคโปร์หน่อยๆ ไปแล้ว
บทบาทตลาดหลักทรัพย์ฯเป็นเอกชนก็ต้องทำหน้าที่หนักในทางการตลาดไป ส่วนก.ล.ต.เป็นตำรวจ เป็นผู้ควบคุมกฎ ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบ โดยยืนอยู่ห่างๆ ไปสิครับ
ไม่ใช่เข้าไปยืนถือกระบองเงื้อง่าในตลาดกันทั้งวัน เดี๋ยวเหล่าพ่อค้าแม่ค้าและคนซื้อก็กระเจิงออกจากตลาดไปหมดสิครับ
ตลาดจะเกร็งตัวแย่เลย เท่านี้ก็เกร็งตัวจะแย่อยู่แล้วในระบบปัจจุบัน